แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อที่ดินของโจทก์ทั้งสี่แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1682 ต้องถือเคร่งครัดว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสี่แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1682 เท่านั้น แม้ที่ดินโฉนดเลขที่ 1682 จะเคยเป็นที่แปลงเดียวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 23574 ของจำเลยมาก่อนก็ตาม จะถือโดยอนุโลมว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสี่แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 23574 ด้วยไม่ได้ โจทก์ทั้งสี่จึงไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องเอาทางเดินผ่านทางพิพาทซึ่งเป็นที่ดินโฉนดหมายเลข 23574 ออกไปสู่ถนนสาธารณะได้โจทก์ทั้งสี่คงมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินผ่านไปสู่ทางสาธารณะได้เฉพาะภายในบริเวณที่ดินโฉนดเลขที่ 1682 เท่านั้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นเจ้าของและเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 204047, 204048, 46457, 204044, 111296, 111297, 98699, 142015, 43690, 46461 และ 46460 ตำบลบางแก้ว (บางนา) อำเภอบางพลี (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการ จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 23574 ตำบลเดียวกัน ลักษณะที่ดินของจำเลยมีความกว้าง 50 เซนติเมตร ยาวตลอดแนวกั้นแบ่งที่ดินของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 แปลงที่อยู่ทางด้านทิศเหนือกับที่ดินโจทก์ทั้งสี่ทางด้านทิศใต้ทำให้ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ทางด้านทิศใต้ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ซึ่งเดิมโจทก์ทั้งสี่ได้ใช้ที่ดินของจำเลยกว้างประมาณ 0.25 วา ยาวประมาณ 15 วา รวมเนื้อที่ 4 ตารางวา เป็นทางผ่านออกสู่ถนนในหมู่บ้านเลิศนิมิต และถนนสาธารณะสายบางนา – ตราดได้ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2536 จำเลยได้ให้ทนายความบอกกล่าวขอใช้ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่เพื่อนำไปทำการก่อสร้างรั้วคอนกรีตในที่ดินของจำเลยแต่โจทก์ทั้งสี่ไม่อนุญาต หากจำเลยสร้างรั้วในที่ดินของจำเลยจะทำให้โจทก์ทั้งสี่ไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะดังกล่าว จึงขอให้จำเลยระงับการก่อสร้างรั้วคอนกรีตอิฐบล็อกบนที่ดินของจำเลยขนาดกว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 32 เมตร หากจำเลยฝ่าฝืนก่อสร้างขึ้นก็ให้จำเลยรื้อถอน หากจำเลยไม่ยอมรื้อถอน ให้โจทก์ทั้งสี่เป็นผู้รื้อถอนโดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายแทนทั้งหมด
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสี่ไม่มีสิทธิจะใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 23574 ตำบลบางแก้ว (บางนา) อำเภอบางพลี (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการของจำเลยผ่านออกไปสู่ทางสาธารณะสายบางนา-ตราด เพราะที่ดินของโจทก์ทั้งสี่แปลงทางด้านทิศใต้มีทางออกสู่ถนนสาธารณะสายบางนา – ตราดทางด้านริมคลองบางนาทิศตะวันตกได้ ซึ่งเดิมที่ดินแปลงของโจทก์ทั้งสี่ ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 1682 ซึ่งมีนายจ๊อก เกรียงพันธ์ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ นายจ๊อกได้แบ่งเป็นแปลงย่อย 6 แปลง คือโฉนดเลขที่ 43686 ถึง 43691 รวมกับแปลงคงเหลือเป็น 7 แปลง โดยใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 43686 เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะทางคลองบางนากว้าง 6 เมตร ต่อมาในปี 2523 ทายาทผู้รับมรดกของนายจ๊อกได้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 43686 เป็นแปลงย่อยแล้วขายผู้อื่นรวมทั้งโจทก์ทั้งสี่ ซึ่งปัจจุบันได้แบ่งแยกเป็นที่แปลงย่อยอีกคือโฉนดเลขที่ 204044, 204045, 204046 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 3 และที่ 4 ดังนั้น โจทก์ทั้งสี่จึงควรผ่านที่ดิน 3 แปลงดังกล่าวออกสู่คลองบางนาเพื่อไปสู่ทางสาธารณะได้ เพราะเป็นที่ดินที่แยกออกจากแปลงเดียวกัน นอกจากนี้หากโจทก์ทั้งสี่เข้าออกผ่านที่ดินของจำเลย ก็ไม่ถึงทางสาธารณะสายบางนา – ตราด เพราะมีที่ดินของหมู่บ้านเลิศนิมิตคั่นอยู่ คือที่ดินโฉนดเลขที่ 111269 นอกจากนี้ต้องผ่านที่ดินที่บริษัทเลิศนิมิต จำกัด 2 จดทะเบียนเป็นภาระจำยอม ด้วยเหตุผลดังกล่าวที่ดินของจำเลยจึงหาใช่ที่ดินที่จะตกเป็นทางจำเป็นไม่ อย่างไรก็ดีหากโจทก์ทั้งสี่ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะจริง โจทก์ทั้งสี่ก็สามารถที่จะฟ้องออกทางถนนหมู่บ้านเลคไซด์ วิลล่า เพื่อออกสู่ถนนสาธารณะสายบางนา – ตราดได้ซึ่งสะดวกกว่าทั้งจะทำให้เจ้าของที่ดินที่ผ่านเสียหายน้อยที่สุด ดังนั้น โจทก์ทั้งสี่จึงหามีสิทธิที่จะฟ้องให้จำเลยระงับการก่อสร้างรั้วกำแพงไม่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยเปิดทางพิพาทกว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 4 เมตร ตรงที่ดินโฉนดเลขที่ 111297 ของโจทก์ตามแนวประตูทางเข้าเดิมเพื่อเป็นทางเชื่อมผ่านระหว่างที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศเหนือกับทิศใต้ ห้ามจำเลยก่อสร้างรั้วหรือกระทำการใดเพื่อเป็นการปิดกั้นที่ดินบริเวณดังกล่าว โดยโจทก์ต้องชดใช้ค่าทดแทนที่ดินให้จำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสี่ ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะฟ้องเป็นคดีใหม่
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นสำหรับที่ดินของโจทก์ทั้งสี่หรือไม่ ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันฟังเป็นยุติได้ว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 1682 ตำบลบางแก้ว (บางนา) อำเภอบางพลี (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 43 ไร่ 1 งาน 60 ตารางวา มีนายจ๊อก เกรียงพันธ์ และนางแดง ตฤนานนท์ เป็นเจ้าของถือกรรมสิทธิ์รวม เมื่อปี 2504 มีการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม โดยนางแดงได้ที่ดินส่วนด้านทิศเหนือเนื้อที่ 19 ไร่ 1 งาน 82 ตารางวา และออกโฉนดฉบับใหม่ คือโฉนดเลขที่ 23574 ตามสำเนาโฉนดเอกสารหมาย ล.13 ส่วนนายจ๊อกได้ที่ดินส่วนด้านทิศใต้ เนื้อที่ 23 ไร่ 3 งาน 80 ตารางวา เป็นแปลงคงเหลือในโฉนดเลขที่ 1682 เดิม ตามสำเนาโฉนดเอกสารหมาย ล.14 ในปี 2513 นางแดงได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 23574 ให้แก่เรือเอกผัน จันทรโรจน์ และเรือเอกผันขายฝากแก่นายเลิศจิตติวาณิชย์ กับนายแดง ชินสมบูรณ์ ครบกำหนดแล้วไม่ไถ่ถอนคืน นายเลิศ กับนายแดงจึงได้โอนที่ดินแปลงดังกล่าวแก่ตัวการที่ตนถือกรรมสิทธิ์แทนคือบริษัทแอลดี คอนสตรัคชั่น จำกัด ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเลิศนิมิต จำกัด บริษัทเลิศนิมิต จำกัด ได้รังวัดแบ่งแยกที่ดินในนามเดิมหลายแปลงและจัดสรรขายแก่บุคคลทั่วไป โดยโจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 111296 เมื่อปี 2520และโจทก์ที่ 2 ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 111297 เมื่อปี 2524 ที่ดินดังกล่าวทั้งสองแปลงด้านทิศเหนือติดถนนของหมู่บ้านเลิศนิมิต ตามกรอบสีน้ำเงินในแผนผังที่ดินบริเวณที่พิพาทเอกสารหมาย ล.1 ถนนดังกล่าวด้านทิศตะวันออกต้องผ่านทางภารจำยอมในที่ดินของผู้อื่นจึงสามารถออกสู่ถนนสาธารณะสายบางนา – ตราด ได้สำหรับที่ดินบริเวณด้านทิศใต้ที่จดกับที่ดินของนายจ๊อกได้รังวัดกันไว้เป็นแนวตะเข็บกว้าง 50 เซนติเมตร ยาวตลอดแนวที่ดิน โดยเป็นแปลงคงเหลือในโฉนดเลขที่ 23574 เดิมตามเส้นสีแดงในแผนผังที่ดินบริเวณที่พิพาทเอกสารหมาย ล.1 เพื่อกันมิให้เจ้าของที่ดินด้านทิศใต้ในโฉนดเลขที่ 1682 เข้ามาใช้ประโยชน์ที่ดินและทางในหมู่บ้านเลิศนิมิตต่อมาก่อนบริษัทเลิศนิมิต จำกัด จดทะเบียนเลิกบริษัทได้โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 23574 ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นกรรมการคนหนึ่งของบริษัท ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 1682 ของนายจ๊อกนั้น เมื่อปี 2510 นายจ๊อกได้แบ่งแยกในนามเดิมออกเป็น 7 แปลง แปลงแรกคือที่ดินโฉนดเลขที่ 43686 อยู่ด้านทิศเหนือติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 23574 ของจำเลยด้านทิศใต้เกือบตลอดแนว รูปลักษณะที่ดินกว้าง 2 เมตร เสมือนเป็นทางให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 43687, 43688, 43689, 43690, 43691 และ 1682 ที่แบ่งแยกทางด้านทิศใต้ใช้ออกไปสู่ทางเดินสาธารณะด้านทิศตะวันตกเลียบคลองบางนา ปัจจุบันสามารถออกไปสู่ถนนสาธารณะสายบางนา – ตราด ได้และนายจ๊อกได้จดทะเบียนยกที่ดินโฉนดเลขที่ 43690 ให้แก่นางทองเย็น เอกมาศ บุตรสาว ต่อมานางทองเย็นแบ่งแยกที่ดินในนามเดิมออกเป็น 5 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 43690, 46458, 26459, 46460 และ 46461 และขายที่ดินโฉนดเลขที่ 43690, 46460 และ 46461 ให้แก่โจทก์ที่ 2 ในปี 2512 ต่อจากนั้นเมื่อปี 2515 โจทก์ที่ 2 ได้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 43690 บางส่วนให้แก่โจทก์ที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ตามที่ดินโฉนดฉบับใหม่เลขที่ 98699 สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 43689 เมื่อนางสาวลมูล เกรียงพันธ์ รับโอนมรดกของนายจ๊อกเมื่อปี 2511 แล้วได้แบ่งแยกในนามเดิมออกเป็น 2 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 43689, 46457 และ ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 46457 แก่โจทก์ที่ 1 เมื่อปี 2513 ต่อมาโจทก์ที่ 1 ได้แบ่งแยกในนามเดิมเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 46457, 204048 และ 204047 และให้โจทก์ที่ 3 และที่ 4 กับนางสาววนิดาถือกรรมสิทธิ์รวมทุกแปลง ตามเอกสารหมาย จ.3 ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 43686 ซึ่งมีรูปลักษณะเสมือนทางไปสู่ทางสาธารณะด้านทิศตะวันตก เมื่อทายาทของนายจ๊อกรับโอนมรดกมาหลังจากได้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวในปี 2523 ออกเป็นหลายโฉนดและขายที่ดินโฉนดเลขที่ 204044 และ 142015 ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 23574 ของจำเลยด้านทิศใต้และติดกับที่ดินของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ที่ซื้อมาจากทายาทของนายจ๊อกดังกล่าวทางด้านทิศเหนือให้แก่โจทก์ที่ 3 และที่ 4 และโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 และขายส่วนอื่นให้แก่เจ้าของที่ดินที่อยู่ติดกันทางด้านทิศใต้ สภาพในปัจจุบันที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 204044, 142015 และที่ดินโฉนดเลขที่ 46457, 204047, 204048,98699, 43690, 46460 และ 46461 คือบริเวณกรอบสีเขียวในแผนผังบริเวณที่พิพาทตามเอกสารหมาย ล.1 ไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ เพราะมีที่ดินแปลงอื่นล้อมและสร้างรั้วกำแพงกั้นไว้ทางด้านทิศตะวันออก ทิศใต้และทิศตะวันตก เห็นว่า เมื่อมีการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1682 เดิมให้แก่นางแดงเจ้าของรวมในปี 2504 แล้ว ที่ดินส่วนที่คงเหลือเป็นของนายจ๊อก ตามสำเนาโฉนดที่ดินเลขที่ 1682 เอกสารหมาย ล.14 ด้านทิศตะวันตกยังอยู่ติดกับทางสาธารณะเลียบคลองบางนาดังเดิม ดังนั้น ที่ดินของนายจ๊อกดังกล่าวจึงมิได้มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ ต่อมาภายหลังนายจ๊อกได้แบ่งแยกที่ดินของตนออกเป็นหลายแปลง โดยที่ดินแปลงหนึ่งตามโฉนดเลขที่ 43686 มีลักษณะเป็นเสมือนทางให้ที่ดินแปลงอื่นผ่านไปถึงทางสาธารณะด้านทิศตะวันตกได้ทั้งในขณะที่โจทก์ที่ 2 ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 43690, 46460 และ 46461 จากนางทองเย็นทายาทของนายจ๊อกเมื่อปี 2512 และโจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 46457 จากนางสาวลมูล ทายาทผู้รับมรดกของนายจ๊อกในปี 2513 นั้น โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ยังไม่ได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 111296 และ 111297 ของบริษัทเลิศนิมิต จำกัด จึงน่าเชื่อว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 อาศัยที่ดินโฉนดเลขที่ 43686 เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะด้านทิศตะวันตกตลอดมา ต่อเมื่อทายาทของนายจ๊อกได้แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 43686 ออกเป็นที่ดินหลายแปลงและขายส่วนที่เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 204044 และ 142015 ให้แก่โจทก์ที่ 3 และที่ 4 และโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับและขายส่วนที่เป็นโฉนดอื่นแก่เจ้าของที่ดินที่อยู่ติดกันทางด้านทิศใต้ในปี 2523 แล้วที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ดังกล่าวจึงถูกที่ดินแปลงอื่นทางด้านทิศตะวันตกปิดล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ เห็นว่า เมื่อที่ดินของโจทก์ทั้งสี่แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1682 ของนายจ๊อกก็ต้องถือเคร่งครัดว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสี่แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1682 ของนายจ๊อกเท่านั้น แม้ที่ดินโฉนดเลขที่ 1682 จะเคยเป็นที่แปลงเดียวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 23574 ของจำเลยมาก่อนก็ตาม แต่กรณีของโจทก์ทั้งสี่ ก็จะถือโดยอนุโลมว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสี่แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 23574 ด้วยไม่ได้ โจทก์ทั้งสี่จึงไม่อาจจะใช้สิทธิเรียกร้องเอาทางเดินผ่านทางพิพาท ซึ่งเป็นที่ดินของจำเลยไปสู่ที่ดินของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 อีกสองแปลงในหมู่บ้านเลิศนิมิตเพื่ออาศัยสิทธิในถนนในหมู่บ้านเลิศนิมิตและทางภาระจำยอมด้านทิศตะวันออกแก่ที่ดินในหมู่บ้านดังกล่าวออกไปสู่ถนนสาธารณะสายบางนา – ตราด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 ได้ ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยโจทก์ทั้งสี่คงมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินผ่านไปสู่ทางสาธารณะได้เฉพาะภายในบริเวณที่ดินโฉนดเลขที่ 1682 ของนายจ๊อกเดิม ซึ่งเป็นที่ดินแปลงที่ที่ดินโจทก์ทั้งสี่แบ่งแยกมาเท่านั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยเปิดทางพิพาทเพื่อเป็นทางเชื่อมผ่านระหว่างที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ทางด้านทิศใต้กับที่ดินของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ทางด้านทิศเหนือ และห้ามจำเลยก่อสร้างรั้วหรือกระทำการใดเพื่อเป็นการปิดกั้นที่ดินบริเวณดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสี่