คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8012/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ก่อนที่สัญญาจ้างระหว่างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดกับจำเลยจะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 จำเลยได้ประกาศแจ้งให้ลูกจ้างทราบว่าบริษัท ก. ได้ขยายระยะเวลาว่าจ้างจำเลยออกไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2548 และให้ลูกจ้างทั้งหมดเข้าทำสัญญาจ้างแรงงานกับจำเลยต่อไปจนครบกำหนดระยะเวลาที่บริษัท ก. ขยายออกไป แต่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดได้ทำบันทึกเสนอต่อฝ่ายบุคคลของจำเลยว่าไม่ประสงค์ต่อสัญญากับจำเลยและคืนบัตรลูกจ้างในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 อันเป็นวันสิ้นสุดสัญญาจ้างแล้วไม่ไปทำงานอีกเลย จำเลยมิได้กระทำการใดๆ เพื่อมิให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ด

ย่อยาว

คดีทั้งสิบเอ็ดสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นดคีเดียวกัน โดยเรียกชื่อโจทก์ทั้งสิบเอ็ดสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 11 ตามลำดับ และเรียกจำเลยทั้งสิบเอ็ดสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งสิบเอ็ดฟ้องใจความทำนองเดียวกันว่า ระหว่างเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2545 ถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 2547 จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดทำงานเป็นลูกจ้าง ทำหน้าที่พนักงานขับรถยกและช่างซ่อมบำรุง ได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน ยกเว้นเฉพาะโจทก์ที่ 9 ซึ่งเป็นช่างซ่อมบำรุงเพียงผู้เดียวที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือนในอัตราเดือนละ 6,744 บาท โดยสัญญาจ้างแรงงานที่จำเลยทำกับโจทก์ทั้งสิบเอ็ดนั้นมีกำหนดเวลาสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2548 ครั้นเมื่อสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลงตามกำหนดดังกล่าว โจทก์ทั้งสิบเอ็ดและจำเลยไม่ได้ต่อสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวกันอีกต่อไป ถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดแล้ว โจทก์ทั้งสิบเอ็ดทำงานกับจำเลยติดต่อกันมาเป็นระยะเวลาระหว่างครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ถึงครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี โจทก์ทั้งสิบเอ็ดจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเป็นเงินตามจำนวนที่ปรากฏในคำฟ้องของโจทก์แต่ละสำนวนแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ด ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ด พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์แต่ละคน
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2544 บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ทำสัญญาว่าจ้างให้จำเลยเป็นผู้ทำการขนส่งและขนถ่ายสินค้า วัสดุ สิ่งของ ภายในกองคลังสินค้าของบริษัทดังกล่าว มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2545 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 โดยตกลงให้จำเลยเป็นผู้จัดหารถยก (รถโฟร์คลิฟท์) พร้อมคนขับ ซึ่งจำเลยได้ทำสัญญาว่าจ้างพนักงานให้ทำงานในโครงการดังกล่าว 239 คน ซึ่งรวมโจทก์ทั้งสิบเอ็ดด้วย โดยตกลงให้สัญญาจ้างสิ้นสุดในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 แต่ก่อนที่สัญญาจ้างบริการระหว่างบริษัทดังกล่าวกับจำเลยจะสิ้นสุดลง บริษัทดังกล่าวได้ขยายระยะเวลาตามสัญญาจ้างบริการกับจำเลยออกไปอีกจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2548 จำเลยจึงแจ้งให้พนักงานทุกคนรวมทั้งโจทก์ทั้งสิบเอ็ดที่มีความประสงค์จะทำงานกับจำเลยต่อไปตามกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างบริการที่ขยายระยะเวลาออกไปให้เข้าทำสัญญาจ้างแรงงานกับจำลย ปรากฏว่าพนักงานส่วนใหญ่ได้เข้าทำสัญญาจ้างและทำงานกับจำเลยต่อไป เว้นแต่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดที่กลับแจ้งแก่จำเลยว่าไม่ประสงค์จะทำสัญญาจ้างใหม่กับจำเลยต่อไปอีก โดยโจทก์ที่ 3 ได้ยื่นหนังสือลาออกจากงานแล้ว โจทก์ทั้งสิบเอ็ดก็ไม่ได้ทำงานให้จำเลยอีก กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ด จึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 11 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดประกอบกิจการหลักในการให้เช่ารถยนต์ทุกประเภท เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2544 บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ทำสัญญาจ้างบริการว่าจ้างจำเลยให้ทำการขนส่งและขนถ่ายสินค้า วัสดุ สิ่งของภายในกองคลังสินค้าของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) มีกำหนดเวลาจ้าง 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2545 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 จำเลยจึงได้ทำสัญญาจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดเพื่อไปทำงานดังกล่าว โดยว่าจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 6 และที่ 10 เข้าทำงานวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2545 โจทก์ที่ 2 เข้าทำงานวันที่ 6 ธันวาคม 2545 โจทก์ที่ 3 เข้าทำงานวันที่ 26 เมษายน 2545 โจทก์ที่ 4 และที่ 5 เข้าทำงานวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2545 โจทก์ที่ 7 เข้าทำงานวันที่ 3 มีนาคม 2547 โจทก์ที่ 8 เข้าทำงานวันที่ 12 กรกฎาคม 2547 โจทก์ที่ 9 เข้าทำงานวันที่ 22 มกราคม 2545 และโจทก์ที่ 11 เข้าทำงานวันที่ 6 เมษายน 2545 แต่ในสัญญาว่าจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดกำหนดให้สัญญาจ้างสิ้นสุดพร้อมกันในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 ต่อมาเมื่อเดือนมกราคม 2548 บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งขยายระยะเวลาว่าจ้างจำเลยออกไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2548 จำเลยจึงประกาศแจ้งให้ลูกจ้างจำเลยทราบและให้ลูกจ้างทั้งหมดเข้าทำสัญญาจ้างแรงงานกับจำเลยในโครงการดังกล่าวต่อไปจนครบกำหนดระยะเวลาที่บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ขยายออกไปคือจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2548 ลูกจ้างของจำเลยในโครงการดังกล่าวส่วนใหญ่ประสงค์จะทำงานต่อไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2548 แต่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดได้ทำบันทึกเสนอต่อฝ่ายบุคคลของจำเลยว่าไม่ประสงค์ต่อสัญญากับจำเลยและขอคืนบัตรพนักงานในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 อันเป็นวันสิ้นสุดสัญญาจ้างของโจทก์ทั้งสิบเอ็ด สำหรับโจทก์ที่ 3 ยังได้ยื่นใบลาออกลงวันที่ 15 มกราคม 2548 ตามแบบพิมพ์ของจำเลยแจ้งความประสงค์ขอลาออกเนื่องจากครบกำหนดสัญญาจ้างตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นต้นไป โจทก์ทั้งสิบเอ็ดทำงานให้จำเลยจนถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 แล้วไม่ได้ทำงานให้จำเลยอีกต่อไป มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบเอ็ดว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง บัญญัติว่า “การเลิกจ้างตามมาตรานี้หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไป และไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป” ซึ่งหมายความว่า นายจ้างต้องกระทำการใดๆ เพื่อไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้จึงจะเป็นการเลิกจ้างตามบทบัญญัติดังกล่าว ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาได้ความว่า ก่อนที่สัญญาจ้างระหว่างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดกับจำเลยจะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 จำเลยได้ประกาศแจ้งให้ลูกจ้างทราบว่าบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ขยายระยะเวลาว่าจ้างจำเลยออกไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2548 และให้ลูกจ้างทั้งหมดเข้าทำสัญญาจ้างแรงงานกับจำเลยในโครงการดังกล่าวต่อไปจนครบกำหนดระยะเวลาที่บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ขยายออกไป แต่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดได้ทำบันทึกเสนอต่อฝ่ายบุคคลของจำเลยว่าไม่ประสงค์ต่อสัญญากับจำเลยและคืนบัตรลูกจ้างในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 อันเป็นวันสิ้นสุดสัญญาจ้างแล้วไม่ไปทำงานอีกเลย ทั้งโจทก์ที่ 3 ยังได้ยื่นใบลาออกลงวันที่ 15 มกราคม 2548 โดยลาออกตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นต้นไป ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เห็นได้ว่าจำเลยยังไม่ประสงค์จะให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดทำงานต่อไป แต่ฝ่ายโจทก์ทั้งสิบเอ็ดเองที่ไม่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยต่อไป จำเลยหาได้กระทำการใดๆ เพื่อมิให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้แต่อย่างใดไม่ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ด ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบเอ็ดฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share