แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ส. สละมรดกในขณะที่เป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา โดยข้อเท็จจริงได้ความว่า ส. ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่โจทก์จะบังคับคดีได้ จึงเป็นการสละมรดกโดยรู้อยู่ว่าจะทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ กรณีมีเหตุเพิกถอนนิติกรรมสละมรดกที่ดินในส่วนของ ส.
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกที่ดินระหว่าง ส. กับจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่า ส. สละมรดกที่ดินโดยรู้อยู่ว่าการกระทำเช่นนั้นจะทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของตนเสียเปรียบ การกระทำของ ส. จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ เมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1737
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการสละมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 12052 ตำบลลุมพุก อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ระหว่างนายสายัณห์กับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยทั้งสองในฐานะทายาทโดยธรรมของนายสายัณห์ และจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวดำเนินการภายใน 7 วัน นับแต่วันพิพากษา หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการสละมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 12052 ตำบลลุมพุก อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างนายสายัณห์กับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยทั้งสองในฐานะทายาทโดยธรรมของนายสายัณห์และจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนโอนมรดกในส่วนดังกล่าว หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่ฎีกาโต้เถียงกันว่า จำเลยทั้งสองเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสายัณห์และนางโสภา นายสายัณห์กู้เงินจากโจทก์800,000 บาท แล้วผิดนัด โจทก์ฟ้องนายสายัณห์ให้ชำระหนี้ ศาลพิพากษาตามยอมให้นายสายัณห์ชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ย ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 928/2548 ของศาลชั้นต้น แต่นายสายัณห์ไม่ชำระ โจทก์บังคับคดียึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้ นางโสภาถึงแก่ความตายโดยมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 12052 ตำบลลุมพุก อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งตกได้แก่นายสายัณห์และจำเลยทั้งสอง ต่อมาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555 จำเลยที่ 2 ยื่นคำขอรับโอนมรดกที่ดินดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดิน โดยนายสายัณห์และจำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำว่าไม่ขอรับมรดกที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว และยินยอมให้จำเลยที่ 2 รับมรดกที่ดินแปลงดังกล่าวได้ เจ้าพนักงานที่ดินจึงจดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2555 ต่อมานายสายัณห์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2555 และจำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองที่ดินดังกล่าวแก่นายสุธรรม เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า กรณีมีเหตุเพิกถอนนิติกรรมสละมรดกที่ดินของนายสายัณห์หรือไม่ เห็นว่า ในการที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำขอจดทะเบียนรับโอนที่ดินมรดก นายสายัณห์และจำเลยที่ 1 ได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าไม่ขอรับมรดกที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และยินยอมให้จำเลยที่ 2 ลงชื่อรับมรดกที่ดินได้ ตามสำเนาบันทึกถ้อยคำทายาทผู้มีความประสงค์ไม่ขอรับมรดก อันมีความหมายว่านายสายัณห์และจำเลยที่ 1 สละมรดกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารมหาชนที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น ซึ่งกฎหมายสันนิษฐานว่าแท้จริงและถูกต้อง จำเลยทั้งสองคงให้การต่อสู้ว่านายสายัณห์และจำเลยที่ 1 ไม่ได้สละมรดก แต่จำเลยทั้งสองและนายสายัณห์ประมูลซื้อที่ดินมรดกในระหว่างทายาท โดยจำเลยที่ 2 ประมูลได้ในราคา 300,000 บาท ซึ่งได้ชำระเงินให้แก่นายสายัณห์และจำเลยที่ 1 แล้ว เหตุที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนมรดกโดยนายสายัณห์และจำเลยที่ 1 สละมรดกเนื่องจากทำตามคำแนะนำของเจ้าพนักงานที่ดินแต่จำเลยทั้งสองมิได้นำพยานหลักฐานเข้าสืบต่อสู้ตามข้ออ้าง และไม่ได้นำสืบหักล้างบันทึกถ้อยคำทายาทผู้มีความประสงค์ไม่ขอรับมรดก ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามพยานหลักฐานโจทก์ว่านายสายัณห์สละมรดกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา เมื่อนายสายัณห์สละมรดกในขณะที่เป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาโดยข้อเท็จจริงได้ความว่า นายสายัณห์ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่โจทก์จะบังคับคดีได้ จึงเป็นการสละมรดกโดยรู้อยู่ว่าจะทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ กรณีมีเหตุเพิกถอนนิติกรรมสละมรดกที่ดินในส่วนของนายสายัณห์ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกที่ดินระหว่างนายสายัณห์กับจำเลยที่ 2 อันหมายถึงขอให้เพิกถอนการสละมรดกที่ดินเฉพาะส่วนของนายสายัณห์ โดยอ้างว่านายสายัณห์สละมรดกที่ดินโดยรู้อยู่ว่าการทำเช่นนั้นจะทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของตนเสียเปรียบ การกระทำของนายสายัณห์จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ เมื่อนายสายัณห์ถึงแก่ความตาย โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1737 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้ ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ