แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ศาลจะส่งความเห็นเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 264 ต้องเป็นกรณีที่คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาพิพากษาของศาล หากคดีถึงที่สุดแล้วย่อมไม่มีประโยชน์ที่ศาลจะส่งคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกต่อไป เพราะแม้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ก็ไม่อาจกระทบกระเทือนถึงคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด
คดีนี้ถึงที่สุดแล้วตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2472 โดยจำเลยมิได้ร้องขอให้ศาลส่งความเห็นเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในระหว่างการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลตามพระราชบัญญัติดังกล่าว กรณีจึงล่วงเลยเวลาที่จะดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง แล้ว
คดีของจำเลยถึงที่สุดแล้วเหลือเพียงการส่งจำเลยข้ามแดนเท่านั้น การยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีของจำเลย หามีผลให้คดีกลับกลายเป็นคดีที่ยังไม่ถึงที่สุดอีกครั้งหนึ่งไม่
แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 264 วรรคสอง ระบุให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิจารณาว่า คำโต้แย้งของคู่ความตามวรรคหนึ่งที่ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาก็ตาม แต่ในกรณีที่จะต้องพิจารณาว่าเรื่องดังกล่าวเข้าเหตุตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง หรือไม่ ย่อมต้องเป็นหน้าที่ของศาลยุติธรรม ซึ่งมีอำนาจปรับบทกฎหมายและตีความบทกฎหมายที่ไม่เกี่ยวกับการวินิจฉัยว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่รับคำร้องของจำเลยไว้พิจารณาเพราะล่วงเลยเวลาที่จะดำเนินการตามบทบัญญัติมาตรา 264 วรรคหนึ่ง จึงเป็นอำนาจที่จะกระทำได้โดยชอบ
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายขังจำเลยไว้เพื่อดำเนินการส่งข้ามแดนไปดำเนินคดีที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2472 มาตรา 3, 4, 6, 12, 15 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ขังจำเลยไว้เพื่อส่งข้ามแดนไปยังประเทศสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศต่อไป แต่มิให้ส่งตัวจำเลยออกไปนอกประเทศก่อนครบกำหนด 15 วันและหากมิได้ส่งตัวจำเลยข้ามแดนภายในเวลา 3 เดือน นับแต่วันที่คำสั่งศาลถึงที่สุดให้ปล่อยตัวจำเลยไป ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ต่อมาเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2541 จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้มีการรื้อฟื้นคดีนี้ขึ้นพิจารณาใหม่โดยอ้างว่า มีพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งเป็นพยานบุคคลและพยานเอกสารที่ยังไม่เคยนำแสดงต่อศาล ทั้งนี้ โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 247 ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง และต่อมาเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2541 จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นอ้างว่า คดีนี้จำเลยเห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่บังคับแก่จำเลยเป็นบทบัญญัติซึ่งต้องด้วยมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้นอาศัยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 จำเลยขอให้ศาลชั้นต้นส่งความเห็นของจำเลยตามคำร้องที่แนบมาไปให้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาวินิจฉัยศาลชั้นต้นเห็นว่า กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 มาตรา 264 ที่จะส่งความเห็นหรือข้อโต้แย้งของจำเลยไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นทั้งสองคำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า พนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2472 ตามคำร้องขอของประเทศสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ เพื่อส่งตัวจำเลยข้ามแดนไปดำเนินคดีตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ขังจำเลยไว้เพื่อส่งข้ามแดน จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุดตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2472 มาตรา 17 ในระหว่างการขังจำเลยไว้เพื่อส่งตัวข้ามแดนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จำเลยยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 247 ระบุให้มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ พร้อมทั้งขอให้ส่งคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 6 และ 264ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องทั้งสองฉบับของจำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
คงมีปัญหาตามฎีกาที่จำเลยยกขึ้นโต้แย้งว่า ศาลต้องส่งความเห็นของจำเลยที่ว่า พระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2472 ต้องด้วยบทบัญญัติ มาตรา 6 เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ ซึ่งจำเลยฎีกาว่า คดีของจำเลยยังไม่สิ้นสุดไปจากศาล การยื่นคำร้องของจำเลยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง จึงยังไม่ล่วงเลยเวลาเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้นให้ศาลรอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราวและส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย”และมาตรา 264 วรรคท้าย บัญญัติว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง แต่ไม่ได้กระทบกระเทือนถึงคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว”ตามบทบัญญัติดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การที่ศาลจะส่งความเห็นเช่นว่านั้นเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัยนั้น ต้องเป็นกรณีที่คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาพิพากษาของศาล จึงให้รอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวหาใช่กรณีถึงที่สุดแล้วแต่อย่างใดไม่ และหากคดีถึงที่สุดแล้วย่อมไม่มีประโยชน์ที่จะส่งคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกต่อไป เพราะแม้ส่งไปและศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ ก็ไม่อาจกระทบกระเทือนถึงคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว
คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า คดีได้ถึงที่สุดแล้วตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดนพ.ศ. 2472 โดยจำเลยมิได้ร้องขอให้ศาลส่งความเห็นเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในระหว่างการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงถือได้ว่ากรณีล่วงเลยเวลาที่จะดำเนินการตามมาตรา 264 วรรคหนึ่งที่จำเลยอ้างว่าคดียังไม่ถึงที่สุด เพราะยังมีการร้องขอและอุทธรณ์ให้รื้อฟื้นคดีของจำเลยขึ้นพิจารณาใหม่นั้น เห็นว่า จำเลยใช้กรณีร้องขอให้พิจารณาใหม่ตามมาตรา 247 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาเป็นเหตุที่ทำให้เห็นว่าคดีของจำเลยยังคงได้รับการพิจารณาอยู่ในศาลเพื่อเป็นข้ออ้างว่าคดียังไม่ถึงที่สุด แต่แท้ที่จริงคดีของจำเลยถึงที่สุดเหลือเพียงการส่งจำเลยข้ามแดนเท่านั้น การยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีของจำเลยดังกล่าว หามีผลให้คดีที่ถึงที่สุดแล้วกลับกลายเป็นคดีที่ยังไม่ถึงที่สุดอีกครั้งหนึ่งไม่ จึงมิใช่กรณีที่ศาลจะส่งความเห็นเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย
จำเลยฎีกาอีกประการหนึ่งว่า การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่รับคำร้องของจำเลยไว้พิจารณาเป็นการไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 มาตรา 264 วรรคสอง ซึ่งระบุให้หน้าที่กลั่นกรองที่จะรับหรือไม่รับคำโต้แย้งเป็นของศาลรัฐธรรมนูญ มิใช่ของศาลชั้นต้นนั้นเห็นว่า แม้ตามบทบัญญัติมาตรา 264 วรรคสอง จะระบุให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิจารณาว่า คำโต้แย้งของคู่ความตามวรรคหนึ่งไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาก็ได้ แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีที่จะต้องพิจารณาว่าเรื่องดังกล่าวเข้าเหตุตามมาตรา 264 วรรคหนึ่งหรือไม่ ย่อมต้องเป็นหน้าที่ของศาลยุติธรรม ซึ่งมีอำนาจปรับบทกฎหมายและตีความบทกฎหมายอันเป็นการทั่วไปในเบื้องต้น ที่ไม่เกี่ยวกับการวินิจฉัยว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ กับกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง เหตุนี้ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่รับคำร้องของจำเลยไว้พิจารณา เพราะล่วงเลยเวลาที่จะดำเนินการได้ตามบทบัญญัติมาตรา 264 วรรคหนึ่งแล้วนั้น จึงเป็นอำนาจที่จะกระทำได้โดยชอบ
พิพากษายืน