คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2258/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 5 กำหนดคำนิยามของคำว่าเจ็บป่วยหมายความว่า การที่ลูกจ้างเจ็บป่วยหรือถึงแก่ความตายด้วยโรค ซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงานของลูกจ้างแต่ละรายโดยพิจารณาตามลักษณะหรือสภาพของงานนั้น โดยหาได้มีข้อจำกัดว่า การที่ลูกจ้างเจ็บป่วยหรือถึงแก่ความตายในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ให้แก่นายจ้างไม่ การตายของผู้ตายจึงเป็นการตายด้วยโรค ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง เห็นได้ว่าลักษณะและสภาพของงานที่ผู้ตายทำซึ่งต้องใช้แรงงานมาก และต้องอยู่กับสภาพเสียงดังก่อให้เกิดความอ่อนเพลียและความเครียดแก่ผู้ตายเป็นอย่างมาก แล้วฟังว่าผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยโรคหลอดโลหิตหัวใจล้มเหลวอันเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง กรณีจึงถือได้ว่า ผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยโรคซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ รส 0722/8661 และที่ รส 0711/8445 และบังคับให้จำเลยชำระเงินทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองเป็นรายเดือนจำนวนร้อยละหกสิบของเงินเดือน 32,000 บาท สำหรับโจทก์ที่ 1 นับแต่วันที่ผู้ตายถึงแก่ความตายไปจนกว่าจะครบ 8 ปี ส่วนโจทก์ที่ 2 กำลังศึกษาในระดับอุดมศึกษาอีกสองปีจึงจะสำเร็จการศึกษา จำเลยต้องจ่ายเงินทดแทนให้โจทก์ที่ 2 นับแต่วันเดียวกันจนกว่าจะสำเร็จการศึกษา
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 ตามหนังสือที่ รส 0722/8661 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ตามหนังสือที่ รส 0711/8445 ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2541 ให้จำเลยคำนวณจ่ายเงินแก่โจทก์ที่ 1 ในสิทธิอันพึงได้ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 นับแต่วันที่ 19 มีนาคม 2541 ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 5 บัญญัติคำนิยาม เจ็บป่วย หมายความว่า การที่ลูกจ้างเจ็บป่วยหรือถึงแก่ความตายด้วยโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงาน เห็นได้ว่าจากนิยามคำว่า เจ็บป่วย ดังกล่าว จะต้องเป็นกรณีที่ลูกจ้างเจ็บป่วยหรือถึงแก่ความตายด้วยโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงาน หรือเนื่องจากการทำงานของลูกจ้างแต่ละรายโดยพิจารณาตามลักษณะหรือสภาพของงานนั้น ๆ เช่น งานที่ลูกจ้างทำได้รับความลำบากตรากตรำและเป็นงานที่หนักมากน้อยเพียงใด หรือเนื่องจากการทำงานของลูกจ้าง ลูกจ้างต้องใช้ร่างกายทำงานอย่างหนักจนร่างกายอ่อนเพลีย ไม่มีเวลาพักผ่อน มีอาการเครียดจนลูกจ้างเจ็บป่วยหรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้างหรือไม่ ทั้งตามคำนิยามของบทบัญญัติดังกล่าวก็หาได้มีข้อจำกัดว่าการที่ลูกจ้างเจ็บป่วยหรือถึงแก่ความตายด้วยโรคที่เกิดขึ้นนั้น จะต้องเป็นการเจ็บป่วยหรือถึงแก่ความตายในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ให้แก่นายจ้างดังที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ หากการที่ลูกจ้างเจ็บป่วยหรือถึงแก่ความตายด้วยโรคซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง กรณีก็ต้องด้วยคำว่า เจ็บป่วย ตามคำนิยามของบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว คดีนี้ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ผู้ตายทำงานตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2541 ถึงวันที่ 19 เดือนเดียวกัน ซึ่งเป็นวันที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย โดยแทบไม่มีเวลาพักผ่อน ย่อมก่อให้เกิดความอ่อนเพลียและความเครียดแก่ผู้ตายมาก แม้ผู้ตายจะมีเวลาพักผ่อนบ้างก็เป็นการพักผ่อนในเรือเพื่อพร้อมปฏิบัติหน้าที่ตลอดเวลาจนกว่าเรือจะแล่นถึงประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนางพลูศรี แพทย์ผู้เคยตรวจร่างกายของผู้ตายกับนายสมพูล กรรมการแพทย์ของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนพยานจำเลยเบิกความว่า หากทำงานเหนื่อยมาก พักผ่อนน้อย อ่อนเพลียมาก มีอาการเครียด โอกาสเป็นโรคหลอดโลหิตหัวใจล้มเหลวก็มีได้ การตายของผู้ตายจึงเป็นการตายด้วยโรคซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างดังกล่าว เช่นนี้ เห็นได้ว่า ศาลแรงงานกลางได้พิจารณาถึงลักษณะและสภาพของงานที่ผู้ตายทำซึ่งต้องใช้แรงงานมาก และต้องอยู่กับสภาพเสียงดังก่อให้เกิดความอ่อนเพลียและความเครียดแก่ผู้ตายอย่างมาก แล้วฟังว่าผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยโรคหลอดโลหิตหัวใจล้มเหลวอันเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้าง กรณีจึงถือได้ว่าผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยโรคซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน ต้องด้วยคำนิยามว่า เจ็บป่วย ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 5 คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share