คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1125/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บำเหน็จตกทอดมิใช่ทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. บรรพ 6
โจทก์และจำเลยที่ 2 ยื่นเรื่องราวขอรับบำเหน็จตกทอดของ ป. ต่อจำเลยที่ 1 โดยต่างฝ่ายต่างอ้างว่าเป็นภริยาของ ป. โจทก์อ้างว่าจดทะเบียนสมรสกับ ป. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2517 ส่วนจำเลยที่ 2 อ้างว่า หย่ากับ ป. ตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาตามยอมในปี 2516 แต่ยังมิได้จดทะเบียนหย่า จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องวินิจฉัยให้เสร็จไปภายในเวลาอันสมควรว่าจะจ่ายบำเหน็จตกทอดให้แก่โจทก์หรือจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 1 ปฏิเสธการจ่าย จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธการจ่าย แต่เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าปฏิเสธการจ่ายเมื่อใด จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่วันฟ้องต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องแก่โจทก์ตามป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๒๘๔,๔๕๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยกรณีพิเศษอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี จากต้นเงิน ๒๒๓,๑๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๒๒๓,๑๐๐ บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องจำเลยที่ ๒
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยแล้ว คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ ประการเดียวว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องชอบแล้วหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ ๑ จะมิได้เป็นลูกหนี้โจทก์โดยตรง แต่หากจำเลยที่ ๑ มีความรับผิดตามกฎหมายที่จะต้องจ่ายบำเหน็จตกทอดของนายประกายผู้ตายให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียก็ต้องถือว่าเป็นหนี้เงิน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คิดดอกเบี้ยได้ ร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในระหว่างเวลาผิดนัด บำเหน็จตกทอดดังกล่าวนี้มิใช่มรดก และกฎหมายมิได้บังคับให้จำเลยที่ ๑ ต้องจ่ายแก่ผู้มีส่วนได้เสียในทันทีที่นายประกายถึงแก่ความตาย แต่จะต้องจ่ายเมื่อมีผู้มีส่วนได้เสียทวงถาม เมื่อโจทก์ยื่นเรื่องราวขอรับบำเหน็จตกทอดของนายประกายต่อจำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๓๙ และจำเลยที่ ๒ ยื่นขอรับบำเหน็จตกทอดเข้ามาอีกคนหนึ่งในวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๓๙ โดยต่างฝ่ายต่างอ้างว่าเป็นภริยาของนายประกาย โจทก์อ้างว่าจดทะเบียนสมรสกับนายประกายเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๑๗ ส่วนจำเลยที่ ๒ อ้างว่า หย่ากับนายประกายตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๒/๒๕๑๖ ของศาลจังหวัดกระบี่ แต่ยังมิได้ไปจดทะเบียนหย่า ที่นายประกายจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ ๑ เป็นการจดทะเบียนสมรสซ้อนนั้น เห็นว่า เมื่อมีการทวงถามเช่นนี้ จำเลยที่ ๑ ในฐานะที่เป็นส่วนราชการผู้รับผิดชอบการจ่ายบำเหน็จตกทอด มีหน้าที่ต้องวินิจฉัยให้เสร็จไปภายในเวลาอันสมควรว่าจะจ่ายบำเหน็จตกทอดให้แก่โจทก์หรือจำเลยที่ ๒ โจทก์ยื่นขอรับบำเหน็จตกทอดแล้วจำเลยที่ ๑ ปฏิเสธการจ่ายจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่จำเลยที่ ๑ ปฏิเสธการจ่ายตั้งแต่ก่อนวันฟ้องแล้ว แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ ๑ ปฏิเสธการจ่ายเมื่อใด จึงถือว่าจำเลยที่ ๑ ผิดนัดตั้งแต่วันฟ้อง ต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน .

Share