คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7739/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การจ่ายค่าตอบแทนการทำงานหรือสวัสดิการไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา เงินเบี้ยเลี้ยง หรือเงินสวัสดิการต่างๆ แก่ลูกจ้างเป็นหน้าที่ของนายจ้างหรือจำเลยไม่ใช่ของบริษัทนำเที่ยวผู้ว่าจ้างจำเลยขนส่งนักท่องเที่ยว การที่จำเลยยินยอมให้บริษัทนำเที่ยวจ่ายเงินให้ลูกจ้างหรือโจทก์ทั้งหกโดยตรงก็เพื่อความสะดวกที่ลูกจ้างจะได้รับเงินเร็วขึ้น โดยเงินที่ได้รับยังเท่าเดิม และเพื่อให้เกิดความชัดเจนไม่มีปัญหาข้อขัดแย้งติดตามมา ทั้งจำเลยมิได้กระทำไปโดยไม่สุจริตหรือมีเจตนากลั่นแกล้ง จำเลยย่อมมีอำนาจในการบริหารจัดการงานของตนเองได้ตามเหตุผลที่จำเป็นและสมควร จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดไม่ใช่ข้อสาระสำคัญของสภาพการจ้างเดิม ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง

ย่อยาว

คดีทั้งหกสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งหกสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ตามลำดับ และเรียกจำเลยทั้งหกสำนวนว่า จำเลย
โจทก์ทั้งหกสำนวนฟ้องเป็นใจความทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งหกเป็นลูกจ้างจำเลย ทำหน้าที่พนักงานขับรถ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2547 จำเลยเปลี่ยนแปลงสัญญาจ้างแรงงาน จากเดิมบริษัทนำเที่ยวผู้ว่าจ้างจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงให้โจทก์ทั้งหกซึ่งทำงานขับรถนำเที่ยว มิได้จ่ายเป็นค่าล่วงเวลาหรือเงินเบี้ยเลี้ยงแทนจำเลย จำเลยออกประกาศเรื่องค่าล่วงเวลา ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2547 ให้พนักงานขับรถทุกคนส่งมอบเอกสารการใช้รถระบุรายละเอียดวัน เวลา และสถานที่ใช้รถ เวลาพัก และเวลาเลิกงานประจำวัน ตลอดจนรายการอื่น ๆ เท่าที่จำเป็นต่อการคำนวณค่าล่วงเวลาและเงินเบี้ยเลี้ยง โดยให้นำส่งที่แผนกรถของจำเลยภายในกำหนดเวลา และออกประกาศเรื่องเก็บค่าขนส่งผู้โดยสารเกินเวลาจากบริษัทนำเที่ยวและลูกค้าทั่วไป โดยกำหนดให้พนักงานขับรถที่รับใบงานไปทำทัวร์มีหน้าที่รับเงินค่าขนส่งโดยสารเกินเวลาจากบริษัทนำเที่ยวและหรือลูกค้าทั่วไปซึ่งเป็นลูกค้าหรือผู้ว่าจ้างของจำเลย ซึ่งทางบริษัทนำเที่ยวได้มอบหมายให้มัคคุเทศก์เป็นผู้จ่ายฝากกลับมายังบริษัทจำเลย เป็นการเปลี่ยนสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ทั้งหก เพราะเงินดังกล่าวเป็นเงินเบี้ยเลี้ยงจากบริษัทนำเที่ยวจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งหก ซึ่งทำหน้าที่ขับรถนำเที่ยว ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามสภาพการจ้างเดิมโดยยกเลิกประกาศเรื่องเก็บค่าขนส่งผู้โดยสารเกินเวลาจากบริษัทนำเที่ยวและลูกค้าทั่วไป
จำเลยทั้งหกสำนวนให้การว่า จำเลยและบริษัทในเครือประกอบธุรกิจงานขนส่ง รับจ้างขนส่งนักท่องเที่ยว ก่อนวันที่ 16 ตุลาคม 2547 จำเลยทำสัญญารับจ้างขนส่งกับบริษัทนำเที่ยวต่าง ๆ มีข้อตกลงให้บริษัทนำเที่ยวเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินค่าล่วงเวลา รวมทั้งเงินเบี้ยเลี้ยงในลักษณะเหมาจ่ายต่อวันให้แก่พนักงานขับรถแทนจำเลย กรรมการลูกจ้างและพนักงานขับรถจำเลยบางส่วนฟ้องจำเลยและบริษัทในเครือในเรื่องค่าล่วงเวลา ต่อมาวันที่ 16 ตุลาคม 2547 จำเลยเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารงานภายในเกี่ยวกับค่าล่วงเวลาของพนักงานขับรถทั้งหมด จากเดิมกำหนดและมอบหมายให้บริษัทนำเที่ยวเป็นผู้จ่ายแทนจำเลย จำเลยกำหนดใหม่ให้บริษัทนำเที่ยวส่งเงินค่าขนส่งผู้โดยสารเกินเวลาส่งมอบผ่านพนักงานขับรถเพื่อนำส่งให้แก่จำเลย และจำเลยจ่ายเงินค่าล่วงเวลาตามเวลาที่ปฏิบัติงานจริง ตามเอกสารรายการใช้รถแต่ละครั้ง พนักงานส่วนใหญ่เข้าใจและปฏิบัติตามระเบียบใหม่ คำสั่งเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารเรื่องการเก็บค่าขนส่งเกินเวลาเป็นข้อตกลงระหว่างจำเลยกับบริษัทนำเที่ยว โจทก์มิใช่คู่สัญญาไม่ได้รับสิทธิหรือกระทบกระเทือนสิทธิ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พนักงานขับรถส่วนมากของจำเลยปฏิบัติตามระเบียบ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2547 สหภาพแรงงานของจำเลยและบริษัทในเครือยื่นข้อเรียกร้อง แต่ไม่มีประเด็นเรื่องค่าล่วงเวลา ข้ออ้างของโจทก์ทั้งหกที่ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ทั้งหกจึงยุติ ที่โจทก์ทั้งหกขอให้จำเลยปฏิบัติตามสภาพการจ้างเดิมโดยยกเลิกประกาศเรื่องเก็บเงินค่าขนส่งโดยสารเกินเวลาเป็นการบังคับให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งในทางการบริหารของจำเลย โจทก์ทั้งหกต้องเรียกร้องต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานมีคำสั่งเกี่ยวกับประเด็นพิพาทก่อนจึงจะนำคำสั่งมาสู่ศาลแรงงานได้ คำแนะนำของพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานให้มาฟ้องคดีมิใช่เป็นการโต้แย้งสิทธิ โจทก์ทั้งหกใช้สิทธิโดยไม่สุจริตใช้สิทธิซ้ำซ้อน จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เนื่องจากไม่นำเงินที่มัคคุเทศก์ของบริษัทนำเที่ยวมาส่งมอบให้แก่จำเลยตามประกาศ โจทก์ดังกล่าวได้นำเรื่องไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ซึ่งเรื่องอยู่ในระหว่างเจ้าหน้าที่แรงงานมีหนังสือเชิญตัวแทนนายจ้างไปพบเพื่อยืนยันข้อเท็จจริง การนำคดีมาฟ้องและใช้สิทธิทางเจ้าหน้าที่แรงงานต่างวันเวลากัน แม้จะเป็นคนละข้อกล่าวหาก็เป็นการใช้สิทธิซ้ำซ้อน โดยมีจุดประสงค์อย่างเดียวกัน เมื่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของจำเลยแล้ว สิทธิฟ้องหรือเรียกร้องจึงหมดไป ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการขนส่ง รับขนส่งให้แก่บริษัทนำเที่ยว บริษัทเฟิสท์ ทรานสปอร์ต จำกัด บริษัทโกลเด้นไทยแทรเวล จำกัด และจำเลยเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานพนักงานขนส่งและการท่องเที่ยว สหภาพแรงงานโกลเด้นไทย และสหภาพแรงงานเอสซีสมชัยบริการ โจทก์ทั้งหกทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งพนักงานขับรถ มีเวลาเริ่มทำงานและอัตราค่าจ้างตามที่ระบุไว้ในคำฟ้อง กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือนนอกจากโจทก์ทั้งหกจะได้รับเงินเดือนแล้ว ยังได้รับค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าโชว์ ค่าบิลทัวร์ สำหรับกรุ๊ปทัวร์จากจีนไต้หวัน และได้ค่าดูแลรักษารถ รวมทั้งค่าอยู่เวรในบางกรณี เมื่อเดือนมีนาคม 2547 โจทก์ทั้งหกกับลูกจ้างอื่นเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางเรียกค่าล่วงเวลา ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษายกฟ้อง ตามเอกสารหมาย ล.1 โจทก์ทั้งหกกับพวกอุทธรณ์คำพิพากษาตามเอกสารหมาย จ.11 วันที่ 8 ตุลาคม 2547 จำเลยออกประกาศเกี่ยวกับเงินเบี้ยเลี้ยงและค่าล่วงเวลาตามเอกสารหมาย จล.2 ถึง จล.4 หลังจากจำเลยออกประกาศ สหภาพแรงงานทั้ง 3 แห่งได้ทำหนังสือโต้แย้งคัดค้านตามเอกสารหมาย จล. 5 และยื่นคำร้องต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานให้ช่วยเจรจาข้อขัดแย้ง สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องไปพบและมีการเจรจา ในที่สุดมีการทำบันทึกไว้ตามเอกสารหมาย จล. 6 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2547 วันที่ 27 ธันวาคม 2547 และวันที่ 23 ธันวาคม 2547 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ตามลำดับ ต่อมาโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยว่า กระทำการอันไม่เป็นธรรมต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ข้อพิพาทอยู่ในระหว่างพิจารณาของคณะกรรรมการแรงงานสัมพันธ์ โจทก์ที่ 4 และที่ 5 ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์อ้างว่า จำเลยกระทำการอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับเรื่องไม่มอบงานให้ทำ ข้อพิพาทอยู่ในระหว่างพิจารณาของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จำเลยมีข้อตกลงกับบริษัทนำเที่ยวผู้ว่าจ้างให้ผู้ว่าจ้างจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงหรือค่าล่วงเวลาในลักษณะเหมาจ่ายต่อวันให้แก่พนักงานขับรถแทนจำเลย หลังจากโจทก์ทั้งหกและพนักงานขับรถฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางเรียกเงินค่าล่วงเวลาเมื่อเดือนมีนาคม 2547 แล้ว ต่อมาวันที่ 29 กันยายน 2547 จำเลยจัดประชุมร่วมกับผู้ว่าจ้างซึ่งประกอบกิจการนำเที่ยวที่โรงแรมรามาการ์เด้น ที่ประชุมมีมติให้เปลี่ยนแปลงวิธีการจ่ายค่าล่วงเวลา จากเดิมบริษัทนำเที่ยวผู้ว่าจ้างเป็นผู้จ่ายผ่านมัคคุเทศก์ให้แก่พนักงานขับรถแทนจำเลยผู้รับจ้างเปลี่ยนใหม่เป็นจำเลยผู้รับจ้างเป็นผู้จ่ายให้แก่พนักงานขับรถด้วยตนเอง โดยให้มีผลนับแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2547 เป็นต้นไป วิธีการจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงหรือค่าล่วงเวลาตามคำสั่งใหม่ ให้พนักงานขับรถที่ได้รับเงินเบี้ยเลี้ยงจากมัคคุเทศก์จะต้องลงลายมือชื่อรับเงินไว้ในตอนล่างของใบประเมินผลงานและจัดทำใบส่งเงินโดยลงลายมือชื่อไว้ในตอนท้ายตามเอกสารหมาย ล.12 แผ่นแรก จากนั้นจึงส่งมอบให้แก่ฝ่ายการเงินของจำเลย เมื่อฝ่ายการเงินได้รับใบประเมินผลงาน ใบส่งเงิน และใบรายการใช้รถแล้วจะจัดทำใบเบิกเงินสดย่อยตามเอกสารหมาย ล.12 แผ่นแรกตอนบน ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อของพนักงานขับรถ รถคันที่ขับ ผู้ว่าจ้าง ระยะเวลาการทำงาน และแจกแจงรายได้ที่พนักงานขับรถมีสิทธิได้รับ ซึ่งโดยทั่วไปจำนวนเงินที่พนักงานขับรถนำส่งให้แก่จำเลยและเงินได้ที่ได้รับจากจำเลยตามใบเบิกเงินสดย่อยจะตรงกัน ยกเว้นกรณีมีค่าขนส่งนอกเส้นทางซึ่งเป็นเงินที่บริษัทนำเที่ยวจ่ายให้แก่จำเลย สำหรับระยะเวลาการได้รับเงินโดยทั่วไปพนักงานขับรถที่นำเงินมาส่งในช่วงเช้าจะได้รับเงินในช่วงบ่าย ๆ หากส่งในช่วงบ่ายจะได้รับในช่วงเช้าของวันทำงานถัดไป หลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงหรือค่าล่วงเวลาแบบใหม่แตกต่างจากเดิมแต่เพียงว่าแต่เดิมบริษัทนำเที่ยวเป็นผู้จ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงหรือค่าล่วงเวลาแก่พนักงานขับรถแทนจำเลย แต่วิธีใหม่เมื่อพนักงานขับรถได้รับเงินเบี้ยเลี้ยงจะต้องนำส่งมอบให้จำเลยพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อให้จำเลยคำนวณและแจกแจงรายละเอียดแล้วจำเลยจึงจ่ายให้แก่พนักงานขับรถ สำหรับจำนวนเงินเบี้ยเลี้ยงที่พนักงานขับรถได้รับยังคงมีจำนวนเท่าเดิม ไม่ได้มีจำนวนลดลงแต่อย่างใด
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหกว่า การที่จำเลยประกาศให้โจทก์ทั้งหกรับเงินเบี้ยเลี้ยงหรือค่าล่วงเวลาจากผู้ว่าจ้างแล้วนำส่งจำเลยเพื่อให้จำเลยคำนวณแล้วจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งหก เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างและถือไม่ได้ว่าเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหกว่าโจทก์ทั้งหกยอมรับว่าที่จำเลยประกาศให้โจทก์ทั้งหกรับเงินเบี้ยเลี้ยงหรือค่าล่วงเวลาจากผู้ว่าจ้างแล้วนำส่งจำเลยเพื่อให้จำเลยคำนวณแล้วจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งหก เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างแล้ว แต่โจทก์ทั้งหกเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่านั้น โดยปกติทั่วไป การจ่ายค่าตอบแทนการทำงานหรือสวัสดิการไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา เงินเบี้ยเลี้ยง หรือเงินสวัสดิการต่าง ๆ แก่ลูกจ้างนั้น นายจ้างหรือจำเลยจะต้องเป็นผู้จ่าย ไม่ใช่บริษัทนำเที่ยวผู้ว่าจ้าง การที่จำเลยยินยอมให้บริษัทนำเที่ยวผู้ว่าจ้างจ่ายให้ลูกจ้างหรือโจทก์ทั้งหกโดยตรงก็เพื่อความสะดวกที่ลูกจ้างจะได้รับเงินเร็วขึ้น เมื่อจำเลยเปลี่ยนหลักเกณฑ์และวิธีจ่ายใหม่โดยปรากฏว่า เงินเบี้ยเลี้ยงหรือค่าล่วงเวลาที่ลูกจ้างหรือพนักงานขับรถได้รับยังคงมีจำนวนเท่าเดิมไม่ได้ลดจำนวนลงอย่างใด เพียงแต่ลูกจ้างได้รับเงินล่าช้าไปจากที่ได้รับทันทีเป็นได้รับเมื่อลูกจ้างนำเงินและเอกสารที่เกี่ยวข้องส่งในช่วงเช้าจะได้รับเงินในช่วงบ่าย หากส่งในช่วงบ่ายจะได้รับในช่วงเช้าของวันทำงานถัดไป ประกอบทั้งเหตุที่จำเลยประกาศเปลี่ยนแปลงการจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงหรือค่าล่วงเวลาก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งหกกับพวกซึ่งเป็นพนักงานขับรถฟ้องเรียกให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลา จำเลยจึงต้องประกาศเปลี่ยนแปลงวิธีการจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงหรือค่าล่วงเวลาใหม่เพื่อให้เกิดความชัดเจนไม่มีปัญหาข้อขัดแย้งติดตามมา เมื่อสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่โจทก์ทั้งหกจะได้รับจากการทำงานยังคงมีอยู่เท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำไปโดยไม่สุจริตหรือมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ทั้งหกหรือพนักงานขับรถคนอื่น จำเลยย่อมมีอำนาจในการบริหารจัดการงานของตนเองได้ตามเหตุผลที่จำเป็นและสมควร การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดไม่ใช่ข้อสาระสำคัญของสภาพการจ้างเดิม ยังถือไม่ได้ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share