คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7111/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ฎีกาของจำเลยที่ว่าของกลางที่โจทก์นำไปตรวจพิสูจน์แล้วนำมาฟ้องจำเลยเป็นของกลางที่โจทก์นำมาจากโรงงานของจำเลยโดยเป็นของกลางที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบและส่งขายในท้องตลาด ยังไม่อาจถือได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องนั้น เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 7 อันเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วน จำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1 ได้รับใบอนุญาตให้ผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ชื่อ ดีอีอีที (DEET) ชื่อทางการค้าเปลเล่ (PELLE) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ไล่แมลงชนิดผง จะต้องมีสารดีอีอีที ไม่เกิน 8 เปอร์เซ็นต์ ในสัดส่วน 100 กรัม และมีค่าคลาดเคลื่อนบวก – ลบ ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ จำเลยทั้งสองใช้ชื่อวัตถุอันตรายที่ผลิตดังกล่าวว่า “แป้งทากันยุงเปลเล่” เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2541 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตและขายวัตถุอันตรายชื่อ แป้งทากันยุงเปลเล่ ซึ่งมีส่วนผสมของสารดีอีอีที 12.2 กรัม ในตัวอย่างแป้ง 100 กรัม สูงกว่าที่ขึ้นทะเบียนไว้ 52.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่ถูกต้องตามที่จำเลยทั้งสองได้แสดงบนฉลากแป้งทากันยุงเปลเล่ ซึ่งระบุไว้เพียง 8 เปอร์เซ็นต์ จำเลยที่ 1 ได้รับใบอนุญาตให้ผลิตสินค้าชื่อ แป้งทากันยุงเปลเล่ ซึ่งให้มีส่วนผสมของสารดีอีอีที 8 เปอร์เซ็นต์ และมีกำหนดค่าคลาดเคลื่อน บวก – ลบ ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต็ แต่จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตสินค้าดังกล่าว โดยมีสารดีอีอีทีผสมในสัดส่วน 12.2 กรัม ในแป้งทากันยุง 100 กรัม สูงกว่าที่ขึ้นทะเบียนไว้ถึง 52.5 เปอร์เซ็นต์อันเป็นการผลิตวัตถุอันตรายผิดมาตรฐาน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มาตรา 4, 5, 7, 45, (2), 48 (1) (2), 76, 83 วรรคสาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
จำเลยทั้งสองให้การปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มาตรา 45 (2), 48 (1) (2), 76 วรรคหนึ่ง, 83 วรรคสาม ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันผลิตและขายวัตถุอันตรายที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 40,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 เดือน และปรับ 40,000 บาท ฐานร่วมกันผลิตวัตถุอันตรายผิดมาตรฐาน ให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 100,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี และปรับ 100,000 บาท รวมปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 140,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 4 เดือน และปรับ 140,000 บาท ไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 2 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และหากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับมีกำหนด 1 ปี 6 เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานร่วมกันผลิตวัตถุอันตรายผิดมาตรฐาน ให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 50,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 เดือน และปรับ 50,000 บาท เมื่อรวมกับโทษฐานร่วมกันผลิตและขายวัตถุอันตรายที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้องตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว รวมปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 90,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 เดือน และปรับ 90,000 บาท หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนค่าปรับมีกำหนด 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจว่า “ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า สารที่จำเลยทั้งสองนำมาผลิตแป้งทากันยุงเปลเล่ตามฟ้อง มิใช่สารดีอีอีที แต่เป็นสาร N, N-Dietyl-m-toluamide หรือที่เรียกชื่อสามัญว่า ดีท (DEET) ฟ้องของโจทก์จึงแตกต่างจากข้อเท็จจริงเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสองหลงข้อต่อสู้หรือไม่เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันผลิตและขายวัตถุอันตรายที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง และฐานร่วมกันผลิตวัตถุอันตรายผิดมาตรฐาน ซึ่งตามคำฟ้องของโจทก์ก็ระบุชัดเจนว่า สารที่จำเลยทั้งสองใช้ผลิตแป้งทากันยุงเปลเล่ เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ชื่อ ดีอีอีที (DEET) มีชื่อทางการค้าว่าเปลเล่ (PELLE) อีกทั้งใบอนุญาตผลิตวัตถุอันตรายและใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 ซึ่งโจทก์อ้างส่งต่อศาลนั้น ก็ใช้ชื่อวัตถุอันตรายว่า DEET ซึ่งจำเลยที่ 2 เบิกความยอมรับว่า ส่วนประกอบที่สำคัญของแป้งเปลเล่ได้แก่สารดีอีอีที บ่งแสดงว่าจำเลยทั้งสองมิได้หลงข้อต่อสู้แต่อย่างใด เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาไม่แตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวมาในฟ้อง ศาลจึงยกฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง หาได้ไม่ ส่วนฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่า ของกลางที่โจทก์นำไปตรวจพิสูจน์แล้วนำมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นของกลางที่โจทก์นำมาจากโรงงานของจำเลยที่ 1 โดยของกลางดังกล่าวมิได้ผ่านการตรวจสอบและส่งขายในท้องตลาด ยังไม่อาจถือได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดตามฟ้องของโจทก์นั้น เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 7 อันเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาในส่วนนี้ของจำเลยทั้งสองมาด้วย ก็ไม่มีผลทำให้ฎีกาดังกล่าวของจำเลยทั้งสองเป็นฎีกาที่ชอบด้วยกฎหมายไปได้ ศาลฎกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน.

Share