แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในคดีอาญาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 นั้น จะต้องกระทำก่อนสิ้นสุดระยะเวลาอุทธรณ์เว้นแต่กรณีมีเหตุสุดวิสัย
ทนายจำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 9 สิงหาคม 2545 ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์มีกำหนด 30 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปถึงวันที่ 6 กันยายน 2545 ดังนั้น การที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ในวันที่ 12 กันยายน 2545 จึงเป็นกรณีที่จำเลยมิได้ยื่นคำร้องก่อนสิ้นระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด
จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์มีกำหนด 30 วันต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 9 สิงหาคม 2545 โดยมีหมายเหตุท้ายคำร้องว่า “ข้าพเจ้ารอฟังคำสั่งอยู่ถ้าไม่รอถือว่าทราบแล้ว” พร้อมทั้งลงลายมือชื่อทนายจำเลยผู้ร้องไว้ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันกับที่จำเลยยื่นคำร้องขอว่า อนุญาตให้ขยายเวลาถึงวันที่ 6 กันยายน 2545 ย่อมถือได้ว่าทนายจำเลยผู้ร้องทราบคำสั่งศาลในวันที่ยื่นคำร้องแล้ว ข้อที่อ้างว่าจำเลยเชื่อถือคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ศาลว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 12 กันยายน 2545 ทำให้ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ก่อนสิ้นระยะเวลาดังกล่าว ถือเป็นความบกพร่องของทนายจำเลยเอง มิใช่มีเหตุสุดวิสัย
ทนายจำเลยป่วยเจ็บเพราะเกิดอุบัติเหตุทำให้สมองกระเทือนต้องพักรักษาตัวโดยไม่ปรากฏว่ามีอาการถึงขนาดที่จะทำให้ไม่สามารถทำคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์มายื่นได้ทันก่อนสิ้นระยะเวลา จึงไม่ถือเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มีกำหนด 6 ปี 8 เดือน ทนายจำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 9 สิงหาคม 2545 ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์มีกำหนด 30 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันกับที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปถึงวันที่ 6 กันยายน 2545 ต่อมาวันที่ 12 กันยายน 2545 ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่สองมีกำหนด 7 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายเวลายื่นอุทธรณ์พ้นกำหนดเวลาที่ศาลอุทธรณ์ให้ขยายเวลายื่นอุทธรณ์ จึงไม่มีเหตุที่จะอนุญาต ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่ามีเหตุที่จะขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า การขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 นั้น จะต้องกระทำก่อนสิ้นสุดระยะเวลาอุทธรณ์เว้นแต่กรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ส่วนคำว่า เหตุสุดวิสัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 หมายถึง เหตุที่ทำให้ศาลไม่สามารถมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาหรือคู่ความไม่สามารถมีคำขอเช่นนั้นขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ซึ่งเป็นพฤติการณ์นอกเหนือที่จะกระทำได้ก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ คดีนี้ปรากฏว่าทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2545 ทั้งที่ครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายถึงวันที่ 6 กันยายน 2545 จึงเป็นกรณีที่จำเลยมิได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ก่อนสิ้นระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ที่จำเลยฎีกาว่า เหตุที่จำเลยไม่ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ก่อนสิ้นระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด เพราะเจ้าหน้าที่ของศาลชั้นต้นแจ้งให้ฝ่ายจำเลยทราบว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 12 กันยายน 2545 จำเลยจึงเชื่อถือคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ศาล ทำให้จำเลยไม่ได้ยื่นคำร้องขอขยายก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์นั้น เห็นว่า จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์มีกำหนด 30 วันต่อศาลชั้นต้น ในวันที่ 9 สิงหาคม 2545 โดยมีหมายเหตุท้ายคำร้องว่า “ข้าพเจ้ารอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอถือว่าทราบแล้ว” พร้อมทั้งลงลายมือชื่อทนายจำเลยผู้ร้องไว้ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันกับที่จำเลยยื่นคำร้องขอว่า อนุญาตให้ขยายเวลาถึงวันที่ 6 กันยายน 2545 ย่อมถือได้ว่าทนายจำเลยผู้ร้องทราบคำสั่งศาลในวันที่ยื่นคำร้องแล้ว ข้ออ้างที่ว่าจำเลยเชื่อถือคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ศาลว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 12 กันยายน 2545 ทำให้ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ก่อนสิ้นระยะเวลาดังกล่าว ถือเป็นความบกพร่องของทนายจำเลยเอง กรณีจึงมิใช่มีเหตุสุดวิสัย เมื่อข้อเท็จจริงเป็นเรื่องที่จำเลยเข้าใจว่าศาลอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ของจำเลยไปถึงวันที่ 12 กันยายน 2545 ดังนั้น ข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยที่ว่า ทนายจำเลยป่วยเจ็บเพราะเกิดอุบัติเหตุทำให้สมองกระทบกระเทือนต้องพักรักษาตัว โดยไม่ปรากฏว่ามีอาการถึงขนาดที่จะทำให้ไม่สามารถทำคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์มายื่นได้ทันก่อนสิ้นระยะเวลา จึงไม่ถือเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัยเช่นเดียวกัน ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ของจำเลย และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า หากศาลฎีกาไม่อนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลาในการอุทธรณ์แล้ว ขอศาลฎีกาได้โปรดพิจารณาลงโทษจำเลยในสถานเบาด้วยนั้น เห็นว่า คดีนี้ปัญหาในชั้นอุทธรณ์และฎีกาคงมีว่า มีเหตุที่จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้จำเลยหรือไม่ ปัญหาตามที่จำเลยฎีกาในข้อนี้จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน