แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ก่อนเกิดเหตุเด็กหญิง ท. ทะเลาะกับโจทก์ร่วมซึ่งเป็นมารดาและหนีออกจากบ้านไปพักอาศัยอยู่กับเพื่อนที่หอพัก โจทก์ร่วมยังเคยไปตามหาเด็กหญิง ท. ที่หอพักดังกล่าว แต่ไม่พบ บิดามารดายังเอาใจใส่ติดตามตัวอยู่ พฤติการณ์บ่งชี้แสดงให้เห็นว่าเด็กหญิง ท. ยังคงอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ดังนั้นการที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์มารับเด็กหญิง ท. ที่หอพักแล้วพาไปนั่งรถเล่นกับพาไปนั่งฟังเพลงต่อที่ห้องพักของเพื่อนจำเลย และขณะอยู่ในห้องพักจำเลยได้กอดจูบเด็กหญิง ท. จึงเป็นการพาเด็กหญิง ท. ออกจากหอพักไปเที่ยวเล่นโดยเจตนามุ่งหมายที่จะล่วงเกินทางเพศหรือกระทำอนาจารโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือความยินยอมจากบิดามารดา ย่อมทำให้อำนาจปกครองดูแลบุตรผู้เยาว์ของบิดามารดาได้ถูกพรากจากไปโดยปริยาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมววลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2543 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2543 เวลากลางคืนหลังเที่ยงต่อเนื่องกันมาตลอด จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันคือ กล่าวคือจำเลยพรากเด็กหญิงทวีพร ยอดรัก ซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากนายสำราญ ยอดรัก และนางสมพิศ ยอดรัก ซึ่งเป็นบิดามารดาและผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร และจำเลยกระทำอนาจารแก่เด็กหญิงทวีพรโดยใช้กำลังประทุษร้ายกอดรัดโดยเด็กหญิงทวีพรไม่ยินยอมและอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ เหตุเกิดที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317, 279, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณา นางสมพิศ ยอดรัก ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคแรก, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 8 เดือน ฐานพรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีเพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 5 ปี 8 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานกระทำอนาจารเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคแรก ให้ปรับ 9,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้ โดยให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน เป็นเวลา 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับฟังมาซึ่งโจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยมิได้โต้แย้งเป็นอย่างอื่นรับฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า เด็กหญิงทวีพร ยอดรัก เป็นบุตรของนายสำราญ ยอดรัก และโจทก์ร่วม เกิดเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2530 ตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จ.1 คำนวณอายุถึงวันเกิดเหตุคือช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2543 ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2543 ยังมีอายุไม่เกิน 15 ปี และอยู่ในความปกครองดูแลของบิดามารดาที่บ้านเลขที่ 28 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ กับเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ของโรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2543 เด็กหญิงทวีพรทะเลาะกับโจทก์ร่วมแล้วหนีออกจากบ้านไปพักอาศัยอยู่กับเพื่อนที่หอพัก โจทก์ร่วมเคยไปตามหาที่หอพักดังกล่าว แต่ไม่พบ ในช่วงเดือนนั้นเองจำเลยได้ขับรถจักรยานยนต์มารับเด็กหญิงทวีพรที่หอพัก พาไปนั่งเล่นในเมืองบุรีรัมย์แล้วพาไปนั่งฟังเพลงต่อที่ห้องพักของเพื่อนจำเลยซึ่งอยู่บนชั้นบนของบ้านที่ตั้งอยู่ในชุมชนบุลำดวนใต้ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ขณะอยู่ในห้องพักดังกล่าวจำเลยได้กอดเด็กหญิงทวีพรจนถึงเวลาประมาณ 12 นาฬิกา จึงพากลับไปส่งที่หอพัก จำเลยพาเด็กหญิงทวีพรไปกระทำในลักษณะเช่นนี้ 2 ครั้ง ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2543 เวลาประมาณ 20 นาฬิกา จำเลยขับรถจักรยานยนต์มารับเด็กหญิงทวีพรที่หอพักและพาไปที่ห้องพักของเพื่อนจำเลยอีก พบเพื่อนจำเลย 2 คน อยู่ในห้องพัก ครั้นเพื่อนจำเลยทั้งสองคนออกไปซื้ออาหาร จำเลยนอนกอดจูบกับเด็กหญิงทวีพรอยู่บนพื้นโดยเด็กหญิงทวีพรยินยอม ระหว่างนั้นโจทก์ร่วมและญาติได้พาเจ้าพนักงานตำรวจมาจับกุมตัวจำเลยส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี และข้อเท็จจริงยังได้ความจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ซึ่งจำเลยมิได้ฎีกาโต้เถียงฟังเป็นยุติด้วยว่า จำเลยได้กระทำผิดฐานกระทำอนาจารเด็กหญิงทวีพรอายุไม่เกิน 15 ปี อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคแรก ตามฟ้อง คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงว่า จำเลยมีความผิดฐานพรากเด็กหญิงทวีพรอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม อีกกระทงหนึ่งตามฟ้องโจทก์หรือไม่เท่านั้น เห็นว่า แม้ก่อนเกิดเหตุเด็กหญิงทวีพรจะทะเลาะกับโจทก์ร่วมซึ่งเป็นมารดาและหนีออกจากบ้านไปพักอาศัยอยู่กับเพื่อนที่หอพักก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ร่วมยังเคยไปตามหาเด็กหญิงทวีพรที่หอพักดังกล่าว แต่ไม่พบ ย่อมแสดงให้เห็นว่าแม้ในขณะที่เด็กหญิงทวีพรพักอาศัยอยู่กับเพื่อนที่หอพักดังกล่าวนั้น บิดามารดาก็ยังเอาใจใส่ติดตามตัวอยู่ พฤติการณ์บ่งชี้แสดงให้เห็นว่าเด็กหญิงทวีพรยังคงอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ดังนั้น การที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์มารับเด็กหญิงทวีพรที่หอพักแล้วพาไปนั่งรถเล่นที่อำเภอเมืองบุรีรัมย์กับพาไปนั่งฟังเพลงต่อที่ห้องพักของเพื่อนจำเลยและขณะอยู่ในห้องพักจำเลยได้กอดจูบเด็กหญิงทวีพร จึงเป็นการพาเด็กหญิงทวีพรออกจากหอพักไปเที่ยวเล่นโดยเจตนามุ่งหมายที่จะล่วงเกินทางเพศหรือกระทำอนาจารแก่เด็กหญิงทวีพรโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือความยินยอมจากบิดามารดาของเด็กหญิงทวีพรนั่นเองซึ่งผลของการกระทำของจำเลยเช่นนี้ย่อมทำให้อำนาจปกครองดูแลบุตรผู้เยาว์ของบิดามารดาที่มีต่อเด็กหญิงทวีพรได้ถูกพรากจากไปโดยปริยาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า เด็กหญิงทวีพรเข้าไปในห้องพักที่เกิดเหตุและอยู่ในห้องดังกล่าวกับจำเลยเป็นเวลานานหลายครั้งด้วยความเต็มใจของเด็กหญิงทวีพรเอง และในช่วงเกิดเหตุนั้นเป็นภาวะที่เด็กหญิงทวีพรหนีออกจากบ้านไปพักอาศัยอยู่กับเพื่อนหญิง มิใช่เป็นเพราะถูกจำเลยชักจูงให้หนีออกจากบ้าน การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เข้าลักษณะเป็นการพาไปหรือแยกเด็กไปจากความปกครองดูแลของบิดามารดาอันจะทำให้ความปกครองดูแลของบิดามารดาเด็กถูกรบกวนหรือกระทบกระเทือนนั้น เห็นว่า ความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 กฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะปกป้องคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวนหรือกระทำการใดๆ อันเป็นการกระทบกระทั่งต่ออำนาจปกครอง เมื่อการกระทำของจำเลยดังที่ได้วินิจฉัยมามีผลทำให้อำนาจปกครองของบิดามารดาถูกพรากจากไปเสียโดยปริยาย แม้การกระทำของจำเลยนั้น เด็กจะเต็มใจหรือสมัครใจไปกับจำเลยด้วย ก็หามีผลทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม มานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม อีกกระทงหนึ่ง จำคุก 5 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3.