คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3424/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ได้มีการเปิดทำการแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวขึ้นในเขตท้องที่ดังกล่าวแล้ว จำเลยซึ่งเป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้น แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว การที่ศาลชั้นต้นไม่โอนคดีไปพิจารณาในแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว แสดงว่าศาลชั้นต้นเห็นแล้วว่าไม่สมควรโอนคดีไปการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นจึงชอบ และศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวก็ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ แต่หากศาลฎีกาเห็นสมควรก็มีอำนาจที่จะนำวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนมาใช้ได้ตามมาตรา 136 ประกอบมาตรา 59 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 277, 83
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 83, 277 วรรคสาม ขณะกระทำผิดจำเลยที่ 1 อายุ 14 ปีเศษ จำเลยที่ 2 อายุ 17 ปีเศษ และจำเลยที่ 3 อายุไม่เกินยี่สิบปี ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยทั้งสามคนละกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. 53, 75 และ 76 แล้ว คงจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 25 ปี จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 16 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 12 ปี 6 เดือน
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงหรือไม่นั้น เห็นได้ว่าการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำชำเราผู้เสียหายนั้น มิได้เกิดจากการบังคับขู่เข็ญหรือข่มขืนใจผู้เสียหายเลย จริงอยู่ผู้เสียหายเบิกความยืนยันว่าผู้เสียหายไม่ยินยอมและพยายามที่จะขัดขืน แต่พฤติการณ์ที่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้มีการพูดข่มขู่หรือประทุษร้าย ผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 ถอดกางเกงของผู้เสียหายได้โดยไม่ลำบาก ทั้งขณะกระทำชำเรากันยังมีการใช้ผ้าห่มคลุมตัวคนทั้งสองให้ปิดบังจากสายตาผู้อื่น และผู้เสียหายมิได้แสดงกิริยาอาการขัดขืนเมื่อถูกจำเลยที่ 3 เข้ามากอดจูบและกระทำชำเรา ร้อยตำรวจเอกไพศาล สุวรรณทา พนักงานสอบสวนมาเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่าในวันเกิดเหตุได้สอบถามผู้เสียหาย ผู้เสียหายแจ้งเพียงว่าถูกจำเลยที่ 1 กอดและจับนม ทั้งไม่ติดใจเอาความ จึงบอกให้บิดามารดาผู้เสียหายกลับไป ซึ่งก็สอดคล้องกับคำเบิกความของผู้เสียหายที่ตอบทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถามค้านว่า ตอนแรกผู้เสียหายบอกเจ้าพนักงานตำรวจว่าจะไม่เอาเรื่องกับจำเลยทั้งสาม ซึ่งน่าจะเป็นข้อสนับสนุนว่า ผู้เสียหายมิได้ถูกจำเลยทั้งสามกับพวกบังคับข่มขืนใจให้จำยอมต่อสิ่งใดแต่อย่างใด คดีจึงยังไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำชำเราผู้เสียหายโดยผู้เสียหายไม่ยินยอมเช่นกัน พฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสามได้กระทำชำเราผู้เสียหายในเวลาต่อเนื่องกันตามที่โจทก์นำสืบมายังไม่พอฟังว่า จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันกระทำชำเราผู้เสียหายอันมีลักษณะเป็นการโทรมผู้เสียหาย และโดยผู้เสียหายนั้นไม่ยินยอมอันจะเป็นความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังมา แต่การที่จำเลยทั้งสามได้กระทำชำเราผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี และไม่ใช่ภริยาของตน ไม่ว่าผู้เสียหายจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ย่อมเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 และเหตุดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้ฎีกาขึ้นมาด้วยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225
อนึ่งที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ขอให้โอนคดีไปให้ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว เป็นผู้พิจารณาพิพากษา หรือใช้วิธีการเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 เห็นว่าคดีนี้โจทก์ได้ยื่นฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นเยาวชนร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 3 ซึ่งไม่ใช่เด็กหรือเยาวชนต่อศาลชั้นต้นและระหว่างการพิจารณาได้มีการเปิดแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวขึ้นในศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจที่จะโอนคดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปพิจารณาพิพากษาในศาลชั้นต้นแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวได้ แต่การที่ศาลชั้นต้นมิได้ดำเนินการดังกล่าวแสดงว่าศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าไม่สมควรโอนคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปพิจารณาพิพากษาในศาลชั้นต้นแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นมิได้โอนคดีของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปพิจารณายังแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวของศาลชั้นต้น แต่ได้ทำการพิจารณาพิพากษาคดีของจำเลยทั้งสามไปพร้อมกันจึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว และคดีนี้ไม่อาจโอนคดีของจำเลยที่ 1 ไปพิจารณาพิพากษาในศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาได้ แต่อย่างไรก็ดี หากศาลฎีกาเห็นสมควร ศาลฎีกามีอำนาจที่จะนำวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนมาใช้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ ทั้งนี้โดยอาศัยมาตรา 136 ประกอบมาตรา 59 ของ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ฎีกาในส่วนนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง ขณะกระทำผิด จำเลยที่ 1 อายุ 14 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 75 กึ่งหนึ่ง จำเลยที่ 2 และที่ 3 อายุกว่า 17 ปี แต่ยังไม่เกิน 20 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้ตามมาตรา 76 คนละกึ่งหนึ่งให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 6 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพต่อศาล ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่ง ลดโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละหนึ่งในสาม ตามมาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี จำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 4 ปี ขณะกระทำผิด จำเลยที่ 1 อายุ 14 ปีเศษ ถือว่ายังอ่อนด้อยในด้านสติปัญญาและความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ขณะนี้อายุกว่า 20 ปีแล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาเล่าเรียนในระดับอุดมศึกษา จึงให้นำวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 106 มาใช้บังคับแก่จำเลยที่ 1 โดยให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้มีกำหนด 2 ปี แต่เพื่อให้จำเลยที่ 1 หลาบจำไม่คิดกระทำความผิดอีก จึงให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 อีกสถานหนึ่งโดยลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา 75 ปรับ 15,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามตาม มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 10,000 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 107 โดยให้ส่งตัวจำเลยที่ 1 ไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมในสถานฝึกและอบรมในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มีกำหนด 3 เดือน สำหรับจำเลยที่ 3 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า ต่อมาจำเลยที่ 3 กับผู้เสียหายได้สมรสกันแล้ว เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2540 จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 277 วรรคท้าย

Share