คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 490/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำให้การของจำเลยทั้งสองครั้งแรกอ้างว่าโจทก์ไม่อาจเรียกค่าสินไหมทดแทนคืนจากจำเลยทั้งสองเพราะเป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย ส่วนในคำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การอ้างว่าโจทก์ไม่อาจเรียกค่าสินไหมทดแทนคืนจากจำเลยทั้งสองเพราะโจทก์ไม่ยกเหตุข้อยกเว้นที่โจทก์ไม่ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยขึ้นปฏิเสธต่อบุคคลภายนอก จึงเป็นข้ออ้างต่อสู้เพิ่มเติมขึ้นมาโดยไม่ได้ลบล้างข้อต่อสู้เดิมและอ่านเข้าใจได้ว่าเป็นการกล่าวยืนยันตามข้อเท็จจริงที่ให้การไว้แต่แรก แม้คำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การจะมีข้อความว่า “โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง” ในตอนต้น แต่ตอนท้ายจำเลยทั้งสองใช้ถ้อยคำว่า “โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลย” ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การมีเจตนาปฏิเสธว่าอย่างไรเสียโจทก์ไม่อาจเรียกคืนเงินค่าสินไหมทดแทนได้ คำร้องเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยทั้งสองจึงไม่ขัดแย้งกับคำให้การเดิม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 45,479 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 43,314 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “พ้นกำหนดยื่นคำให้การแล้ว ทั้งตามคำร้องเป็นการยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่จึงไม่รับคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ”
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 45,479 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 43,314 บาท นับแต่วันที่ 30 กันยายน 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมาแล้วว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถกระบะหมายเลขทะเบียน ปษ 4570 กรุงเทพมหานคร จากจำเลยที่ 2 ระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2547 ถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2548 ตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ซึ่งกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 7.4 ระบุว่า ไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจากการใช้ลากจูงหรือผลักดัน เว้นแต่เป็นรถลากจูงโดยสภาพหรือรถที่มีระบบห้ามล้อเชื่อมโยงถึงกัน ข้อ 8 วรรคท้าย ระบุว่า ในกรณีที่บริษัทไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายหรือรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยนี้ต่อผู้เอาประกันภัย แต่บริษัทได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้วตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ในความรับผิดที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกไปแล้ว ผู้เอาประกันภัยต้องใช้จำนวนเงินที่บริษัทได้จ่ายไปนั้นคืนให้บริษัท หลังจากทำสัญญาประกันภัยแล้วจำเลยที่ 2 นำรถไปดัดแปลงสภาพเป็นรถยก จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถกระบะคันที่โจทก์รับประกันภัยไปยกรถยนต์ป้ายแดง มาตามถนนพระราม 5 ตัดใหม่จากด้านถนนวงศ์สว่างมุ่งหน้าจังหวัดนครปฐม เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถกระบะคันที่โจทก์รับประกันภัยชนท้ายรถกระบะหมายเลขทะเบียน บฉ 2657 นนทบุรี ซึ่งแล่นอยู่ด้านหน้าได้รับความเสียหาย โจทก์ได้ชำระค่าซ่อมรถยนต์ดังกล่าวไปเป็นเงิน 43,314 บาท เนื่องจากโจทก์เห็นว่า รถกระบะที่จำเลยที่ 2 เอาประกันภัยไม่ได้เป็นรถลากจูงโดยสภาพ กล่าวคือ ไม่ได้เป็นรถลากจูงโดยเฉพาะซึ่งจะต้องระบุประเภทว่าใช้ในการพาณิชย์ แต่เป็นรถกระบะที่ได้ดัดแปลงสภาพรถเป็นรถยก เข้าข้อยกเว้นทั่วไปซึ่งการประกันภัยไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจากการลากจูงหรือผลักดันตามกรมธรรม์ประกันภัยและโจทก์สามารถเรียกค่าซ่อมรถกระบะหมายเลขทะเบียน บฉ 2657 นนทบุรี คืนจากจำเลยที่ 2 ได้ โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยทั้งสองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 บัญญัติให้คู่ความแก้ไขคำให้การได้ก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ในกรณีไม่มีการชี้สองสถาน คดีนี้ไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้ดำเนินการชี้สองสถาน โดยศาลชั้นต้นได้กำหนดนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยวันที่ 10 พฤศจิกายน 2549 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การวันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 จึงยังไม่พ้นกำหนดตามบทบัญญัติดังกล่าว ในครั้งแรกจำเลยทั้งสองให้การว่า “รถกระบะมีสภาพเป็นรถยกก่อนจะนำไปเอาประกันภัยไว้กับโจทก์ ซึ่งโจทก์ก็ทราบดีอยู่แล้วตั้งแต่วันที่รับประกันภัย จึงได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย เมื่อรถยนต์ของจำเลยที่ 2 กระทำให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลภายนอก โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 2 ให้แก่บุคคลภายนอกและเมื่อโจทก์ได้ชำระไปแล้ว จึงไม่อาจเรียกคืนจากจำเลยทั้งสองได้อีก” ต่อมาจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การ โดยขอเพิ่มเติมข้อ 3 ว่า “หากการใช้รถยนต์ของจำเลยที่ 2 เข้าข้อยกเว้นไม่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ดังกล่าว ข้อ 7.4 หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกเพราะเหตุการใช้ลากจูงหรือผลักดัน ดังนั้น โจทก์มีสิทธิยกข้อต่อสู้เรื่องที่จำเลยใช้รถยนต์ผิดเงื่อนไขและไม่ได้รับการคุ้มครองจากกรมธรรม์เพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อบุคคลภายนอกได้ แต่โจทก์กลับไม่ได้กระทำเช่นนั้น โดยโจทก์ได้สละข้อต่อสู้ที่มีอยู่แล้ว จ่ายค่าเสียหายให้แก่บุคคลภายนอกไป จึงเป็นการจ่ายเงินตามอำเภอใจเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่แล้วว่า ตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระและโจทก์หามีสิทธิจะได้รับคืนเงินนั้นไม่” ตามคำให้การของจำเลยทั้งสองครั้งแรกอ้างว่าโจทก์ไม่อาจเรียกค่าสินไหมทดแทนคืนจากจำเลยทั้งสอง เพราะเป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย ส่วนในคำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การ อ้างว่าโจทก์ไม่อาจเรียกค่าสินไหมทดแทนคืนจากจำเลยทั้งสองเพราะโจทก์ไม่ยกเหตุข้อยกเว้นที่โจทก์ไม่ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยขึ้นปฏิเสธต่อบุคคลภายนอก จึงเป็นข้ออ้างต่อสู้เพิ่มเติมขึ้นมาโดยไม่ได้ลบล้างข้อต่อสู้เดิมและอ่านเข้าใจได้ว่า เป็นการกล่าวยืนยันตามข้อเท็จจริงที่ให้การไว้แต่แรก แม้คำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การจะมีข้อความว่า “โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง” ในตอนต้น แต่ตอนท้ายจำเลยทั้งสองใช้ถ้อยคำว่า “โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลย” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การมีเจตนาปฏิเสธว่าอย่างไรเสียโจทก์ไม่อาจเรียกคืนเงินค่าสินไหมทดแทนได้ คำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยทั้งสองจึงไม่ขัดแย้งกับคำให้การเดิม การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า คำให้การกับคำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยทั้งสองขัดแย้งกันเอง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ เนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดี ศาลฎีกามีอำนาจเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งยกคำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยทั้งสองและสั่งรับคำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบด้วยมาตรา 247 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น
และเมื่อได้วินิจฉัยเช่นนี้แล้วทำให้คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์สละสิทธิในการปฏิเสธความรับผิดต่อบุคคลภายนอกหรือไม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวศาลชั้นต้นได้ยกขึ้นวินิจฉัยมาแล้ว แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้วินิจฉัยไว้ แต่ศาลฎีกาเห็นว่าคู่ความได้นำสืบพยานหลักฐานไว้แล้ว จึงเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาใหม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ภายหลังเกิดเหตุโจทก์ได้ออกเอกสารความเสียหายให้เจ้าของรถกระบะคันหมายเลขทะเบียน บฉ 2657 นนทบุรี เพื่อนำรถไปซ่อมยังอู่ซ่อมรถ ตามเอกสารรายการความเสียหาย แต่โจทก์ปฏิเสธการชำระค่าเสียหาย นายจรัญ เจ้าของอู่ซ่อมรถร้องเรียนกรมการประกันภัย ต่อมากรมการประกันภัยมีความเห็นว่าโจทก์ต้องรับผิด เห็นว่า บันทึกข้อความที่โจทก์ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อกรมการประกันภัยข้อ 3 ระบุว่า โจทก์ชี้แจงว่า เนื่องจากรถคันที่เอาประกันภัยได้มีการใช้รถผิดเงื่อนไข และเข้าข้อยกเว้นความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ตามข้อ 7.4 โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดตามเงื่อนไขของกรมธรรม์นั้น ฟังได้ว่าโจทก์ได้ยกข้อยกเว้นไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจากใช้รถลากจูงหรือผลักดัน ตามข้อ 7.4 เพื่อปฏิเสธความรับผิดแล้ว แต่ได้ความว่า หากโจทก์ไม่ยอมชำระค่าเสียหายดังกล่าว กรมการประกันภัยจะปรับโจทก์เป็นเงิน 125,000 บาท ซึ่งสูงกว่าค่าซ่อมแซมรถยนต์คันเกิดเหตุ การที่โจทก์ชำระค่าเสียหายแก่บุคคลภายนอกไปจึงมิได้เกิดจากการชำระหนี้ตามอำเภอใจของโจทก์ดังที่จำเลยที่ 2 อ้าง ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share