คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2789/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์จดทะเบียนขายฝากที่ดินไว้กับจำเลยในราคา 70,000 บาท กำหนดไถ่คืนใน 1 ปี ก่อนครบกำหนดไถ่ถอนโจทก์กับจำเลยตกลงกันว่า ถ้าที่ดินหลุดเป็นสิทธิแก่จำเลยแล้ว หากโจทก์ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่จำเลยจำเลยยอมให้โจทก์ซื้อที่ดินดังกล่าวคืนในราคา 70,000 บาท โจทก์ได้ชำระดอกเบี้ยให้จำเลยแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมให้ซื้อที่ดินคืน ดังนี้ แม้จะจริงดังที่โจทก์อ้างข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นโมฆะ เพราะเท่ากับเป็นการขยายเวลาไถ่ทรัพย์สิน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 496 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยให้ขายที่ดินคืนแก่โจทก์ตามข้อตกลงนั้น
ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อศาลเห็นสมควรก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่ โจทก์ขายฝากที่ดิน 3 โฉนดไว้กับจำเลยในราคา 70,000 บาท ซึ่งโจทก์ได้รับเงินไปจริง 60,000 บาท ดอกเบี้ย 14,400 บาท ก่อนครบกำหนดไถ่ถอนจำเลยตกลงกับโจทก์ว่า หากโจทก์เสียดอกเบี้ยนั้นให้จำเลยจำเลยยอมให้โจทก์ซื้อคืนในราคา 70,000 บาท โจทก์ได้ชำระดอกเบี้ยให้แก่จำเลยแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมให้โจทก์ซื้อที่ดินคืน ขอให้ศาลบังคับ

จำเลยให้การว่าได้รับซื้อฝากที่ดินไว้ตามฟ้อง ได้ชำระเงินให้โจทก์70,000 บาท ไม่เคยตกลงให้โจทก์เสียดอกเบี้ยหรือให้ไถ่ที่ดินคืน

ศาลชั้นต้นงดสืบพยานทั้งสองฝ่ายแล้ววินิจฉัยว่าข้อตกลงให้ซื้อที่ดินคืนนั้นเท่ากับเป็นการขยายกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์สินขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 496 เป็นโมฆะ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่าโจทก์ทำสัญญาขายฝากที่ดินไว้กับจำเลยมีกำหนดเวลาไถ่ 1 ปี แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามที่โจทก์บรรยายในฟ้องว่า ก่อนครบกำหนดเวลาไถ่ถอนโจทก์กับจำเลยได้ตกลงกันว่าถ้าขายฝากที่ดินทั้งสามแปลงหลุดเป็นสิทธิแก่จำเลยแล้ว จำเลยยินยอมให้โจทก์ซื้อที่ดินทั้งสามแปลงคืนในราคา 70,000 บาท หากโจทก์ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่จำเลยก็ตาม ข้อตกลงที่ให้โจทก์มีสิทธิซื้อที่ดินขายฝากคืนได้นี้ ย่อมมีผลเช่นเดียวกับให้โจทก์มีสิทธิไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากคืนได้แม้จะพ้นกำหนดเวลาไถ่ 1 ปี ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาขายฝาก ซึ่งเท่ากับเป็นการขยายกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์สินต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 496 ข้อตกลงจึงเป็นโมฆะปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลเห็นสมควรก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ฉะนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอบังคับให้จำเลยโอนขายที่ดินคืนตามข้อตกลงดังกล่าวได้ และเมื่อคดีพอวินิจฉัยได้ก็ไม่จำต้องสืบพยาน

พิพากษายืน

Share