คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11405/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ประกอบอุตสาหกรรมการผลิตและค้าน้ำตาลซึ่งใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ โจทก์จ่ายเงินให้จำเลยซึ่งมีอาชีพทำไร่อ้อยใช้เป็นทุนในการปลูกอ้อย โดยมีข้อตกลงว่าเมื่อเก็บเกี่ยวจำเลยจะนำอ้อยมาส่งขายให้แก่โจทก์แล้วคิดหักราคากัน ต่อมาจำเลยส่งอ้อยขายให้โจทก์เมื่อหักหนี้กันแล้วจำเลยมีหนี้ค้างชำระจำนวนหนึ่งตามหนังสือรับสภาพหนี้ การที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องเงินตามหนังสือรับสภาพหนี้ เป็นการเรียกเอาเงินทดรองคืน ซึ่งจำเลยนำเงินดังกล่าวไปใช้ปลูกอ้อย มิได้นำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวอย่างอื่น ย่อมถือได้ว่าเป็นการที่ทำเพื่อกิจการของจำเลยแล้ว กรณีจึงอยู่ในบังคับ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 ตอนท้าย มีกำหนดอายุความ 5 ปี หาใช่ 2 ปีไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,313,899.56 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 568,652.80 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 568,652.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 20 เมษายน 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 745,246.76 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรมน้ำตาลฟ้องให้จำเลยรับผิดในเงินทดรองจ่ายที่ให้จำเลยนำไปใช้ปลูกอ้อย โดยมีข้อตกลงว่าเมื่อได้ผลผลิตแล้วจำเลยต้องนำมาส่งมอบให้แก่โจทก์ให้ครบตามจำนวนเงินที่ได้รับไปจากโจทก์ เป็นสิทธิเรียกร้องที่มีกำหนดอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่จำเลยรับสภาพหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงซึ่งคู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมผลิตและค้าขายน้ำตาลซึ่งใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบในการผลิต จำเลยได้ขอรับเงินส่งเสริมการปลูกอ้อยจากโจทก์ โจทก์จึงจ่ายเงินให้แก่จำเลยเพื่อใช้เป็นทุนในการปลูกอ้อย โดยมีข้อตกลงว่าเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวจำเลยจะนำอ้อยมาส่งขายให้แก่โจทก์แล้วคิดหักราคากัน เห็นว่า โจทก์ไม่ได้คิดดอกเบี้ยหรือเรียกผลประโยชน์อื่นจากจำเลยเป็นการตอบแทน นอกจากมีข้อตกลงให้จำเลยขายอ้อยที่ปลูกได้ให้แก่โจทก์แทนการคืนเงินที่โจทก์ออกให้ไปก่อนด้วยการคิดหักราคากันเท่านั้น ต่อมาจำเลยส่งอ้อยขายให้โจทก์น้อยกว่าจำนวนเงินที่รับไปและหักหนี้กันแล้ว ปรากฏว่าจำเลยมีหนี้ค้างชำระโจทก์อยู่เป็นเงิน 568,652.80 บาท ตามหนังสือรับสภาพหนี้ โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวคืนโจทก์ อันเป็นการเรียกเอาเงินที่โจทก์ออกทดรองไปคืนนั่นเอง เมื่อจำเลยมีอาชีพทำไร่อ้อยและนำเงินดังกล่าวไปใช้ปลูกอ้อยเพื่อนำส่งขายให้แก่โจทก์ มิได้นำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวอย่างอื่น เช่นนี้ย่อมถือได้ว่าเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของจำเลยแล้ว กรณีจึงตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 ตอนท้ายที่ว่าเว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง ดังนั้น อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนด 5 ปี หาใช่ 2 ปี ดังที่จำเลยฎีกาไม่ เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้ลงลายมือชื่อยอมรับยอดหนี้ ตามหนังสือรับสภาพหนี้ ลงวันที่ 20 เมษายน 2541 อันมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลง แต่เมื่อนับระยะเวลาจากวันดังกล่าวถึงวันที่ 12 มกราคม 2550 ซึ่งเป็นวันฟ้องพ้นกำหนด 5 ปี แล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น เมื่อฟังได้ดังที่วินิจฉัยมาแล้วว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share