คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 57/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 8(ก) วรรค 2(9) นั้น เมื่อจำเลยเป็นคนไทยกระทำผิดฐานชิงทรัพย์นอกประเทศ ผู้เสียหารได้ร้องขอให้ลงโทษแล้ว จำเลยจึงต้องรับโทษในราชอาณาจักร และในคำฟ้องก็ไม่ต้องอ้างกฎหมายอาญาของประเทศที่จำเลยไปกระทำผิด กับโจทก์ไม่จำต้องนำสืบกฎหมายต่างประเทศ
จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ส่งประเด็นไปสืบตำรวจพม่า 3 คน ณ ประเทศพม่าหรือ ณ สถานทูตประเทศพม่า และร้อยตำรวจเอกจำนงเบิกความประกอบยืนยันในคำให้การตำรวจเหล่านั้น ย่อมไม่มีน้ำหนักอะไร นั้น เป็นฎีกาข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นจำคุกไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๐๖ จำเลยลักธนบัตรของนางปิงไป ๑,๐๐๐ บาท ในการนี้เพื่อให้เป็นความสะดวกแก่การลักทรัพย์และยึดถือเอาทรัพย์ใช้เหล็กท่อนดีทำร้ายร่างกายนางปิงได้รับอันตรายบาดเจ็บ เหตุเกิดที่ตำบลท่าขี้เหล็ก อำเภอท่าขี้เหล็ก จังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า เจ้าพนักงานจับจำเลยได้ขณะวิ่งหนีเข้ามาในประเทศไทย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๙ ริบเหล็กของกลางกับให้คืนหรือใช้เงินแก่เจ้าทรัพย์
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย ตามมาตรา ๓๓๙ จำคุก ๕ ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน ๑,๐๐๐ บาท คำขออื่นยก
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘(ก) วรรค ๒(๙) นั้น เมื่อจำเลยเป็นคนไทย นางปิงผู้เสียหารยได้ร้องขอให้ลงโทษตามกฎหมายแล้ว ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาต้องกันว่า จำเลยกระทำผิดฐานชิงทรัพย์ ตามมาตรา ๓๓๙ ฉะนั้น จำเลยจึงต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร และตามมาตรา ๘ ดังกล่าว ก็มิได้บัญญัติว่า ในคำฟ้องต้องอ้างอิงกฎหมายอาญาของประเทศที่จำเลยไปกระทำความผิด ดังนั้น ฟ้องคดีนี้จึงสมบูรณ์มิได้ขาดสารสำคัญ และโจทก์ไม่จำต้องนำสืบกฎหมายต่างประเทศ ส่วนข้อที่ว่าโจทก์ไม่ส่งประเด็นไปสืบตำรวจพม่า ๓ คน ณ ประเทศพม่า หรือ ณ สถานทูตประเทศพม่า และร้อยตำรวจเอกจำนงเบิกความประกอบยืนยันในคำให้การตำรวจเหล่านั้น ย่อมไม่มีน้ำหนักอะไร นั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่าง จำคุกไม่เกิน ๕ ปี จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ พิพากษายืน

Share