แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินสองปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย 10,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ส่วนโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี แม้จะเป็นการแก้ไขมาก โจทก์ก็ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 โจทก์ฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษและริบของกลาง เป็นการโต้เถียงดุลพินิจของศาลในการลงโทษจำเลย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๔ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓, ๘๓ และริบรถยนต์ของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาลงโทษจำเลย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินสองปี ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย ๑๐,๐๐๐ บาท อีกสถานหนึ่ง ส่วนโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ แม้จะเป็นการแก้ไขมากโจทก์ก็ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๙ ซึ่งบัญญัติว่า “ในคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกินกำหนดที่ว่ามานี้ ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงแต่ข้อห้ามนี้มิให้แก่จำเลยในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลย” ที่โจทก์ฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษและริบของกลาง เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกา ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์มาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาโจทก์