คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1390/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 บัญญัติให้พนักงานสอบสวนมีหน้าที่รวบรวม พยานหลักฐานทุกชนิโดยไม่คำนึงว่าจะเป็นหลักฐานที่พนักงานสอบสวนสืบหามาได้เอก หรือที่ผู้เสียหายหรือผู้ต้องหายื่นต่อพนักงานสอบสวน เพื่อเป็นพยาน หรือที่บุคคลภายนอกส่งมา ทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะได้ทราบข้อเท็จจริง และพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา และเพื่อที่จะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิด
คำบรรยายฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๑๕ ถึง ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๑๖ เวลากลางวันและกลางคืน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ซึ่งเป็นรองผู้บังคับกองและผู้บังคับกองสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทราตามลำดับ และเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีอาญาที่กิดขึ้นในเขตท้องที่ของตน ร่วมกันกระทำการทุจริตต่อหน้าที่ กล่าวคือ เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๑๕ นายหนูกับพวกไปแจ้งความต่อจำเลยที่ ๑ ว่า โจทก์กับพวกกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและฉ้อโกง โจทก์จึงถูกจับมาดำเนินคดีโดยมีจำเลยทั้งสองเป็นพนักงานสอบสวนในการสอบสวนคดีดังกล่าว โจทก์ได้นำเอกสารต่าง ๆ มอบต่อพนักงานสอบสวนประกอบคำให้การของโจทก์ เพื่อพนักงานสอบสวนจะได้ทราบข้อเท็จจริงและความบริสุทธิ์ของโจทก์ จำเลยทั้งสองไม่ยอมรับเอกสารต่าง ๆ ของโจทก์เข้าสำนวนสอบสวน โจทก์เห็นว่าจำเลยทั้งสองกลั่นแกล้วเพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหายทั้ง ๆ ที่โจทก์ไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาเลย ครั้นเดือนพฤษภาคม ๒๕๑๖ วันเวลาใดไม่ทราบแน่ชัด พนักงานอัยการจังหวัดฉะเชิงได้รับสำนวนสอบสวนพร้อมด้วยความเห็นของจำเลยที่ ๒ ที่ควรสั่งฟ้องโจทก์ ในที่สุดพนักงานอัยการจังหวัดฉะเชิงเทรา ยื่นฟ้องโจทก์ในข้อหาว่าร่วมกันยักยอกทรัพย์ โจทก์ต่อสู้คดีโดยนำเอกสารที่จำเลยทั้งสองไม่ยอมรับเข้าสืบเป็นพยาน ผลสุดท้ายศาลยกฟ้องคดีถึงที่สุด การกระทำของจำเลยเห็นได้ชัดแจ้งว่า เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์และเพื่อแกล้งให้โจทก์รับโทษทางอาญา เหตุเกิดที่ตำบลท่าสอ้าน ตำบลบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทราเกี่ยวพันกัน ของให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗, ๘๓
ศาลชั้นต้นตรวจฟ้องโจทก์แล้ว เห็นว่าคำฟ้องไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามที่โจทก์อ้าง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๑ บัญญัติว่า “ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริง และพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา และเพื่อที่จะรู้ตัวผู้กระทำความผิด และพิสูจน์ให้เห็นความผิด” เห็นว่าตามบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้พนักงานสอบสวนมีหน้าที่รวบรวมหลักฐานทุกชนิดโดยไม่คำนึงว่าจะเป็นหลักฐานที่พนักงานสอบสวนสืบหามาได้เอง หรือที่ผู้เสียหายหรือผู้ต้องหายื่นต่อพนักงานสอบสวน เพื่อเป็นพยานหรือที่บุคคลภายนอกส่งมา ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา และเพื่อที่จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิด ในฟ้องของโจทก์ ๆ บรรยายว่า ” โจทก์นำเอกสารต่าง ๆ มองต่อพนักงานสอบสวนประกอบคำให้การของโจทก์ เพื่อพนักงานสอบสวนจะได้ทราบข้อเท็จจริง และความบริสุทธิ์ของโจทก์ จำเลยทั้งสองก็ไม่ยอมรับเอกสารต่าง ๆ ของโจทก์เข้าสำนวนการสอบสวน โจทก์จึงเห็นว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันมีเจตนาแกล้วเพื่อให้โจทก์ได้รับโทษ และได้รับความเสียหายทั้ง ๆ ที่โจทก์มิได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาเลย..” และได้บรรยายต่อไปอีกว่า พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลจังหวัดฉะเชิงเทราข้อหาว่าร่วมกันยักยอกทรัพย์ โจทก์ต่อสู้คดีโดยนำเอกสารที่จำเลยทั้งสองไม่ยอมรับเข้าสืบพยาน ผลที่สุดศาลยกฟ้อง และคดีถึงที่สุด การกระทำของจำเลยแสดงให้เห็นชัดแจ้งว่า เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ และเพื่อแกล้งให้โจทก์ได้รับโทษทางอาญา เห็นว่าถ้าจำเลยทั้งสองยอมรับเอกสารต่าง ๆ ที่โจทก์ส่งเข้าสำนวนสอบสวนแล้ว จำเลยทั้งสองก็จะได้รับทราบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม และอาจสั่งไม่ฟ้องโจทก์ก็ได้ แม้จะสั่งฟ้อง เมื่อพนักงานอัยการเห็นเอกสารเหล่านั้นก็อาจจะสั่งไม่ฟ้องก็ได้ คำบรรยายฟ้องของโจทก์ดังที่ยกขึ้นมากล่าวแล้ว จึงมีมูลว่า จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ หรือปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗
พิพากษากลับเป็นว่า ให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้องของโจทก์ตามบทมาตรานี้ต่อไป

Share