แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยในส่วนที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษตาม ป.อ. มาตรา 92 ว่า เมื่อรวมโทษทุกกระทงความผิดให้จำคุกตลอดชีวิตตามมาตรา 91 (3) แล้วจึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา 51 นั้น เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นรวมโทษทุกกระทงแล้วจะเพิ่มโทษ เมื่อมาตรา 91 บัญญัติใจความว่า การกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันให้ศาลลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามมาตรา 91 แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษ เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดดังต่อไปนี้ เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ฉะนั้นถ้าเป็นกรณีที่ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามมาตรา 91 และมีการเพิ่มโทษจะต้องมีการเพิ่มโทษทุกกระทงความผิดก่อนมิใช่ต้องปรับบทมาตรา 91 ก่อนแล้วจึงจะเพิ่มโทษ ที่ศาลชั้นต้นยกคำขอเพิ่มโทษด้วยเหตุผลว่าศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้วไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยในกระทงอื่นได้นั้นจึงไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม เมื่อจำเลยพ้นโทษในคดีที่ขอให้เพิ่มโทษก่อนมี พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับ จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 92, 288, 289, 339, 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบหัวกระสุนปืนของกลางและให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 32,000 บาท เพิ่มโทษและนับโทษจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1063/2550 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษและนับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (7) ประกอบมาตรา 80, 339 วรรคสี่, 340 ตรี, 371 ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นเพื่อเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิด เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตนกับความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นเพื่อเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิด เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 52 (1) ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน เมื่อรวมทุกกระทงแล้ว คงให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายจำนวน 32,000 บาท ริบหัวกระสุนปืนของกลาง ส่วนที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 นั้น เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิตแล้ว กรณีจึงมิอาจเพิ่มโทษจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 51 จึงให้ยกคำขอส่วนนี้ และที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อปรากฏว่าในคดีดังกล่าวศาลนี้ยังมิได้มีคำพิพากษาจึงไม่อาจนับโทษต่อให้ได้ ให้ยกคำขอส่วนนี้เช่นกัน ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยต่างไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์ภาค 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง แต่ให้ริบหัวกระสุนปืนของกลาง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในส่วนที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์ว่า ขณะเกิดเหตุ นายหม่อน ผู้เสียหาย ประกอบอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้างที่วินรถจักรยานยนต์หลังสถานีรถไฟศรีสะเกษตั้งแต่เวลา 1 นาฬิกา ถึงเวลา 8 นาฬิกา วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา 3 นาฬิกา ผู้เสียหายจอดรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กวค ศรีสะเกษ 475 ที่คิวรถจักยานยนต์บริเวณหลังสถานีรถไฟศรีสะเกษเพื่อรอรับผู้โดยสาร มีคนร้ายสองคนเดินมาจากหลังสถานีรถไฟเข้ามาพูดคุยกับผู้เสียหายว่า จ้างให้ผู้เสียหายขับรถไปส่งที่บ้านนิคมห้วยคล้ำ ตำบลวังหิน อำเภอวังหิน จังหวัดศรีสะเกษ ในราคา 200 บาท ผู้เสียหายตกลงโดยให้คนร้ายทั้งสองนั่งซ้อนท้าย ระหว่างทางคนร้ายทั้งสองถามผู้เสียหายว่า วันนี้ขับรถได้เงินเท่าใด ผู้เสียหายตอบว่าได้เงินมา 20 บาท เมื่อผู้เสียหายขับรถถึงบ้านนิคมห้วยคล้ำ คนร้ายที่นั่งซ้อนท้ายตรงกลางบอกให้ผู้เสียหายขับรถต่อไปก่อนจะเพิ่มค่าจ้างให้เป็น 500 บาท หลังจากขับรถผ่านบ้านนิคมห้วยคล้าไปประมาณ 500 เมตร คนร้ายที่นั่งซ้อนท้ายตรงกลางบอกให้ผู้เสียหายจอดรถและให้ถอดหมวกนิรภัยแล้วเข้าไปดึงกุญแจรถกับล้วงหยิบปืนพกในกระเป๋าสะพายออกมา ผู้เสียหายวางหมวกนิรภัยไว้ให้และวิ่งหนีไปได้ 3 ถึง 4 เมตร จากนั้นได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด จากบริเวณที่จอดรถไว้ ผู้เสียหายถูกยิงที่หลังข้างซ้ายกระสุนฝังในและรู้สึกชาที่ต้นขาซ้ายได้วิ่งไปร้องขอความช่วยเหลือจากชาวบ้าน มีผู้พาผู้เสียหายส่งโรงพยาบาลวังหินแล้วถูกนำตัวส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลศรีสะเกษ คนร้ายได้เอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไป นางอัมพร พี่สาวผู้เสียหายได้ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรวังหิน ต่อมาพันตำรวจโทจารุวัฒน์ สารวัตรสืบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองศรีสะเกษ นำรูปถ่ายของจำเลยและนายประสิทธิ์ ให้ผู้เสียหายและนายประสิทธิ์ดู ผู้เสียหายและนายประสิทธิ์ยืนยันว่า จำเลยและนายประสิทธิ์ เป็นคนร้ายที่ร่วมกันชิงทรัพย์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า บริเวณคิวรถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายและนายประสิทธิ์รับจ้างอยู่หลังสถานีรถไฟศรีสะเกษ จึงเชื่อว่ามีแสงสว่างของไฟฟ้าทั้งจากสถานีรถไฟและไฟฟ้าสาธารณะมองเห็นเหตุการณ์ได้ แม้นายประสิทธิ์จะเบิกความว่า จำเลยสวมหมวกแก๊ปและพวกของจำเลยเป็นผู้สะพายกระเป๋าข้างอันแตกต่างจากคำเบิกความของผู้เสียหาย แต่ตามสำเนาสำนวนการสอบสวนที่โจทก์ส่งมาตามที่ศาลชั้นต้นเรียก ผู้เสียหายและนายประสิทธิ์ให้การต่อพนักงานสอบสวนตรงกันโดยไม่ปรากฏข้อความว่า จำเลยได้สวมหมวกแก๊ปและให้การตรงกันอีกว่า พวกของจำเลยเป็นคนร้ายที่สะพายกระเป๋า ซึ่งนายประสิทธิ์ได้เบิกความในส่วนนี้ว่า หลังจากจำเลยตกลงราคากับผู้เสียหายได้แล้วจำเลยซึ่งนั่งซ้อนท้ายต่อจากผู้เสียหายได้เรียกพวกของจำเลยที่พูดคุยกับพยานไปนั่งซ้อนท้ายต่อ ซึ่งพวกของจำเลยได้เอากระเป๋าสะพายนี้ให้จำเลยสะพายแทน เมื่อผู้เสียหายเบิกความว่าจำเลยได้หยิบอาวุธปืนออกมาจากกระเป๋าสะพาย อันแสดงว่าขณะเกิดเหตุชิงทรัพย์จำเลยได้สะพายกระเป๋าจริง เช่นนี้คำเบิกความของผู้เสียหายและนายประสิทธิ์ซึ่งมาเบิกความ หลังเกิดเหตุแล้ว 1 ปีเศษ ที่ไม่ตรงกันดังกล่าว จึงเป็นเพียงคำเบิกความที่คลาดเคลื่อนกันไปบ้างเท่านั้น ไม่ทำให้การรับฟังคำเบิกความของผู้เสียหายและนายประสิทธิ์เสียไป ซึ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์หลังสถานีรถไฟศรีสะเกษนั้น จำเลยพูดคุยกับผู้เสียหายประมาณ 1 นาที เพื่อว่าจ้างผู้เสียหายให้ไปส่งที่บ้านนิคมห้วยคล้า จึงเชื่อว่าจำเลยพูดคุยกับผู้เสียหายในระยะใกล้ ผู้เสียหายย่อมเห็นใบหน้าจำเลย และนายประสิทธิ์ก็อยู่บริเวณนั้นเชื่อว่าเห็นใบหน้าจำเลยเช่นกัน ส่วนเหตุการณ์ขณะชิงทรัพย์ผู้เสียหายและจำเลยกับพวกได้ลงจากรถจักรยานยนต์แล้วจำเลยดึงกุญแจรถจักรยานยนต์ไปผู้เสียหายได้ถอดหมวกนิรภัยวางไว้บนรถ ผู้เสียหายจึงอยู่ใกล้ชิดกับจำเลย ทั้งคืนวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2550 อันเป็นเวลาต่อเนื่องกับวันเวลาเกิดเหตุเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ ดวงจันทร์เต็มดวง เมื่อเกิดเหตุอยู่บนถนนและบริเวณนั้นไม่มีแสงสว่างจากแหล่งอื่น จึงเชื่อว่าแสงสว่างจากดวงจันทร์ทำให้ผู้เสียหายเห็นจำเลยได้ตามที่ผู้เสียหายเบิกความจริง เช่นนี้วันเกิดเหตุผู้เสียหายเห็นจำเลยสองครั้งในเวลาต่อเนื่องกันทำให้เชื่อว่าผู้เสียหายจำจำเลยได้ นอกจากนี้ที่พันตำรวจโทจารุวัฒน์ นำภาพถ่ายของจำเลยและพวกของจำเลยจากข้อมูลทะเบียนราษฎร์มาให้ผู้เสียหายและนายประสิทธิ์ดูก่อนจับกุมจำเลยมีเหตุผลโดยมีคำเบิกความร้อยตำรวจโทบุญปลูกสนับสนุน ทั้งเป็นการกระทำที่นำไปสู่การออกหมายจับจำเลยกับพวก ฉะนั้นการที่ผู้เสียหายและนายประสิทธิ์ชี้ตัวจำเลยได้ถูกต้องก็เพราะว่าผู้เสียหายและนายประสิทธิ์จำจำเลยได้เองหาได้เกิดจากการชี้นำของพันตำรวจโทจารุวัฒน์ไม่ ดังนั้น คดีฟังได้ตามทางนำสืบของโจทก์ว่าจำเลยกับพวกร่วมกันเป็นคนร้ายชิงทรัพย์เอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปโดยมีและใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัส ซึ่งการใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายนี้จำเลยมีเจตนาฆ่าเพื่อเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ และเพื่อปกปิดความผิดฐานชิงทรัพย์ ส่วนข้ออ้างฐานที่อยู่ตามทางนำสืบของจำเลยนั้น ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธแต่ไม่ได้ให้การเกี่ยวกับรายละเอียดเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของจำเลย พยานหลักฐานที่อยู่ของจำเลยที่นำสืบในชั้นศาลจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยกับพวกร่วมกันมีและใช้อาวุธปืนชิงทรัพย์ของผู้เสียหายโดยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายด้วยเจตนาฆ่าตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ทำให้คดีฟังได้ตามข้อเท็จจริงนั้นว่า จำเลยกับพวกร่วมกันมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยในส่วนที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ว่า เมื่อรวมโทษทุกกระทงความผิดให้จำคุกตลอดชีวิตตาม มาตรา 91 (3) แล้วจึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา 51 นั้น เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นรวมโทษทุกกระทงแล้วจะเพิ่มโทษ เมื่อมาตรา 91 บัญญัติใจความว่า การกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันให้ศาลลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามมาตรา 91 แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ…หรือลดมาตราส่วนโทษ…เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดดังต่อไปนี้…ฯลฯ…เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ฉะนั้นถ้าเป็นกรณีที่ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามมาตรา 91 และมีการเพิ่มโทษ จะต้องมีการเพิ่มโทษทุกกระทงความผิดก่อนมิใช่ต้องปรับบทมาตรา 91 ก่อนแล้วจึงจะเพิ่มโทษ ที่ศาลชั้นต้นยกคำขอเพิ่มโทษด้วยเหตุผลว่าศาลลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิตแล้วไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยในกระทงอื่นได้นั้นจึงไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามคำฟ้องของโจทก์ที่อ้างใจความว่าก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดรวมสองคดีให้ลงโทษจำคุกและภายในเวลาห้าปี นับแต่วันพ้นโทษจำเลยกลับมากระทำความผิดคดีนี้อีกขอให้เพิ่มโทษสำหรับความผิดครั้งหลังนั้น เมื่อจำเลยพ้นโทษในคดีทั้งสองตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2546 จึงพ้นโทษก่อนมีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับ จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยได้ ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยในผลที่ศาลชั้นต้นยกคำขอเพิ่มโทษ
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น