แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีที่ศาลเดิมตัดสินแล้วและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ศาลเดิมพิจารณาพิพากษาใหม่นั้น คู่ความมีสิทธิที่จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ การที่ศาลเดิมรวบรัดตัดสินตามคำสั่งศาลอุทธรณ์นั้น หาเป็นเหตุตัดสิทธิคู่ความที่จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ถ้าหากฎีกาขึ้นมาภายในกำหนดอายุความ ข้อกฎหมายที่เสนอขึ้นมาไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้พะยาน ถ้าพะยานที่เบิกความแตกต่างกัน ศาลย่อมเลือกฟังเอาได้ แล้วแต่เหตุผล+สาระสำคัญในคดีเป็นเรื่อง ๆ ไปที่ดินปกครอง กรรมสิทธิ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยถ่ายมูลดินที่จำเลยทำเหมืองแร่ทับที่โจทก์เสียหาย จึงขอให้ห้ามแลเรียกค่าเสียหาย
ทางพิจารณาได้ความว่า ที่พิพากเป็นที่สวนไม่มีหนังสือสำหรับที่ โจทก์ได้รับซื้อฝากไว้จาก จ. เมื่อ 30 ปีมาแล้วแต่การขายฝากไม่มีหนังสือต่อกัน โจทก์ได้ปกครองมาตั้งแต่รับขายฝากจนกระทั่งเกิดคดีนี้ ส่วนจำเลยนำสืบว่าที่พิพากนี้เป็นของมารดาจำเลยยกให้จำเลยในชั้นแรกศาลเดิมเห็นว่าโจทก์เป็นแต่ผู้รับขายฝากไม่มีอำนาจฟ้องในเรื่องกรรมสิทธิที่ดิน พิพากษาให้ยกฟ้องแต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลเดิมยังมิได้ชี้ขาดในข้อเท็จจริงที่คู่ความโต้เถียงกันขึ้นมา จึงให้ศาลเดิมพิจารณาพิพากษาใหม่
ศาลเดิมฟังว่า โจทก์เป็นผู้รับขายฝากไว้ แลได้ปกครองโดยอำนาจปรปักษ์มากว่า 10 ปี แล้ว ที่วิวาทนี้จึงเป็นกรรมสิทธิของโจทก์ จึงพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 50 บาท
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาว่า (1) ศาลเดิมไม่ให้โอกาศจำเลยคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ศาลเดิมตัดสินใหม่คือรวบรัดตัดสินใหม่เสียภายใน 9 วันเท่านั้น (2) โจทก์ผู้รับซื้อฝากจะมีอำนาจฟ้องเกี่ยวกับกรรมสิทธิโดยลำพังหรือไม่ (3) ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตาม ม.1374, 1375 และ (4) พะยานโจทก์ให้การแตกต่างกัน ศาลเลือกฟังได้หรือไม่
ศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหาข้อ 1.นับแต่ศาลเดิมได้อ่านคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ให้ฟังแล้ว คู่ความไม่พอใจจะฎีกาเมื่อไรก็ได้เมื่อไม่พ้นกำหนดอายุฎีกาการที่ศาลเดิมตัดสินใหม่ตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ หาเป็นเหตุตัดสิทธิจำเลยที่จะฎีกาไม่ ส่วนปัญหาข้อ 2 – 4 จำเลยเสนอข้อกฎหมายมาโดยไม่ต้องกับข้อเท็จจริง โดยศาลล่างฟังว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่นี้ ที่ศาลพูดด้วยเรื่องขายฝากก็เป็นการแสดงมูลแห่งการได้มาซึ่งกรรมสิทธิเท่านั้น แลคำพะยานที่แตกต่างกันนั้น ศาลย่อมเลือกฟังได้แล้วแต่เหตุผลแลสาระสำคัญในคดีเป็นเรื่อง ๆ ไป ส่วนฎีกาข้อ 3.จำเลยไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวชั้นศาลต้นจึงไม่รับวินิจฉัย จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์