คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8716/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

วันที่ 19 สิงหาคม 2552 องค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวบานเพิ่งมีคำสั่งให้จำเลยที่ 5 ไปช่วยราชการที่องค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้า ในการนี้วันที่ 21 สิงหาคม 2552 องค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้ามีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยที่ 5 ปฏิบัติหน้าที่จัดทำร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2553 โดยนัยของคำสั่งดังกล่าว จำเลยที่ 5 มีหน้าที่ปฏิบัติเฉพาะงานตามที่ระบุไว้ในคำสั่งเท่านั้น จำเลยที่ 5 จึงไม่มีหน้าที่ในการควบคุมโครงการจ้างแรงงานเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาชีพแก่ผู้ประสบภัยธรรมชาติ จังหวัดอุดรธานี ปีงบประมาณ 2552 แต่อย่างใด หากนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้าต้องการแต่งตั้งจำเลยที่ 5 ให้เป็นผู้ควบคุมโครงการดังกล่าว จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้าต้องขอความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 5 ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2548 ข้อ 32 วรรคหนึ่ง เสียก่อน แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ขอความเห็นชอบจากนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวบานซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 5 ดังนั้นคำสั่งขององค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้าในส่วนแต่งตั้งจำเลยที่ 5 เป็นกรรมการผู้ควบคุมงานจึงเป็นคำสั่งที่ออกโดยไม่ชอบด้วยระเบียบกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ถือว่าจำเลยที่ 5 ไม่มีหน้าที่เป็นกรรมการผู้ควบคุมงานโครงการตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162 และ 83
จำเลยทั้งแปดให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 4 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 3 ปี จำเลยที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 83 จำคุก 2 ปี และปรับ 13,500 บาท ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 6 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 4 คนละ 2 ปี จำคุกจำเลยที่ 6 มีกำหนด 1 ปี 4 เดือน และปรับ 9,000 บาท โทษจำคุกจำเลยที่ 6 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 6 ไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ยกฟ้องโจทก์
สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 กับยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 6 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (4) ประกอบมาตรา 86 จำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 9,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 10 เดือน 20 วัน และปรับ 6,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30
ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1) สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 6 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง องค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้า ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี มีจำเลยที่ 1 เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้า จำเลยที่ 2 และนายพลเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้า จำเลยที่ 3 เป็นประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้า จำเลยที่ 4 เป็นหัวหน้าส่วนโยธา องค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้า จำเลยที่ 5 เป็นนายช่างโยธาระดับ 3 องค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวบานซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้าขอยืมตัวมาช่วยราชการ จำเลยที่ 6 เป็นปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้า จำเลยที่ 7 เป็นหัวหน้าส่วนการคลังองค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้า และจำเลยที่ 8 เป็นเจ้าพนักงานการเงินและบัญชีองค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้า ก่อนเกิดเหตุองค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้าได้รับงบประมาณโครงการจ้างแรงงานเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาชีพแก่ผู้ประสบภัยธรรมชาติ จังหวัดอุดรธานี ปีงบประมาณ 2552 จากสำนักงานแรงงานจังหวัดอุดรธานี โดยมีรายละเอียดโครงการเพื่อขุดลอกสระน้ำสาธารณะวัดศรีหมากหญ้า หมู่ที่ 1 ตำบลหมากหญ้า อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี จำนวน 2 แห่ง แบ่งเป็นจำนวน 4 โครงการ ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2552 ถึงวันที่ 8 กันยายน 2552 ใช้แรงงานราษฎรจำนวน 4 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1 ที่ 2 ที่ 8 และที่ 10 ค่าจ้างจำนวนวันละ 150 บาท ต่อคน ระยะเวลาดำเนินการจำนวน 20 วัน แรงงานจำนวนโครงการละ 165 คน เป็นเงินโครงการละ 495,000 บาท รวมจำนวน 4 โครงการ เป็นเงิน 1,980,000 บาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในการจ้างแรงงานให้แก่ราษฎรผู้ใช้แรงงานในพื้นที่ ในการนี้องค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้าได้ขอยืมเงินงบประมาณดังกล่าวจากสำนักงานแรงงานจังหวัดอุดรธานี จากนั้นองค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้ามีคำสั่งที่ 233/2552 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ดำเนินการโครงการจ้างแรงงานเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบความเดือดร้อนด้านอาชีพ ประจำปีงบประมาณ 2552 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2552 มีจำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการตรวจรับงาน จำเลยที่ 2 และนายพลเป็นกรรมการตรวจรับงาน จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นกรรมการผู้ควบคุมงาน จำเลยที่ 6 เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานและเป็นประธานกรรมการเบิกจ่ายเงิน จำเลยที่ 7 และที่ 8 เป็นกรรมการเบิกจ่ายเงิน แต่โครงการดังกล่าวไม่สามารถใช้แรงงานราษฎรอย่างเดียวขุดสระน้ำให้สำเร็จได้ จำเลยที่ 1 มิได้ยกเลิกโครงการ แต่จัดทำประชาคมราษฎร ราษฎรยอมให้ใช้เครื่องจักรได้ จำเลยที่ 4 ทำบันทึกถึงจำเลยที่ 1 ขออนุมัติใช้เครื่องจักรแทนแรงงานราษฎร จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้ดำเนินการตามความเหมาะสม โดยจำเลยที่ 1 มิได้ขออนุมัติเปลี่ยนแปลงการดำเนินการจากการใช้แรงงานราษฎรอย่างเดียวมาเป็นการใช้แรงงานราษฎรร่วมกับการใช้เครื่องจักรต่อสำนักงานแรงงานจังหวัดอุดรธานีอันเป็นการกระทำผิดวัตถุประสงค์ของโครงการ จากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างนางอัจฉราวรรณ ให้ใช้รถแบ็กโฮขุดลอกสระน้ำสาธารณะวัดศรีหมากหญ้าและบรรทุกดินออกไป แล้วให้ราษฎรจำนวน 4 หมู่บ้าน มาร่วมกันตัดหญ้า ดายหญ้า ขุด กลบ ตกแต่งสระ เกลี่ยดิน และทำความสะอาดวัดศรีหมากหญ้าจนแล้วเสร็จภายใน 1 วัน จำเลยที่ 1 ให้เจ้าหน้าที่นำเงินมาจ่ายให้แก่ราษฎรจำนวนคนละ 200 บาท รวมจำนวน 660 คน เป็นเงิน 132,000 บาท แล้วให้ราษฎรลงลายมือชื่อในบัญชีลงเวลาปฏิบัติงานกับหลักฐานการจ่ายเงินค่าแรงงาน ส่วนเงินที่เหลือจำนวน 1,980,000 บาท จำเลยที่ 1 อ้างว่าได้จ่ายให้แก่นางอัจฉราวรรณเป็นค่าจ้างไปแล้วแต่ไม่มีการทำสัญญาจ้างกันไว้ ต่อมาวันที่ 28 กันยายน 2552 องค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้าได้ส่งเอกสารการเบิกจ่ายเงินโครงการดังกล่าวเพื่อชดใช้เงินยืมให้แก่สำนักงานแรงงานจังหวัดอุดรธานี ได้แก่ ใบตรวจรับงานจ้าง บัญชีแนบท้ายใบตรวจรับงานจ้าง บัญชีลงเวลาปฏิบัติงานและหลักฐานการจ่ายเงินรวมจำนวน 4 โครงการ ตามเอกสารหมาย จ.4 จ.5 จ.12 และ จ.13 ซึ่งใบตรวจรับงานจ้างมีจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นประธานกรรมการตรวจรับงาน จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อเป็นกรรมการตรวจรับงาน บัญชีแนบท้ายใบตรวจรับงานจ้างมีรายชื่อราษฎรจำนวนกลุ่มละ 165 คน ทำงาน 20 วัน เป็นเงินคนละ 3,000 บาท รวมเป็นเงิน 495,000 บาท มีจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นประธานกรรมการตรวจรับงาน จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อเป็นกรรมการตรวจรับงาน บัญชีลงเวลาปฏิบัติงานมีจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นเจ้าของโครงการ ส่วนหลักฐานการจ่ายเงินให้แก่ราษฎรจำนวนกลุ่มละ 165 คน ทำงาน 20 วัน เป็นเงินคนละ 3,000 บาท เป็นเงินโครงการละ 495,000 บาท มีจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นประธานกรรมการตรวจรับงาน จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อเป็นกรรมการตรวจรับงาน กับมีลายมือชื่อจำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้ควบคุมงาน จำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 ลงลายมือชื่อเป็นผู้จ่ายเงินเพื่อรับรองว่าราษฎรผู้ลงลายมือชื่อรับเงินได้ปฏิบัติงานตามโครงการดังกล่าว ทั้งนี้จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 6 ลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.4 จ.5 จ.12 และ จ.13 เพื่อรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ จำเลยที่ 3 เป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ ส่วนจำเลยที่ 7 และที่ 8 ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุด
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 162 ดังที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ โจทก์นำสืบในทำนองว่า องค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้า มีคำสั่งที่ 233/2552 แต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการตรวจรับงานร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ด้วย อีกทั้งจำเลยที่ 2 ยังลงลายมือชื่อเป็นกรรมการตรวจรับงานจ้างในใบตรวจรับงานจ้าง บัญชีแนบท้ายใบตรวจรับงานจ้าง บัญชีลงเวลาปฏิบัติงาน และหลักฐานการจ่ายเงินรวม 4 โครงการ ตามเอกสารหมาย จ.4 จ.5 จ.12 และ จ.13 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 เช่นกัน เห็นว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานที่รู้เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวนั้น แต่ได้ความจากจำเลยที่ 1 ว่างบประมาณโครงการจ้างแรงงานเร่งด่วนจากสำนักงานแรงงานจังหวัดอุดรธานีไม่ใช่งบประมาณขององค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้า ดังนั้นฝ่ายบริหารสามารถบริหารจัดการเองได้โดยตรงโดยไม่จำต้องเข้าประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้าเพื่อมีมติอนุมัติการใช้เงินอีก จำเลยที่ 1 จึงมอบหมายให้สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้าบางคนติดต่อชาวบ้านให้มาทำงานเกลี่ยดิน ตกแต่งขอบสระวัดศรีหมากหญ้า และลงลายมือชื่อในเอกสารต่าง ๆ โดยมีนางมณีรัตน์เป็นเลขานุการส่วนตัวจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ประสานงานทุกอย่าง ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้เบิกความต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยมีคำสั่งแบ่งงานในหน้าที่ให้รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้าคนใดรับผิดชอบเป็นลายลักษณ์อักษร เว้นแต่จะมีงานเกี่ยวกับเรื่องการเมืองหรือแก้ปัญหาให้ชาวบ้านก็จะมอบงานให้ด้วยวาจาเท่านั้น กรณีจึงอาจเป็นไปได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้แจ้งเรื่องมีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการตรวจรับงานตามคำสั่งองค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้า ที่ 233/2552 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2552 ให้จำเลยที่ 2 ทราบมาก่อนเพราะจำเลยที่ 1 มอบหมายให้บุคคลอื่นจัดการแทนแล้ว นอกจากนี้ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เข้าไปเกี่ยวข้องกับการช่วยหารายชื่อชาวบ้านมาร่วมโครงการหรือไปร่วมกับชาวบ้านในการเกลี่ยดินตกแต่งขอบสระน้ำที่บริเวณวัดศรีหมากหญ้าหรือนำเงินค่าจ้างไปมอบให้ชาวบ้านแต่อย่างใด อีกทั้งเมื่อพิจารณาลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ที่เคยเขียนไว้ในหนังสือเรื่องขอแจ้งรายชื่อผู้สูงอายุที่เสียชีวิต ฉบับลงวันที่ 11 มกราคม 2550 และแบบขอเสนอโครงการ ฉบับลงวันที่ 9 มิถุนายน 2552 เปรียบเทียบกับลายมือชื่อของนายสำลี ในช่องกรรมการตรวจรับงานตามเอกสารหมาย จ.4 จ.5 จ.12 และ จ.13 ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 แล้วเห็นได้ชัดว่ามีลักษณะลีลาการเขียนและลายเส้นตัวอักษรแตกต่างกัน ไม่จำต้องให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์เพื่อทำความเห็นอีก ประกอบกับนายปริญญา นายเหรียญชัย นางคำเผย กับพวก พยานโจทก์ต่างเบิกความว่า ชาวบ้านที่มาทำงานเกลี่ยดินตกแต่งขอบสระน้ำบริเวณวัดศรีหมากหญ้านั้น บางคนไม่ได้มาทำงานแต่ลงลายมือชื่อรับเงิน บางคนมาทำงานและรับเงินจริงแต่ไม่ได้ลงลายมือชื่อในเอกสารโดยมีบุคคลอื่นลงลายมือชื่อแทน กรณีน่าเชื่อว่ามีการปลอมลายมือชื่อของชาวบ้านหลายรายในเอกสารหมาย จ.4 จ.5 จ.12 และ จ.13 ดังนั้นจำเลยที่ 2 จึงอาจถูกปลอมลายมือชื่อได้ในทำนองเดียวกัน ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยกข้อต่อสู้เรื่องลายมือชื่อของตนว่าปลอมขึ้นอ้างในชั้นไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดแล้ว จึงตกเป็นผู้ต้องหา ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/4 (1) ระบุว่าผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมีการปลอมลายมือชื่อของตนให้พนักงานไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบไว้ก่อนก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 ก็สามารถยกขึ้นต่อสู้ในชั้นพิจารณาของศาลได้ตามกฎหมาย เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังมีเหตุสงสัยสมควรว่าจำเลยที่ 2 รู้เห็นเป็นใจกับการกระทำของจำเลยที่ 1 และหรือจำเลยที่ 4 จริงหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 162 ดังที่โจทก์ฎีกา ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 5 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 162 ดังที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ โจทก์นำสืบในทำนองว่า จำเลยที่ 5 มีตำแหน่งเป็นนายช่างโยธาระดับ 3 องค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวบาน แต่ในขณะเกิดเหตุองค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้าขอยืมตัวมาช่วยราชการและจำเลยที่ 1 มีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยที่ 5 เป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมงานโครงการจ้างแรงงานเร่งด่วนร่วมกับจำเลยที่ 4 ด้วย ตามสำเนาคำสั่งที่ 233/2552 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2552 อีกทั้งจำเลยที่ 5 ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ควบคุมงานในใบตรวจรับงานจ้างรวมจำนวน 4 โครงการ ตามเอกสารหมาย จ.4 จ.5 จ.12 และ จ.13 ร่วมกับจำเลยที่ 4 เช่นกัน เห็นว่า วันที่ 19 สิงหาคม 2552 องค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวบานเพิ่งมีคำสั่งให้จำเลยที่ 5 ไปช่วยราชการที่องค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้า ในการนี้วันที่ 21 สิงหาคม 2552 องค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้าได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยที่ 5 ปฏิบัติหน้าที่จัดทำร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2553 โดยนัยของคำสั่งดังกล่าว จำเลยที่ 5 จึงมีหน้าที่ปฏิบัติเฉพาะงานตามที่ระบุไว้ในคำสั่งเท่านั้น จำเลยที่ 5 จึงไม่มีหน้าที่ในการควบคุมงานโครงการจ้างแรงงานเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาชีพแก่ผู้ประสบภัยธรรมชาติ จังหวัดอุดรธานี ปีงบประมาณ 2552 แต่อย่างใด หากนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้าต้องการแต่งตั้งจำเลยที่ 5 ให้เป็นผู้ควบคุมงานตามโครงการดังกล่าว จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้าต้องขอความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 5 เสียก่อน ตามสำเนาระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2548 ข้อ 32 วรรคหนึ่ง แต่ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ได้ขอความเห็นชอบจากนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวบานซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 5 ก่อน ดังนั้นคำสั่งที่ 233/2552 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2552 ขององค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้าในส่วนที่แต่งตั้งจำเลยที่ 5 เป็นกรรมการผู้ควบคุมงานจึงเป็นคำสั่งที่ออกโดยไม่ชอบด้วยระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2548 ข้อ 32 วรรคหนึ่ง ถือว่าจำเลยที่ 5 ไม่มีหน้าที่เป็นกรรมการผู้ควบคุมงานโครงการตามฟ้อง นอกจากนี้ยังได้ความว่าจำเลยที่ 5 ได้ทำงานเกี่ยวกับการประมาณงานก่อสร้างตามโครงการต่าง ๆ ให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้าเสร็จสิ้น ตามสรุปผลการประมาณราคางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2553 งานประมาณงานก่อสร้างตามโครงการต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในเอกสารดังกล่าวนี้ไม่เกี่ยวข้องกับงานตามโครงการขุดลอกสระน้ำวัดศรีหมากหญ้าแต่อย่างใด ส่วนเหตุที่จำเลยที่ 5 ลงลายมือชื่อเป็นกรรมการผู้ควบคุมงานในเอกสารหมาย จ.4 จ.5 จ.12 และ จ.13 นั้น จำเลยที่ 5 อ้างว่า กลางเดือนกันยายน 2552 นางสาวพิชญา เจ้าหน้าที่จากองค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้านำเอกสารเกี่ยวกับการจ้างแรงงานชาวบ้านขุดลอกสระน้ำวัดศรีหมากหญ้ามาให้จำเลยที่ 5 ลงลายมือชื่อโดยอ้างว่าองค์การบริหารส่วนตำบลหมากหญ้ามีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยที่ 5 เป็นผู้ควบคุมงาน จำเลยที่ 5 ไม่ยอมลงลายมือชื่อเพราะไม่เคยทราบว่ามีคำสั่งแต่งตั้งเป็นกรรมการควบคุมงาน นางสาวพิชญาจึงโทรศัพท์ติดต่อจำเลยที่ 1 ให้พูดกับจำเลยที่ 5 ซึ่งจำเลยที่ 1 บอกว่าได้แต่งตั้งจำเลยที่ 5 ให้เป็นกรรมการควบคุมงานจ้างแรงงานชาวบ้านขุดลอกสระน้ำวัดศรีหมากหญ้าและงานได้ทำเสร็จแล้ว จำเป็นต้องเบิกเงินค่าแรงงานให้ชาวบ้านไม่เช่นนั้นชาวบ้านจะเดือดร้อน ขอให้จำเลยที่ 5 ช่วยลงลายมือชื่อในเอกสารด้วยเนื่องจากกรรมการคนอื่นลงลายมือชื่อกันทุกคนแล้ว จำเลยที่ 5 ขอตรวจเอกสารก็เห็นชาวบ้านกับกรรมการคนอื่นลงลายมือชื่อไว้จริง เป็นเหตุให้จำเลยที่ 5 หลงเชื่อได้ง่ายจำเลยที่ 5 จึงยอมลงลายมือชื่อเป็นกรรมการควบคุมงานในเอกสารหมาย จ.4 จ.5 จ.12 และ จ.13 โดยจำเลยที่ 5 มีนางสาวพิชญามาเบิกความสนับสนุนจำเลยที่ 5 ได้เบิกความถึงเรื่องราวที่ต้องลงลายมือชื่อเป็นกรรมการควบคุมงานในเอกสารดังกล่าวได้อย่างละเอียดชัดเจนและสมเหตุสมผล เชื่อว่าจำเลยที่ 5 ได้ลงลายมือชื่อเป็นกรรมการควบคุมงานในบัญชีลงเวลาปฏิบัติงานและหลักฐานการจ่ายเงินตามเอกสารหมาย จ.4 จ.5 จ.12 และ จ.13 โดยไม่ทราบว่าเป็นเอกสารที่มีข้อความเท็จ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังไม่มีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังว่าจำเลยที่ 5 มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจกับจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 5 จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 162 ดังที่โจทก์ฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share