แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีนี้ โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องการไฟฟ้านครหลวง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ บริษัท ก. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ บริษัท ข. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้รับจ้างและผู้รับจ้างช่วง ก่อสร้างบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน นำเครื่องจักรหนักจำนวนมากมาตั้งปิดหน้าร้านของผู้ฟ้องคดี เป็นเหตุให้ไม่อาจใช้ประโยชน์จากหน้าร้านได้ และการทำงานของเครื่องจักรทำให้ผู้ฟ้องคดีเสียสุขภาพอนามัย กรณีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ข้อพิพาทตามฟ้องเป็นคดีละเมิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้ (๓) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร อันเป็นการจำกัดประเภทคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเฉพาะการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานทางปกครองที่เกิดจากการใช้อำนาจทางปกครอง หรือการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรเท่านั้น ไม่รวมถึงการกระทำละเมิดที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ทั่วไป คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นรัฐวิสาหกิจ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. ๒๕๐๑ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำฟ้อง ผู้ฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยกล่าวหาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามกระทำละเมิด โดยวางเครื่องจักรหนักปิดหน้าร้านค้าของผู้ฟ้องคดีและเครื่องจักรทำงานเสียงดัง เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีเสียสุขภาพ ซึ่งความเสียหายดังกล่าวมิได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ หรือเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร อันจะเข้าหลักเกณฑ์ความรับผิดทางละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวงที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายไม่ได้บัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น