คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7869/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 2 ยอมค้ำประกันการจ่ายเงินล่วงหน้าของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 จะต้องจ่ายคืนเงินค่าจ้างล่วงหน้าเต็มจำนวนหรือบางส่วนแล้วแต่กรณี แต่ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่จ่ายคืนเงินดังกล่าว จำเลยที่ 2 ต้องจ่ายเงินค่าจ้างล่วงหน้านั้นแทนในวงเงิน 500,000 บาท จึงเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ค้ำประกันการชำระเงินล่วงหน้าคืนเท่านั้น มิใช่เรื่องค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาจ้าง ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ทำงานไม่แล้วเสร็จตามสัญญาจ้างแต่คิดคำนวณเนื้องานที่ทำไปแล้วเป็นเงิน 683,077 บาท ดังนั้น เมื่อผลงานที่จำเลยที่ 1 ทำไปคำนวณเป็นเงินเกินกว่า 500,000 บาท จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันในวงเงินดังกล่าวจึงพ้นจากความรับผิด
แม้ตามสัญญาจะกำหนดไว้ว่า โจทก์อาจแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรถึงจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันเมื่อใดก็ได้ว่า วงเงินเต็มจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาได้หักลดด้วยจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ได้จ่ายชดใช้แก่โจทก์เป็นงวด ๆ ไปแล้ว และในช่วงเวลาที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจ้างโจทก์มิได้แจ้งเป็นหนังสือไปยังจำเลยที่ 2 ว่าวงเงิน 500,000 บาท ได้หักด้วยจำนวนเงินตามผลงานที่จำเลยที่ 1 ทำไว้ตกได้แก่โจทก์แล้วก็ตาม แต่การที่โจทก์บรรยายฟ้องถึงจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ได้รับล่วงหน้าไปแล้วและผลงานที่จำเลยที่ 1 ทำได้ไว้ในฟ้องก็ถือว่าเป็นการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ เฉพาะจำเลยที่ 1 ให้ชำระเงินจำนวน 1,849,998.90 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอบังคับให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 248,246 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 661,552 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 287,260 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความสำหรับจำเลยที่ 1 จำนวน 10,000 บาท จำเลยที่ 2 จำนวน 3,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้เป็นพับ และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์จำนวน 1,500 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 4 และคำแปลเอกสารหมาย จ. 2 ได้ความโดยสรุปว่า จำเลยที่ 2 ยอมค้ำประกันการจ่ายเงินล่วงหน้าแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์อาจจ่ายค่าจ้างล่วงหน้าได้ร้อยละ 30 ของยอดเงินตามสัญญาจ้างซึ่งโจทก์ได้จ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นจำนวน 500,000 บาท แล้ว หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจ้าง จำเลยที่ 1 จะต้องจ่ายคืนเงินค่าจ้างล่วงหน้าเต็มจำนวนหรือบางส่วนแล้วแต่กรณี แต่ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่จ่ายคืนเงินดังกล่าว จำเลยที่ 2 ต้องจ่ายเงินค่าจ้างล่วงหน้านั้นแทน จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ค้ำประกันการชำระเงินล่วงหน้าคืนเท่านั้น มิใช่เรื่องค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาจ้างพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.22 และ จ.23 ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ทำงานตามสัญญาจ้างได้เนื้องานประมาณร้อยละ 40 ตามเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งคำนวณเป็นเงิน 683,077 บาท ในตอนเริ่มทำงานไปได้ระยะเวลาหนึ่งโจทก์จ่ายค่าจ้างแก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 280,780 บาท และ 189,557 บาท เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินที่หักเงินตามเนื้องานออกไปแล้วให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ทำงานได้ผลงานเป็นเงิน 683,077 บาท จำเลยที่ 1 รับเงินค่าจ้างล่วงหน้า 500,000 บาท กับค่าจ้างที่โจทก์จ่ายให้อีก 2 ครั้ง ในระหว่างทำงานเป็นเงิน 470,337 บาท รวมเป็นเงินค่าจ้าง 970,337 บาท เมื่อหักด้วยผลงานของจำเลยที่ 1 จำนวนเงิน 683,077 บาท คงเหลือเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายคืนแก่โจทก์เป็นจำนวน 287,260 บาท แต่ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 8 ผู้ว่าจ้างอาจแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรถึงผู้ค้ำประกันเมื่อใดก็ได้ว่าวงเงินเต็มจำนวนตามที่ระบุในข้อ 3 สามารถหักลดด้วยจำนวนเงินที่ผู้รับจ้างได้จ่ายชดใช้แก่ผู้ว่าจ้างเป็นงวด ๆ ไปแล้ว ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 ทำงานได้ผลงานคำนวณเป็นเงิน 683,077 บาท ผลงานดังกล่าวตกแก่โจทก์แล้ว ถึงแม้ในช่วงเวลาที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจ้างโจทก์มิได้แจ้งเป็นหนังสือไปยังจำเลยที่ 2 ว่าวงเงิน 500,000 บาท ได้หักด้วยจำนวนเงินตามผลงานที่จำเลยที่ 1 ทำไว้ตกได้แก่โจทก์แล้วก็ตาม แต่การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 โดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าจ้างล่วงหน้าจำนวน 500,000 บาท โดยจำเลยที่ 2 ค้ำประกันการจ่ายเงินงวดแรก (ที่ถูกต้องคือเงินค่าจ้างล่วงหน้า) ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำงานไม่แล้วเสร็จตามกำหนดในสัญญา โดยทำงานได้บางส่วนคิดเป็นมูลค่างานเป็นเงิน 683,077 บาท เช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรถึงจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันแล้วว่าวงเงินเต็มจำนวนที่ระบุในสัญญาได้หักลดด้วยจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 จ่ายชดใช้คืนแก่โจทก์แล้ว เมื่อผลงานที่จำเลยที่ 1 ทำไปคำนวณเป็นเงินเกินกว่า 500,000 บาท จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันในวงเงินดังกล่าวจึงพ้นจากความรับผิด จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบเกินไปกว่าวงเงินที่ตนค้ำประกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลยที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 12,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share