คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3345/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตามสัญญาเช่าทรัพย์จะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้ใน 2 กรณี คือ โดยกำหนดแห่งสัญญาประการหนึ่ง กับโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายอีกประการหนึ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 386 มิใช่ว่าเมื่อสัญญาเช่าไม่มีข้อกำหนดให้จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าแล้ว จำเลยจะไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเสียเลย
ป.พ.พ. มาตรา 548 กำหนดหน้าที่และความรับผิดของผู้ให้เช่าไว้ว่า ถ้าผู้ให้เช่าส่งมอบทรัพย์สินซึ่งเช่านั้นโดยสภาพไม่เหมาะแก่การที่จะใช้เพื่อประโยชน์ที่เช่ามา ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ดังนั้น หากมีข้อเท็จจริงต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จำเลยย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าต่อโจทก์ได้
จำเลยทำสัญญาเช่าที่จอดรถจากโจทก์เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าของจำเลย ตามสัญญาเช่ากำหนดว่าโจทก์ผู้ให้เช่าเป็นผู้ทำบัตรจอดรถ 100 ใบ มอบให้จำเลยนำไปให้ลูกค้า ซึ่งหากไม่มีบัตรจอดรถลูกค้าของจำเลยที่นำรถเข้าไปจอดจะต้องเสียค่าบริการจอดรถตามปกติ บัตรจอดรถย่อมเป็นสิ่งสำคัญและถือเป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องทำบัตรจอดรถมอบให้แก่จำเลย เมื่อบัตรจอดรถหายไป 83 ใบ และโจทก์ได้ทำบัตรจอดรถใหม่ให้แก่จำเลยแล้ว แม้โจทก์จะอ้างว่าการทำบัตรจอดรถใหม่นั้น จำเลยจะต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและให้จำเลยชำระเงินค่าทำบัตรจอดรถให้แก่โจทก์ก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวอีกเรื่องหนึ่ง จำเลยไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเพราะเหตุดังกล่าว เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์และโจทก์มิได้บอกเลิกสัญญาเช่าต่อจำเลย สัญญาเช่าจึงยังคงมีผลบังคับ แต่จำเลยไม่ชำระค่าเช่าจำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัด การที่จำเลยไม่ได้ให้ลูกค้าของจำเลยนำรถมาจอดในอาคารของโจทก์ ไม่เป็นเหตุที่จำเลยไม่ต้องชำระค่าเช่า จำต้องผูกพันชำระค่าเช่าจนกว่าจะครบสัญญาเช่า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาเช่าที่จอดรถภายในอาคารชุดของโจทก์เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าของจำเลยนำรถเข้ามาจอดในวันเสาร์และอาทิตย์ มีกำหนดการเช่า 1 ปี นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2538 ตกลงจะชำระค่าเช่าเหมาจ่ายวันละ 4,000 บาท ภายหลังทำสัญญาแล้วจำเลยผิดนัดชำระค่าเช่าตั้งแต่งวดเดือนพฤศจิกายน 2538 ขอให้บังคับจำเลยรับผิดชำระหนี้ค่าเช่าค้างชำระ ค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายในการทำบัตรใหม่คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 439,310 บาท และค่าเสียหายในอัตราร้อยละ 1.25 ต่อเดือน จากต้นเงินค่าเช่าที่ค้างชำระจำนวน 348,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยผิดสัญญาเช่า และไม่เคยค้างชำระค่าเช่าตามฟ้องโจทก์ โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 340,345 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 276,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้อง (วันที่ 30 พฤษภาคม 2540) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยรับผิดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่จำเลยมิได้ฎีกาโต้เถียงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยได้ทำสัญญาเช่าที่จอดรถภายในอาคารพหลโยธิน เพลส ของโจทก์ตามสัญญาเช่าที่จอดรถเอกสารหมาย จ.7 ต่อมาเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2539 จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าต่อโจทก์ ตามหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าที่จอดรถเอกสารหมาย ล.5 คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าที่จอดหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 537 บัญญัติว่า “อันว่าเช่าทรัพย์สินนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้เช่า ตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด และผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น” สัญญาเช่าจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องชำระหนี้ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง กับทั้งการที่คู่สัญญาฝ่ายใดจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้นั้น ย่อมสามารถกระทำได้ใน 2 กรณี กล่าวคือ โดยข้อกำหนดแห่งสัญญาประการหนึ่ง กับโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายอีกประการหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 กรณีจึงมิใช่ว่าเมื่อสัญญาที่จอดรถเอกสารหมาย จ.7 ไม่มีข้อกำหนดให้จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าที่จอดรถดังเช่นที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ ตามบทบัญญัติเรื่องเช่าทรัพย์ได้กำหนดหน้าที่และความรับผิดของผู้ให้เช่าไว้ว่า ถ้าผู้ให้เช่าส่งมอบทรัพย์สินซึ่งเช่านั้น โดยสภาพไม่เหมาะแก่การที่จะใช้เพื่อประโยชน์ที่เช่ามา ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 548 ดังนั้น หากมีข้อเท็จจริงต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจำเลยย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าที่จอดรถต่อโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยทำสัญญาเช่าที่จอดรถจากโจทก์เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าของจำเลยนำรถเข้าไปจอด ตามสัญญาเช่าข้อ 2 กำหนดว่า โจทก์ผู้ให้เช่าเป็นผู้ทำบัตรจอดรถจำนวน 100 ใบ เพื่อมอบให้จำเลยนำไปให้ลูกค้า ซึ่งหากไม่มีบัตรจอดรถลูกค้าของจำเลยที่นำรถเข้าไปจอดก็ต้องเสียค่าบริการจอดรถตามปกติ บัตรจอดรถย่อมเป็นสิ่งสำคัญและถือเป็นหน้าที่ของโจทก์ผู้ให้เช่าที่ต้องจัดทำบัตรจอดรถมอบให้แก่จำเลย ปรากฏว่าระหว่างเช่าบัตรจอดรถหายไปจำนวน 83 ใบ แต่ก็ได้ความว่าภายหลังโจทก์ได้ทำบัตรจอดรถใหม่ให้แก่จำเลยแล้ว แม้โจทก์จะอ้างว่าการทำบัตรจอดรถใหม่นั้นจำเลยจะต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและให้จำเลยชำระเงินค่าทำบัตรจอดรถให้แก่โจทก์ก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวอีกเรื่องหนึ่ง จำเลยหามีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าที่จอดรถเพราะเหตุดังกล่าวได้ไม่ เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์และโจทก์มิได้บอกเลิกสัญญาเช่าต่อจำเลย สัญญาเช่าตามเอกสารหมาย จ.7 จึงยังคงมีผลบังคับตามอายุสัญญาเช่า แต่ปรากฏว่าจำเลยไม่ชำระค่าเช่าจำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัด การที่จำเลยไม่ได้ให้ลูกค้าของจำเลยนำรถมาจอดในอาคารของโจทก์ ไม่เป็นเหตุที่จำเลยไม่ต้องชำระค่าเช่า จำเลยต้องผูกพันชำระค่าเช่าจนกว่าจะครบสัญญาเช่า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share