แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4 คำว่าอาคารหมายความถึง ตึก บ้าน เรือน โรง แพ คลังสินค้า สำนักงาน และสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่น ซึ่งบุคคลอาจเข้าอยู่หรือเข้าใช้สอยได้ จำเลยปลูกเพิงหลังคามุงสังกะสีและตีฝาด้วยสังกะสี ขนาดกว้าง6 เมตร ยาว 6 เมตร เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและทำการค้าขายขึ้นในที่ดินในเขตเทศบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้จะใช้วัสดุค้ำหลังคาไว้ อันมีลักษณะเป็นการชั่วคราวสามารถรื้อถอนได้โดยง่ายก็ตาม ก็มีสภาพเป็นอาคารตามความหมายที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ส่วนคำว่าก่อสร้าง นั้น พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 4 ก็ได้ให้คำนิยามไว้ว่า หมายถึงสร้างอาคารขึ้นใหม่ทั้งหมด เมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวให้คำนิยามไว้โดยเฉพาะแล้วย่อมจะนำเอาความหมายตามพจนานุกรมมาใช้ไม่ได้ การที่จำเลยสร้างอาคารขึ้นใหม่ทั้งหมดจึงเป็นการก่อสร้างอาคารแม้จะเป็นการชั่วคราวก็ไม่อาจกระทำได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินสวนหย่อมสาธารณะบริเวณหน้าวัดอัมพาราม ในท้องที่เขตเทศบาลตำบลหัวหินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน และเป็นที่ดินของรัฐแล้วทำการก่อสร้างอาคารโรงเรือนชั้นเดียวหลังคามุงสังกะสี และตีฝาอาคารด้วยสังกะสี ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 6 เมตรเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและค้าขายของชำซึ่งเป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรมตามกฎหมายขึ้นใหม่ทั้งหมด โดยอาคารที่ก่อสร้างขึ้นดังกล่าวมีจำเลยเป็นเจ้าของทั้งนี้ โดยจำเลยไม่มีสิทธิครอบครองที่ดิน และไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9, 108, 108 ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 ข้อ 11พระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 21, 65, 70, 71ให้จำเลยและบริวารของจำเลยออกจากที่ดินซึ่งเข้าไปยึดถือครอบครองดังกล่าวด้วย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9, 108, 108 ทวิ ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่29 กุมภาพันธ์ 2515 ข้อ 11 พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 4, 21, 65, 70, 71 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดจำคุก 6 เดือน ปรับ 6,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือนปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกรอไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56ให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินซึ่งเข้าไปยึดถือครอบครองด้วยศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามคำให้การของจำเลยและหนังสือขอความกรุณาอาศัยที่ทำมาหากินเป็นการชั่วคราวพร้อมภาพถ่ายเพิงอาศัยค้าขายปรากฎว่า จำเลยได้ปลูกเพิงเป็นที่อยู่อาศัยและขายเครื่องดื่มและสินค้าพื้นเมืองขึ้นชั่วคราวในที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยไม่ได้รับอนุญาตจริงมีปัญหาตามที่จำเลยฎีกาว่า การที่จำเลยปลูกเพิงดังกล่าวจะเป็นการก่อสร้างอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 หรือไม่นั้น เห็นว่าตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4 คำว่าอาคารหมายความถึง ตึกบ้าน เรือน โรง ร้าน แพ คลังสินค้าสำนักงาน และสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นซึ่งบุคคลอาจเข้าอยู่หรือเข้าใช้สอยได้ ดังนั้นเพิงที่จำเลยปลูกขึ้นอยู่อาศัยและทำการค้าขายด้วยนั้น แม้จะใช้วัสดุค้ำหลังคาไว้ อันมีลักษณะเป็นการชั่วคราวสามารถรื้อถอนได้โดยง่ายก็ตาม ก็มีสภาพเป็นอาคารตามความหมายที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ ส่วนคำว่าก่อสร้าง นั้น พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4 ก็ได้ให้คำนิยามไว้ว่า หมายถึงสร้างอาคารขึ้นใหม่ทั้งหมด เมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวให้คำนิยามไว้โดยเฉพาะแล้ว ย่อมจะนำเอาความหมายตามพจนานุกรมมาใช้แก่คดีนี้ไม่ได้ การที่จำเลยสร้างอาคารขึ้นใหม่ทั้งหมดจึงเป็นการก่อสร้างอาคาร แม้จะเป็นการชั่วคราวก็อาจกระทำได้ ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยชอบแล้ว”
พิพากษายืน