คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1750/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นเช็คต่อธนาคารเพื่อเรียกเก็บเงิน เมื่อเช็คถึงกำหนดธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ในฐานะผู้ทรงเช็คย่อมใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากผู้สั่งจ่ายได้ทันที ผู้สั่งจ่ายย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 959 ประกอบด้วยมาตรา 989 และมาตรา 204 เมื่อผู้สั่งจ่ายถึงแก่กรรม หน้าที่ที่จะต้องชำระหนี้ย่อมตกทอดไปยังกองมรดกของผู้ตายโดยผลของกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600 จำเลยซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายต้องรับผิด โดยโจทก์มิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าอีก
แม้ลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งยกอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ ลูกหนี้ร่วมที่มิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ก็ไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบในประเด็นเรื่องอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตร และจำเลยที่ 2 เป็นภริยาเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายจุน จีระแพทย์ โดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2513 นายจุน จีระแพทย์ ได้ออกเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาถนนวิสุทธิกษัตริย์ สั่งจ่ายเงินจำนวน 40,000 บาทให้แก่ “โตกี่” ซึ่งเป็นสมญาของโจทก์นำมาแลกเงินสดจำนวน 40,000 บาทไปจากโจทก์ โดยตกลงให้โจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารได้ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2513 โจทก์ได้มอบเงิน 40,000 บาทให้นายจุน จีระแพทย์ไป และรับเช็คฉบับดังกล่าวไว้ครั้นวันที่ 25 พฤศจิกายน 2513 โจทก์กำลังจะนำเช็คฉบับดังกล่าวไปเข้าบัญชีเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามที่ตกลงกัน นายจุน จีระแพทย์ ก็ได้ถึงแก่กรรมเสียก่อน โจทก์จึงได้ไปพบจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองรับว่าจะใช้เงินให้โจทก์ โจทก์นำเช็คไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินในวันที่ 11 สิงหาคม 2514ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์จึงไปติดต่อทวงถามให้จำเลยชำระอีกจำเลยก็ผัดผ่อนเรื่อยมา จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 40,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจุน จีระแพทย์ ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว นายจุน จีระแพทย์จะได้สั่งจ่ายเช็คตามฟ้องนำมาแลกเงินสด 40,000 บาทไปจากนายโตกี่หรือโจทก์จริงหรือไม่ ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คจะเป็นลายมือชื่อของนายจุน จีระแพทย์หรือไม่ นายโตกี่และโจทก์จะเป็นบุคคลเดียวกันและเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยที่ 1 ไม่ทราบและไม่รับรอง ถึงจะฟังได้ว่ามีการจ่ายเช็คตามฟ้องให้โจทก์จริงนายจุน จีระแพทย์ก็ได้ชดใช้เงินให้โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 มิได้เป็นทายาทผู้รับมรดกของนายจุน จีระแพทย์ ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ 1 ไม่เคยรู้เห็นเกี่ยวกับเช็คตามฟ้อง ไม่เคยผัดผ่อนหรือได้รับการทวงถามให้ชำระหนี้มาก่อน ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า นายจุน จีระแพทย์ จะได้ออกเช็คตามฟ้องนำไปแลกเงินสดจากโจทก์หรือไม่ โตกี่จะเป็นสมญาของโจทก์หรือไม่จำเลยไม่ทราบและไม่รับรอง จำเลยไม่เคยรับรองจะใช้เงินให้โจทก์และโจทก์ไม่เคยทวงถามให้จำเลยชำระหนี้มาก่อน ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว เห็นว่าคำให้การของจำเลยไม่มีประเด็นที่จะนำสืบ มีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยและพิพากษาให้จำเลยทั้งสองในฐานะทายาทของนายจุน จีระแพทย์ผู้ตายชดใช้เงิน 40,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า

ในประเด็นข้อ 1 ที่ว่า โจทก์จำต้องบอกกล่าวทวงถามจำเลยที่ 2 ให้ชำระหนี้ก่อนฟ้องคดีหรือไม่นั้น เห็นว่าหนี้รายนี้เกิดจากการที่นายจุน จีระแพทย์ผู้ตายได้ออกเช็คที่พิพาทให้โจทก์เพื่อแลกเอาเงินสดไปจากโจทก์ ต่อมาโจทก์ได้ยื่นเช็คต่อธนาคารเมื่อตั๋วเงินถึงกำหนดแล้ว ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ในฐานะผู้ทรงเช็คย่อมจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากผู้สั่งจ่ายได้ทันที ผู้สั่งจ่ายย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 959 ประกอบด้วยมาตรา 989 และมาตรา 204 แต่เมื่อปรากฏว่าผู้สั่งจ่ายถึงแก่กรรม หน้าที่ที่จะต้องชำระหนี้รายนี้ย่อมตกทอดไปยังกองมรดกของผู้ตาย โดยผลของกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 1600 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายย่อมต้องรับผิดสำหรับหนี้รายพิพาทนี้ด้วยโดยโจทก์มิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าอีก

ในประเด็นข้อ 2 ที่ว่าศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานจำเลยที่ 1 ชอบหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดีลอย ๆ เพียงว่านายจุนจีระแพทย์ จะออกเช็คที่นำมาฟ้องหรือไม่ และจะนำเช็คนั้นมาแลกเงินสดดังที่โจทก์อ้างหรือไม่ โตกี่จะเป็นชื่อสมญาของโจทก์หรือไม่ จำเลยไม่ทราบและไม่รับรอง จำเลยไม่เคยรับรองกับโจทก์ว่าจะจัดการใช้เงินตามเช็คให้โจทก์ ไม่เคยขอผัดว่าจะจัดการชำระหนี้ให้ดังที่โจทก์ฟ้อง จำเลยที่ 2 มิได้ปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ร่วมทั้งเหตุแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้งดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 177 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จำเลยที่ 2จึงไม่มีประเด็นที่จะนำสืบ ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าถ้าศาลให้สิทธิแก่จำเลยที่จะนำสืบแล้ว และถ้าปรากฏว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความจริงผลก็ย่อมตกได้แก่จำเลยที่ 2 ด้วยนั้น ก็เห็นว่าเมื่อจำเลยที่ 2 มิได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบในประเด็นเรื่องอายุความเช่นเดียวกัน

พิพากษายืน

Share