แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1548ได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากเด็กการให้ความยินยอมดังกล่าวเป็นการเฉพาะตัวผู้ใช้อำนาจปกครองให้ความยินยอมแทนเด็กไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 อยู่กินฉันสามีภริยามีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ เด็กหญิงกีรติพร ระวังภัย กับโจทก์ที่ 3เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2538 โจทก์ทั้งสามไปที่ว่าการอำเภอเมืองนครปฐม เพื่อขอจดทะเบียนโจทก์ที่ 3 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นปลัดอำเภอรักษาราชการแทนนายอำเภอเมืองนครปฐมไม่ยอมจดทะเบียนให้ อ้างว่าโจทก์ที่ 3ไม่สามารถให้ความยินยอมได้ทั้งนี้โดยมีคำสั่งของจำเลยที่ 2ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ มท. 0302/4227 ลงวันที่ 10 มีนาคม2536 กำหนดไว้ อันเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงและเป็นการขัดต่อกฎหมาย ทำให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายไม่อาจได้รับสิทธิอันพึงมีต่อกันตามกฎหมาย จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม จำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการสังกัดจำเลยที่ 3ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการสังกัดจำเลยที่ 4 ฉะนั้น จำเลยที่ 3และที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะนายจ้างหรือผู้บังคับบัญชาด้วย โจทก์ทั้งสามคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 1 บาทนอกจากนี้ การที่จำเลยที่ 2 ออกหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ มท. 0302/4227 ดังกล่าว เป็นการขัดต่อกฎหมาย ขอให้พิพากษาว่าโจทก์ที่ 3 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 1 หรือให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันจดทะเบียนโจทก์ที่ 3 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 1 เพิกถอนหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ มท. 0302/4227 ลงวันที่ 10 มีนาคม 2536 และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าทดแทนความเสียหายจำนวน 1 บาท แก่โจทก์ทั้งสามด้วย
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 รักษาราชการแทนนายอำเภอเมืองนครปฐมนายทะเบียน โจทก์ที่ 1 และที่ 2พาโจทก์ที่ 3 ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2537 (อายุ 5 เดือนเศษ)ยังเป็นผู้เยาว์ไร้เดียงสามายื่นคำร้องขอจดทะเบียนโจทก์ที่ 3เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ไม่อาจจดทะเบียนให้ได้เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1548กำหนดให้เด็กและมารดาเด็กต้องให้ความยินยอมในการจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กไม่อาจให้ความยินยอมได้จะต้องมีคำพิพากษาของศาลให้บิดาจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรได้เสียก่อนโจทก์ที่ 3 ยังเป็นผู้เยาว์ไร้เดียงสา ไม่อาจให้ความยินยอมได้ด้วยตนเอง โจทก์ทั้งสามต้องไปใช้สิทธิทางศาลก่อน จำเลยที่ 1จึงจะดำเนินการให้ได้ จำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับและกฎหมาย และโจทก์ทั้งสามมิได้เสียหาย จำเลยทั้งสี่จึงมิได้กระทำละเมิดและไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสาม หนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ มท. 0302/4227 ลงวันที่ 10 มีนาคม 2536 มิได้เป็นหนังสือเวียนหรือหนังสือสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดสั่งการให้นายทะเบียนทราบและถือปฏิบัติ แต่เป็นเพียงหนังสือตอบข้อหารือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นการเฉพาะราย การที่จำเลยที่ 1ไม่จดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชายด้วยกฎหมายให้โจทก์ทั้งสามนั้นจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติตามหนังสือดังกล่าว แต่เป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสามจึงไม่อาจขอให้เพิกถอนหนังสือดังกล่าวได้โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 3เป็นบุตรนอกกฎหมายของโจทก์ที่ 1 ที่โจทก์ที่ 1 ยอมรับแล้วขณะที่โจทก์ที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนโจทก์ที่ 3 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายนั้น โจทก์ที่ 3 อายุประมาณ 5 เดือน คู่ความตกลงกันให้ศาลวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเพียงประเด็นเดียวว่า โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาและเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองโจทก์ที่ 3 มีอำนาจให้ความยินยอมแทนโจทก์ที่ 3 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1548 วรรคแรกหรือไม่
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การแสดงเจตนาให้ความยินยอมของเด็กในการจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1548 วรรคแรก เด็กต้องให้ความยินยอมด้วยตนเอง อันเป็นการเฉพาะตัว มารดาไม่อาจแสดงเจตนาให้ความยินยอมแทนได้ โจทก์ที่ 2 จึงไม่อาจให้ความยินยอมแทนโจทก์ที่ 3 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ ทั้ง สาม อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ ทั้ง สาม ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์ที่ 3 เป็นบุตรนอกกฎหมายของโจทก์ที่ 1 ที่โจทก์ที่ 1ยอมรับแล้ว และขณะที่โจทก์ที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนโจทก์ที่ 3เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายนั้น โจทก์ที่ 3 มีอายุประมาณ 5 เดือนคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามว่าการให้ความยินยอมของโจทก์ที่ 3 ที่จะเป็นผลให้โจทก์ที่ 1 จดทะเบียนโจทก์ที่ 3เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1548 วรรคแรก บัญญัติถึงหลักเกณฑ์ในการจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายไว้ว่า บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็กซึ่งเป็นบทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นใหม่ ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533มาตรา 32 โดยข้อความเดิมได้บัญญัติถึงการจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายจะกระทำได้ต่อเมื่อเด็กหรือมารดาเด็กไม่คัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนมิใช่บิดาเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าบทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นใหม่ประสงค์วางหลักเกณฑ์ไว้เข้มงวดกว่าเดิมว่าการที่บิดาจะจดทะเบียนบุตรนอกกฎหมายให้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย จะกระทำได้ต่อเมื่อทั้งเด็กและมารดาเด็กให้ความยินยอม มิใช่เพียงแต่เด็กหรือมารดาเด็กไม่คัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนมิใช่บิดาดังบัญญัติไว้เดิม นอกจากนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1548 ได้บัญญัติถึงทางแก้ในกรณีที่เด็กไม่อาจให้ความยินยอมได้ไว้ในวรรคสามและวรรคสี่ โดยวรรคสามว่า”ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดาหรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล” และวรรคสี่ว่า “เมื่อศาลได้พิพากษาให้บิดาจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรได้ และบิดาได้นำคำพิพากษาไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ให้นายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียนให้”อันเป็นข้อสนับสนุนให้เห็นชัดเจนว่า ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1548 วรรคแรก ประสงค์ให้เด็กเป็นผู้ให้ความยินยอมเป็นการเฉพาะตัว จึงได้บทบัญญัติทางแก้ไขในกรณีเด็กไม่อาจให้ความยินยอมได้ดังกล่าวมาแล้ว ที่โจทก์ทั้งสามฎีกาอ้างว่า โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองโจทก์ที่ 3 โจทก์ที่ 2จึงให้ความยินยอมแทนโจทก์ที่ 3 ได้นั้นฟังไม่ขึ้น เพราะไม่มีกฎหมายบทใดบัญญัติให้โจทก์ที่ 2 ทำการแทนโจทก์ที่ 3 ในกรณีดังกล่าวได้ดังนั้น กรณีที่โจทก์ที่ 3 ต้องให้ความยินยอมในการที่โจทก์ที่ 1จะจดทะเบียนโจทก์ที่ 3 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1548 วรรคแรก เป็นกรณีที่โจทก์ที่ 3ต้องกระทำด้วยตนเอง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน