แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างอาจเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 หรือมาตรา 123 และอาจเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ด้วยก็ได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมโดยให้โจทก์ได้รับสิทธิและผลประโยชน์ตามเดิมทุกประการ เป็นการฟ้องเรื่องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 โจทก์มิได้มุ่งประสงค์ที่จะกล่าวหาว่า การเลิกจ้างของจำเลยเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 หรือ มาตรา 123 แม้โจทก์มิได้ยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ก่อนตามมาตรา 124 โจทก์ก็มีอำนาจฟ้อง
แม้คำขอบังคับท้ายฟ้องของโจทก์จะขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมและโจทก์ได้รับสิทธิและผลประโยชน์ตามเดิมทุกประการ โดยมิได้ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายก็ตาม แต่ศาลแรงงานมีความเห็นว่าโจทก์กับจำเลยไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ หากโจทก์กลับไปทำงานกับจำเลยย่อมจะก่อให้เกิดปัญหาในการทำงานอย่างแน่นอน ศาลแรงงานจึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้ให้แก่โจทก์แทนการรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมได้ ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ไม่ถือว่าเกินไปกว่าคำฟ้องของโจทก์
—————————————-
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์เข้าทำงานตามเดิมโดยให้โจทก์ได้รับสิทธิและผลประโยชน์ตามเดิม ทุกประการ ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างตั้งแต่เลิกจ้างถึงวันฟ้องเป็นเงิน 155,320 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยชำระค่าจ้างในอัตราเดือนละ 13,200 บาท แก่โจทก์พร้อม ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์เข้าทำงานตามเดิม ให้จำเลยชำระหรือส่งเงินสมบทเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริษัทโพสต์พับลิซซิ่ง จำกัด (มหาชน) นับจากวันที่ 31 ธันวาคม 2540 ถึงวันฟ้อง เป็นเงิน 11,088 บาท และในอัตราเดือนละ 924 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์เข้าทำงานพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์จำเลยไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ศาลแรงงานกลางจึงกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์โดยคำนึงถึงมูลเหตุแห่งการเลิกจ้างที่ไม่เป็นความจริง อายุและระยะการทำงานของโจทก์ ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่จำเลยไม่จ่าย พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 280,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 มกราคม 2542 (วันฟ้อง) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิเคราะห์แล้วคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่นั้น เห็นว่า การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างอาจเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมดาตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 หรือมาตรา 123 และอาจเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ด้วยก็ได้ การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า การเลิกจ้างของจำเลยที่เลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมโดยให้โจทก์ได้รับสิทธิและผลประโยชน์ตามเดิมทุกประการนั้น เป็นการฟ้องเรื่องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ส่วนคำบรรยายฟ้องของโจทก์ที่อ้างว่าโจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์และเป็นผู้เข่าร่วมคัดค้านการที่จำเลยเลิกจ้างนายวิชาญ เรืองนนท์ และโจทก์เป็นผู้ที่ร่วมกับสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ในการต่อสู้ขัดขวางขจัดความไม่เป็นธรรม อันเนื่องมาจากการกระทำของฝ่ายบริหารจำเลยนั้น ก็เพื่อสนับสนุนคำฟ้องของโจทก์ในเรื่องการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์นั้นมีลักษณะเป็นการกลั่นแกล้ง มิได้มีเหตุผลอันสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์เท่านั้น โจทก์มิได้มุ่งประสงค์ที่จะกล่าวหาว่าการเลิกจ้างของจำเลยเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 หรือมาตรา 123 แต่อย่างใด ฉะนั้นแม้โจทก์จะมิได้ยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ก่อนตามมาตรา 124 โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องคดีนี้
ปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางที่กำหนดให้จำเลยชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้คำขอบังคับท้ายฟ้องของโจทก์จะขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมและให้โจทก์ได้รับสิทธิและผลประโยชน์ตามเดิม ทุกประการ โดยมิได้ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายก็ตาม แต่ศาลแรงงานกลางเห็นว่าโจทก์กับจำเลยไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ หากโจทก์กลับไปทำงานกับจำเลยย่อมจะก่อให้เกิดปัญหาในการทำงานอย่างแน่นอน ศาลแรงงานกลาง จึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้ให้แก่โจทก์แทนการรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 คำพิพากษาดังกล่าวไม่ถือว่าเกินไปกว่าคำฟ้องของโจทก์
พิพากษายืน .
(ปัญญา สุทธิบดี – กมล เพียรพิทักษ์ – พูนศักดิ์ จงกลนี)
ศาลแรงงานกลาง – นายประทีป อ่าววิจิตรกุล
ศาลอุทธรณ์ –
นายเอกศักดิ์ ยันตรปกรณ์ ย่อสั้น
นายกรัณย์ กาญจนรินทร์ ย่อยาว
นายไพโรจน์ โรจน์อภิรักษ์กุล ตรวจ
นายไมตรี ศรีอรุณ ผู้ช่วยฯ/ตรวจ