แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การจัดการและการรับผิดชอบในการดำเนินการของกองทุนรวมเป็นอำนาจของบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 117 ประกอบด้วยมาตรา 124 วรรคสอง และมาตรา 125 (1) บริษัทหลักทรัพย์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามหนังสือข้อสนเทศเสนอขายหุ้นกู้ต่อกองทุนรวมได้ มิใช่กองทุนรวมจะต้องฟ้องคดีเองในนามของกองทุนรวมซึ่งเป็นนิติบุคคล
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจกท์เป็นผู้จัดตั้งกองทุนรวมไทยพาณิชย์ทุนทวี 2 และกองทุนรวมไทยพาณิชย์สะสมทรัพย์ก้าวหน้า เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2537 โจทก์ซื้อหุ้นกู้ของจำเลยในนามของกองทุนรวมไทยพาณิชย์ทุนทวี 2 จำนวน 20,000 หน่วย มูลค่ารวม 20,000,000 บาท และวันที่ 14 พฤษภาคม 2540 โจทก์ซื้อหุ้นกู้ของจำเลยในนามกองทุนรวมไทยพาณิชย์สะสมทรัพย์ก้าวหน้าจำนวน 30,000 หน่วย มูลค่า 30,000,000 บาท หุ้นกู้ดังกล่าวมีกำหนดอายุ 5 ปี นับแต่วันที่จำเลยออกหุ้นกู้คือวันที่ 5 สิงหาคม 2537 ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 4 สิงหาคม 2542 จำเลยตกลงให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตลอดอายุหุ้นกู้โดยกำหนดชำระดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ และวันที่ 5 สิงหาคม ของทุกปีตลอดอายุหุ้นกู้ ต่อมาจำเลยผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยประจำงวดวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2541 โจทก์มีสิทธิขอไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนครบกำหนดและโจทก์ได้ดำเนินการยื่นคำขอไถ่ถอนหุ้นกู้แล้วจำเลยจึงต้องไถ่ถอนหุ้นกู้ในมูลค่าหน่วยละ 990.74 บาท รวมเป็นเงิน 49,537,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถึงวันฟ้องเป็นเงิน 8,998,090.69 บาท รวมเป็นเงิน 58,535,090.69 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 58,535,090.69 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 49,537,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะกองทุนรวมไทยพาณิชย์ทุนทวี 2 และกองทุนรวมไทยพาณิชย์สะสมทรัพย์ก้าวหน้าเป็นนิติบุคคลไม่ได้มอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดีแทน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 49,537,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 เมษายน 2541 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 45,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 30,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติโดยคู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการจัดการลงทุนตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 โจทก์มอบอำนาจให้นางสาวไปรดา เจริญไทยทวี เป็นผู้ดำเนินคดีแทนตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 โจทก์ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งและจัดการโครงการกองทุนรวมไทยพาณิชย์ทุนทวี 2 และโครงการกองทุนรวมไทยพาณิชย์สะสมทรัพย์ก้าวหน้า เพื่อระดมทุนโดยแบ่งกองทุนออกเป็นหน่วยเรียกว่า “หน่วยลงทุน” จำหน่ายแก่ประชาชน แล้วนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายลงทุนนั้นไปลงทุนในหลักทรัพย์ หรือทรัพย์สินอื่น หรือไปหาดอกผลโดยวิธีอื่นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 117 และโจทก์ได้จดทะเบียนกองทรัพย์สินของโครงการกองทุนรวมไทยพาณิชย์ทุนทวี 2 และโครงการกองทุนรวมไทยพาณิชย์สะสมทรัพย์ก้าวหน้า เป็นกองทุนรวมตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 124 แล้ว ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 โจทก์ได้แต่งตั้งให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์กองทุนรวมเอกสารหมาย จ.17 และ จ.18 จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัมมหาชนจำกัด ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.9 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2537 ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลย ครั้งที่ 2/2537 มีมติให้ออกหุ้นกู้ประเภทไม่มีหลักประกันเสนอขายแก่นักลงทุนเฉพาะรายมีมูลค่ารวมประมาณ 1,800,000,000 บาท แบ่งเป็น 1,800,000 หน่วย มูลค่าหน่วยละ 1,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง ทุกวันที่ 5 กุมภาพันธ์ และวันที่ 5 สิงหาคมตลอดอายุของหุ้นกู้ 5 ปี ตามหนังสือข้อสนเทศเสนอขายหุ้นกู้เอกสารหมาย จ.12 โดยจำเลยแต่งตั้งให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงเทพธนาทร จำกัด (มหาชน) เป็นนายทะเบียนและตัวแทนการจ่ายเงินหุ้นกู้ของจำเลย ตามสัญญาแต่งตั้งนายทะเบียนและตัวแทนจ่ายเงินเอกสารหมาย จ.11 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2537 กองทุนรวมไทยพาณิชย์ทุนทวี 2 ได้ซื้อหุ้นกู้ของจำเลยจำนวน 20,000 หน่วย เป็นเงิน 20,000,000 บาท ตามทะเบียนถือหุ้นกู้เอกสารหมาย จ.13 และภาพถ่ายใบหุ้นกู้เอกสารหมาย จ.14 และเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2537 กองทุนรวมไทยพาณิชย์สะสมทรัพย์ก้าวหน้าได้ซื้อหุ้นกู้ของจำเลยจำนวน 30,000 บาท เป็นเงิน 30,000,000 บาท ตามทะเบียนผู้ถือหุ้นกู้เอกสารหมาย จ.15 และภาพถ่ายใบหุ้นกู้เอกสารหมาย จ.16 จำเลยไม่ได้จ่ายดอกเบี้ยของหุ้นกู้ประจำงวดวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2541 ให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้เป็นการผิดเงื่อนไขตามหนังสือข้อสนเทศเสนอขายหุ้นกู้ข้อ 1.16.2 กองทุนรวมทั้งสองมีสิทธิขอไถ่ถอนหุ้นของจำเลยจำนวน 50,000 หุ้นก่อนกำหนด ในมูลค่าหุ้นละ 990.74 บาท เป็นเงิน 49,537,000 บาท และจำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยสำหรับต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 เมษายน 2541 อันเป็นวันที่จำเลยผิดนัดไม่ยอมไถ่ถอนหุ้นกู้ให้แก่กองทุนรวมทั้งสอง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการเดียวว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า กองทุนรวมไทยพาณิชย์ทุนทวี 2 และกองทุนรวมไทยสะสมทรัพย์ก้าวหน้าเป็นกองทุนรวมที่ได้จดทะเบียนแล้วจึงมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 124 วรรคสอง กองทุนรวมทั้งสองจะต้องเป็นผู้ฟ้องคดีนี้เองในนามของกองทุนรวมทั้งสองนั้น เห็นว่า กองทุนรวมเป็นการออกหน่วยลงทุนของแต่ละโครงการจำหน่ายแก่ประชาชน เพื่อนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยลงทุนนั้นไปลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่น หรือไปหาดอกผลโดยวิธีอื่น เพื่อหากำไรมาแบ่งให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนการจัดการกองทุนรวมเป็นธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทหนึ่ง การขอจัดตั้งกองทุนรวมจึงต้องกะทำโดยบริษัทหลักทรัพย์ โจทก์เป็นบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมไทยพาณิชย์ทุนทวี 2 และกองทุนไทยพาณิชย์สมสะทรัพย์ก้าวหน้าแล้ว โจทก์จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและวิธีการจัดการกองทุนรวมตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 หมวดที่ 4 ธุรกิจหลักทรัพย์ ส่วนที่ 7 การจัดการกองทุนรวม ตั้งแต่มาตรา 117 ถึงมาตรา 132 โดยโจทก์ได้จัดให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมทั้งสอง ตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 121 และ 122 และได้จดทะเบียนกองทรัพย์สินของกองทุนรวมทั้งสองเป็นกองทุนรวมกับกำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ตามเงื่อนไขที่บัญัญัติไว้ในมาตรา 124 วรรคหนึ่งแล้ว แต่ผู้ดูแลผล ประโยชน์ของกองทุนรวมมีหน้าที่เสมือนเป็นตัวแทนของผู้ถือหน่วยลงทุน ในการติดตามดูแลให้บริษัทหลักทรัพย์ปฏิบัติจัดการกองทุนรวมตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายโดยเคร่งครัด และมีอำนาจฟ้องร้องบังคับคดีให้บริษัทหลักทรัพย์ปฏิบัติหน้าที่ของตนหรือฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทหลักทรัพย์ อันเป็นการใช้สิทธิควบคุมบริษัทหลักทรัพย์เพื่อประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนเท่านั้น ผู้ดูแลผลประโยชน์ดังกล่าวมิได้มีอำนาจในการจัดการกองทุนรวม ส่วนการจดทะเบียนกองทรัพย์สินของกองทุนรวมตามที่มาตรา 124 วรรคสอง บัญญัติว่า “กองทุนรวมที่ได้จดทะเบียนแล้วให้เป็นนิติบุคคลซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์นำทรัพย์สินของกองทุนรวมไปลงทุนตามโครงการจัดตั้งกองทุนรวมตามที่ได้รับอนุมัติโดยให้บริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของกองทุนรวม” นั้น ก็เนื่องจากกองทุนรวมแต่ละกองทุนมีโครงการและนโยบายในการลงทุนหาผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน และการจัดการกองทุนรวมแต่ละกองทุนบริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดการให้เป็นไปตามโครงการจัดการกองทุนรวมตามที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ตลอดจนข้อผูกพันที่ทำไว้กับผู้ถือหน่วยลงทุนอย่างเคร่งครัด ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 125 (1) การกำหนดให้กองทุนรวมที่ได้จดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคล จึงเป็นเพียงการแยกหน่วยลงทุนซึ่งเป็นทรัพย์สินของแต่ละกองทุนรวมออกจากกัน เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์นำสินทรัพย์สินของกองทุนรวมแต่ละกองทุนไปหาผลประโยชน์ตามโครงการจัดการกองทุนรวมที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. สำหรับกองทุนรวมนั้น ผลประโยชน์ที่ได้มาจากการจัดการกองทุนรวมใดก็ตกเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวมนั้น และเป็นการแยกกองทรัพย์สินของกองทุนรวมซึ่งเป็นทรัพย์สินของผู้ถือหน่วยลงทุนในแต่ละกองทุนรวมต่างหากจากกองทรัพย์สินของบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นผู้จัดการ เป็นการคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนในแต่ละกองทุนรวมเท่านั้น การจัดการและการรับผิดชอบในการดำเนินการของกองทุนรวมเป็นอำนาจของบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวม ตามมาตรา 117 ประกอบด้วยมาตรา 124 วรรคสอง และมาตรา 125 (1) บริษัทหลักทรัพย์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามหนังสือข้อสนเทศเสนอขายหุ้นกู้ต่อกองทุนรวมทั้งสองเป็นคดีนี้ได้ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ชอบแล้ว ที่จำเลยฎีกาว่ากองทุนรวมทั้งสองจะต้องเป็นผู้ฟ้องคดีนนี้เองในนามของกองทุนรวมทั้งสองนั้นฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ