แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่ ว. เพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมจำนวน 570,000 บาท แล้ว ว. สลักหลังโอนเช็คนั้นให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ แม้โจทก์จะเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายในขณะที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินก็ตาม แต่การที่ ว.ให้จำเลยกู้ยืมเงินไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้ยืมทั้งเช็คก็มิใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืม จึงฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653การที่จำเลยออกเช็คพิพาทชำระหนี้เงินกู้ยืมให้ ว. เป็นการชำระหนี้ที่ไม่มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ.2534 มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับภายหลัง จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนายวินัย เงินเกื้อกูล ผู้ทรงเช็คพิพาทคนแรกว่า จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.1 ให้แก่นายวินัยเพื่อชำระหนี้เงินยืมแล้วนายวินัยได้สลักหลังโอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้แม้โจทก์จะเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายในขณะที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินก็ตาม แต่การที่นายวินัยให้จำเลยกู้ยืมเงินจำนวน 570,000 บาท นี้ ไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้ยืม ทั้งเช็คก็มิใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืม จึงฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 วรรคแรก ซึ่งระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ออกมาใช้บังคับ โดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น
(2) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้
(3) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น
(4) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้
(5) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยทุจริต
เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ”การที่จำเลยออกเช็คพิพาทชำระหนี้เงินกู้ยืมที่ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือให้แก่นายวินัย เป็นการชำระหนี้ที่ไม่มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในภายหลัง จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรคสอง กรณีไม่มีเหตุที่จะต้องแก้ไขคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1
พิพากษายืน