คำวินิจฉัยที่ 64/2561

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเอกชน ยื่นฟ้องกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง เพื่อเรียกคืนเงินค่าใช้จ่ายในการคุ้มครองพยานที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้สำรองจ่ายไป อันเนื่องมาจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งแจ้งสิ้นสุดการคุ้มครองผู้ฟ้องคดีทั้งสองในฐานะพยานในคดีอาญา ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของศาลจังหวัดเพชรบุรีที่เห็นว่ายังมีความจำเป็นจะต้องให้ความคุ้มครองผู้ฟ้องคดีทั้งสองในฐานะพยานในคดีอาญาต่อไป เห็นว่า การคุ้มครองพยานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นเพียงมาตรการของรัฐในการคุ้มครองพยานในคดีอาญาให้มีความปลอดภัย มีการปฏิบัติที่เหมาะสม และได้รับค่าตอบแทนที่จำเป็นและสมควรจากรัฐ เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์ความจริงและเกิดประสิทธิภาพต่อกระบวนการยุติธรรม ดังที่ระบุไว้ในเหตุผล ในการประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ ซึ่งการเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองพยานตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญา ศาล หรือสำนักงานคุ้มครองพยาน อาจจัดให้พยานอยู่ในความคุ้มครองตามที่เห็นสมควร หรือตามที่พยานหรือบุคคลอื่นใดซึ่งมีประโยชน์เกี่ยวข้องร้องขอก็ได้ จึงเห็นได้ว่าการใช้มาตรการคุ้มครองพยานตามพระราชบัญญัตินี้ มิใช่การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ในการที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพหรือสิทธิหน้าที่ของบุคคล อันจะถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามนิยามมาตรา ๕ ของพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ แต่เป็นเพียงมาตรการของรัฐในการที่จะจัดให้พยานอยู่ในความคุ้มครองตามที่เห็นสมควรหรือตามความจำเป็น ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งให้สิ้นสุดการคุ้มครองพยานตามพระราชบัญญัตินี้ จึงมิใช่คำสั่งทางปกครอง ประกอบกับมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัตินี้ บัญญัติว่า ในกรณีผู้ที่ได้รับคำสั่งตามมาตรา ๖ มาตรา ๗ มาตรา ๙ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๒ มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ หรือมาตรา ๑๙ อันมิใช่คำสั่งของศาล ไม่พอใจคำสั่งดังกล่าวให้มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้น โดยยื่นเป็นคำร้องต่อศาลยุติธรรมชั้นต้นซึ่งมิใช่ศาลแขวงและมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาหรือศาลทหารชั้นต้นที่มีเขตอำนาจเหนือคดีนั้น หรือที่บุคคลเหล่านั้นมีที่อยู่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง อันแสดงให้เห็นว่า คำสั่งให้คุ้มครองพยาน คำสั่งให้สิ้นสุดการคุ้มครองพยาน และคำสั่งอื่น ๆ ที่สั่งโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ใช่คำสั่งทางปกครอง และกฎหมายประสงค์ที่จะให้ศาลยุติธรรมหรือศาลทหารแล้วแต่กรณีเป็นศาลที่มีอำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัตินี้ ดังนั้น ปัญหาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องจ่ายเงินค่าใช้จ่ายในการคุ้มครองพยานภายหลังจากที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งให้สิ้นสุดการคุ้มครองพยานคืนแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองหรือไม่ จึงต้องพิจารณาคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ให้สิ้นสุดการคุ้มครองพยานว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติให้ยื่น คำร้องต่อศาลยุติธรรมชั้นต้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share