แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ บรรยายฟ้องว่า ไม้เหียงเป็นไม้หวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้ามพ.ศ.2494โดยไม่ได้บรรยายว่า พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ.2494 ได้ประกาศตามความในมาตรา 5 แห่ง พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ดังนี้ ก็ถือว่าเป็นฟ้องสมบูรณ์ลงโทษจำเลยได้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 13/2502)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องหาว่า จำเลยได้จ้างวานผู้อื่นตัดฟันไม้สักและไม้เหียง ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2494 เพื่อส่งแก่จำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานและจำเลยได้มีไม้ดังกล่าวไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตาม พระราชบัญญัติป่าไม้
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2-3 มีความผิดตามฟ้อง ให้จำคุกจำเลยที่ 2 40 วัน ปรับ 300 บาท จำเลยที่ 3 จำคุก 20 วัน ปรับ 200 บาท ของกลางริบ ยกฟ้องจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2-3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยที่ 2-3 มีผิดเฉพาะไม้สัก พิพากษาแก้ให้จำคุกจำเลยคนละ 20 วัน ปรับคนละ 200 บาท ไม้ของกลางริบเฉพาะไม้สัก ส่วนข้อหาเกี่ยวกับไม้เหียงให้ยกเสีย นอกนั้นยืนตามศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า ไม้เหียงเป็นไม้หวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2494 แม้จะไม่ได้บรรยายว่า พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2494 ได้ประกาศตามความใน มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ก็มีผลบังคับแก่จำเลยโดยบริบูรณ์ ลงโทษจำเลยได้ เพราะความใน มาตรา 5 เป็นแต่บทบัญญัติในการประกาศพระราชกฤษฎีกา ไม่ใช่องค์ความผิด และฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีผิดตามศาลชั้นต้นพิพากษากลับให้บังคับคดีตามศาลชั้นต้น