แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ขณะที่จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเพื่อประกันหนี้เงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2556 คดีที่โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้อง ล. กับจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินทั้งสองแปลงอยู่ในระหว่างฎีกายังไม่ถึงที่สุด ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 แจ้งข้อความตามที่ปรากฏในโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงต่อเจ้าพนักงานที่ดินผู้จดทะเบียนจำนองในขณะนั้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินทั้งสองแปลง ซึ่งก็ตรงตามเอกสารที่แท้จริง จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 แจ้งข้อความตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ทั้งเจ้าพนักงานที่ดินผู้จดทะเบียนจำนองไม่ได้สอบถามจำเลยที่ 1 ว่ามีคดีพิพาทเกี่ยวกับที่ดินหรือไม่ และจำเลยที่ 1 มิได้หลอกลวงให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาททั้งสองแปลง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 และ 267
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 86, 91, 137, 267
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 267 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมสองกระทง เป็นจำคุก 12 เดือน ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทั้งเจ็ดกับจำเลยที่ 1 และนางลาวัณย์ เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน โดยเป็นบุตรของนายสังคมกับนางยันทา เมื่อนางยันทาถึงแก่ความตาย ศาลมีคำสั่งตั้งนางลาวัณย์เป็นผู้จัดการมรดก ต่อมาศาลมีคำสั่งถอน นางลาวัณย์ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก และมีคำสั่งตั้งโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางยันทาแทน ตามสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในขณะที่นางลาวัณย์ยังเป็นผู้จัดการมรดกของนางยันทา นางลาวัณย์ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 15783 และ 15786 ตำบลสร้างแป้น อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนางยันทาให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อมาโจทก์ทั้งเจ็ดได้ฟ้องนางลาวัณย์และจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่งขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวพร้อมกับที่ดินแปลงอื่น และกำจัดมิให้นางลาวัณย์กับจำเลยที่ 1 รับมรดกของนางยันทา จากนั้นเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2555 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินทั้งสองแปลง และให้กำจัดนางลาวัณย์และจำเลยที่ 1 มิให้รับมรดกของนางยันทา ตามสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต่อมาวันที่ 5 สิงหาคม 2556 จำเลยที่ 1 นำที่ดินโฉนดเลขที่ 15783 และ 15786 ไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะคู่สมรสลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในการทำนิติกรรมดังกล่าว คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 และไม่อนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า คดีที่โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องนางลาวัณย์กับจำเลยที่1 ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 15783 และ 15786 พร้อมที่ดินแปลงอื่น และให้กำจัดนางลาวัณย์กับจำเลยที่ 1 มิให้รับมรดกของนางยันทา อยู่ในระหว่างฎีกายังไม่ถึงที่สุด ดังนั้น เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2556 การที่จำเลยที่ 1 แจ้งข้อความต่อนายฉัตรชัย เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุทัยธานี สาขาเพ็ญ ผู้จดทะเบียนจำนองในขณะนั้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวเป็นการแจ้งข้อความตามความเป็นจริงตามที่ปรากฏในโฉนดที่ดินซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์จึงมิได้เป็นข้อความเท็จ นั้น เห็นว่า โจทก์ที่ 1 เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสามรับว่า คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1641/2554 ของศาลจังหวัดอุดรธานี ที่โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องนางลาวัณย์กับจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินทั้งสองแปลงพร้อมที่ดินแปลงอื่น อยู่ในระหว่างฎีกา คดียังไม่ถึงที่สุด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2556 คดีดังกล่าวยังคงอยู่ในระหว่างฎีกายังไม่ถึงที่สุด ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 แจ้งข้อความตามที่ปรากฏในโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงต่อนายฉัตรชัย เจ้าพนักงานที่ดินผู้จดทะเบียนจำนองในขณะนั้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาททั้งสองแปลง ซึ่งก็ตรงตามเอกสารที่แท้จริง จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 แจ้งข้อความตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ อีกทั้งนายฉัตรชัยพยานโจทก์ซึ่งเป็นพยานคนกลางเบิกความถึงขั้นตอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินได้ความว่า พยานสอบสวนสิทธิของผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามแบบ ท.ด.1 โดยตรวจสอบว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีความสามารถตามกฎหมายและเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ตามสารบัญจดทะเบียนหรือไม่ หลังจากตรวจสอบแล้ว พยานได้ดำเนินการจดทะเบียนจำนองให้แก่เจ้าของที่ดินโดยไม่ได้สอบถามจำเลยที่ 1 ว่ามีคดีพิพาทเกี่ยวกับที่ดินหรือไม่ และจำเลยทั้งสามมิได้หลอกลวงให้พยานจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาททั้งสองแปลง ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าข้อความที่จำเลยที่ 1 แจ้งต่อนายฉัตรชัยนั้นเป็นความเท็จ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการอื่นอีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามฟ้องมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง