แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
(คำสั่ง) ที่ ๔/๒๕๕๐
วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๐
เรื่อง การส่งเรื่องกรณีโต้แย้งเขตอำนาจศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งและวรรคสาม
ศาลจังหวัดไชยา
ระหว่าง
ศาลปกครองนครศรีธรรมราช
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดไชยาโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลในคำให้การและศาลทำความเห็นเกี่ยวกับเขตอำนาจโดยศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๔๙ นางสาวภัทรา แก้วมีศรี ที่ ๑ นางสาวฐิติพร แก้วมีศรี ที่ ๒ โจทก์ ยื่นฟ้องเทศบาลตำบลท่าฉาง ที่ ๑ องค์การบริหารส่วนตำบลเขาถ่าน ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดไชยา เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๑/๒๕๔๙ ความว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่าตามหลักฐานการชำระภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. ๕) ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ ตำบลเขาถ่าน อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื้อที่ ๑๐ ไร่ ๑ งาน ๗๐ ตารางวา โดยที่ดินแปลงดังกล่าว บิดามารดาของโจทก์ทั้งสองปลูกยางพาราเต็มพื้นที่ จำนวน ๗๐๐ ต้นเศษ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ และโจทก์ทั้งสองครอบครองต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ จนถึงปัจจุบัน เมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๔๘ จำเลยที่ ๑ มอบหมายให้ลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ เก็บและขนขยะมูลฝอยในเขตพื้นที่รับผิดชอบของจำเลยที่ ๑ นำไปทิ้งไว้ในที่สาธารณประโยชน์ทุ่งผีเล่นดิก ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๔ ตำบลเขาถ่าน อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี อันเป็นพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ ๒ โดยความยินยอมของจำเลยที่ ๒ ซึ่งพื้นที่ทิ้งขยะดังกล่าวเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับที่ดินและบ้านเรือนของประชาชนโดยรวม ทั้งนี้ อยู่ห่างจากที่ดินของโจทก์ประมาณ ๒๐๐ เมตร และจำเลยที่ ๑ ได้มอบหมายและสั่งการให้ลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ กำจัดขยะมูลฝอยโดยวิธีจุดไฟเผาในที่โล่งแจ้งปราศจากการป้องกันใดๆ ซึ่งการจุดไฟเผาขยะที่มีเป็นจำนวนมาก ทำให้กองขยะดังกล่าวติดไฟอยู่ตลอดเวลานานเป็นเดือน โดยจำเลยทั้งสองมิได้กระทำการใดเพื่อเป็นการป้องกันภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน จำเลยที่ ๒ ในฐานะเจ้าของพื้นที่ผู้รับผิดชอบก็ยินยอมให้จำเลยที่ ๑ จุดไฟเผากองขยะโดยไม่ห้ามปรามหรือทักท้วงแต่อย่างใด อีกทั้งยังไม่กระทำการใดๆ เพื่อเป็นการป้องกันสาธารณภัยที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่อันเป็นหน้าที่โดยตรงของจำเลยที่ ๒ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๘ ลมพัดเอาขยะที่ติดไฟไปตกในที่ดินของโจทก์ ทำให้เกิดไฟลุกไหม้สวนยางพาราของโจทก์เป็นระยะเวลายาวนาน โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบ แต่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่โดยตรงในการป้องกันสาธารณภัยไม่อาจกระทำการใดเพื่อเป็นการบรรเทาแก้ไขภัยที่เกิดขึ้น ทำให้ไฟลุกไหม้ต้นยางพาราของโจทก์ไปทั้งสิ้น ๖๘๐ ต้น โจทก์เห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองถือเป็นการร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้นยางพาราอยู่ในสภาพที่ตายและไม่อาจให้ผลผลิตได้ สภาพดินมีลักษณะเสื่อมโทรม ทำให้โจทก์ต้องขาดรายได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายจำนวน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ไม่ได้กระทำโดยประมาท จำเลยที่ ๑ นำขยะไปทิ้งในที่ดินดังกล่าวโดยได้รับอนุญาตจากอำเภอท่าฉาง และการทิ้งขยะของจำเลยที่ ๑ จะใช้วิธีฝังกลบเท่านั้น ไม่เคยจุดไฟเผา การที่เกิดเพลิงไหม้ตามที่โจทก์อ้างไม่ได้เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ ๑ แต่เกิดจากบุคคลภายนอกจุดคบเพลิงจับ (ตี) ผึ้ง แล้วทิ้งคบเพลิงที่ดับไม่สนิทลงบนพื้นดิน ซึ่งมีใบไม้และหญ้าแห้งเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ลุกลามไปติดสวนยางพาราของโจทก์ นอกจากนั้น โจทก์ทั้งสองยังเรียกค่าเสียหายเกินส่วน ต้นยางพาราของโจทก์ทั้งสองเสียหายเพียง ๔๐ ต้น คิดเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้นเพียง ๑๐,๐๐๐ บาท
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ที่ดินที่จำเลยที่ ๑ ใช้ทิ้งขยะนั้น เป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน หากบุคคลใดจะเข้าไปใช้ประโยชน์ต้องได้รับอนุมัติเป็นหนังสือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย การที่จำเลยที่ ๑ นำขยะไปทิ้งโดยไม่ได้ขออนุญาตจากจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๒ ไม่เคยอนุญาตให้จำเลยที่ ๑ ทิ้งขยะในที่ดินแปลงดังกล่าว การที่จำเลยที่ ๑ นำขยะไปทิ้งโดยได้รับอนุมัติจากอำเภอท่าฉาง ไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ นอกจากนั้น จำเลยที่ ๒ ได้มีการประชุมและมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่ให้จำเลยที่ ๑ ทิ้งขยะในที่ดินดังกล่าว พร้อมทั้งได้มีหนังสือสอบถามไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีว่า การกระทำของจำเลยที่ ๑ ถูกต้องตามกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการหรือไม่ซึ่งจำเลยที่ ๒ ได้รับแจ้งจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีว่า การที่อำเภอท่าฉางอนุญาตให้จำเลยที่ ๑ ทิ้งขยะในที่เกิดเหตุเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๒ ไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ดังที่โจทก์ทั้งสองฟ้อง บริเวณทิ้งขยะของจำเลยที่ ๑ อยู่นอกเหนือความดูแลของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและมิได้กระทำโดยประมาท
อนึ่ง จำเลยทั้งสองให้การว่าโจทก์ทั้งสองฟ้องผิดศาล เนื่องจากโจทก์ทั้งสองอ้างว่าจำเลยที่ ๑ ละเว้นไม่ป้องกันภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน และอ้างว่าจำเลยที่ ๒ ยินยอมให้จำเลยที่ ๑ จุดไฟเผากองขยะไม่ได้ห้ามปรามหรือทักท้วง เป็นเรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดเนื่องจากคำสั่งและจากการละเลยต่อหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ ศาลนี้จึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่โจทก์ฟ้อง โจทก์ต้องไปฟ้องต่อศาลปกครองโดยตรง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลจังหวัดไชยาเห็นว่า จำเลยทั้งสองเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีหน้าที่กำจัดขยะมูลฝอยและป้องกันบรรเทาสาธารณภัยตามกฎหมาย แต่การกระทำดังกล่าวก็เป็นเพียงปฏิบัติการทางปกครองที่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ธรรมดาเพื่อให้กิจการของฝ่ายปกครองเกิดผลสำเร็จเท่านั้น มิใช่เป็นกรณีการปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะที่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย ดังนั้น คดีพิพาทจึงมิใช่เรื่องเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย กฎ หรือคำสั่งทางปกครอง ทั้งประเด็นพิพาทในคดีนี้แม้เป็นเรื่องการฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง ก็มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของรัฐตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชเห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีพิพาทที่โจทก์ทั้งสองกล่าวหาว่าจำเลยที่ ๑ ใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดทำกิจการทางปกครองหรือการบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง ส่วนจำเลยที่ ๒ นอกจากจะมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลในเขตปกครองของจำเลยที่ ๒ แล้ว ยังมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และอำนาจหน้าที่ในการคุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่กลับละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ และเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย และการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ทั้งนี้ ตามคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๒๙/๒๕๔๗ ที่ ๑๐/๒๕๔๘ และที่ ๓/๒๕๔๙
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา การส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งและวรรคสาม หรือไม่
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด ถ้าคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องก่อนวันสืบพยานสำหรับศาลยุติธรรมหรือศาลทหาร หรือก่อนวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกสำหรับศาลปกครองหรือศาลอื่น ในการนี้ให้ศาลที่รับฟ้องรอการพิจารณาไว้ชั่วคราว และให้จัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่คู่ความร้องว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจโดยเร็ว …” และมาตรา ๑๐ วรรคสาม บัญญัติว่า “ความในมาตรานี้ให้ใช้บังคับกับกรณีที่ศาลเห็นเอง ก่อนมีคำพิพากษาโดยอนุโลม” ประกอบกับมาตรา ๑๗ วรรคสอง ให้อำนาจคณะกรรมการในการออกข้อบังคับซึ่งตามข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ในส่วนที่เกี่ยวกับการวินิจฉัยในข้อ ๒๘ บัญญัติว่า “หากคำร้องที่ยื่นไว้ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติ … คณะกรรมการจะมีคำสั่งให้ยกคำร้องเสียก็ได้” และข้อ ๒๙ บัญญัติว่า “ในกรณีดังต่อไปนี้ คณะกรรมการจะสั่งให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบความก็ได้ (๑) เมื่อผู้ร้องขอถอนคำร้อง (๒) การส่งเรื่องให้คณะกรรมการมิได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่พระราชบัญญัติกำหนดไว้ (๓) เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าการพิจารณาไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไป”
ข้อเท็จจริงคดีนี้ เป็นกรณีโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองต่อศาลจังหวัดไชยา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ ๑ กำจัดขยะมูลฝอยด้วยวิธีการจุดไฟเผาในที่สาธารณประโยชน์ทุ่งผีเล่นดิกซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ ๒ โดยปราศจากการป้องกันภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน จำเลยที่ ๒ ในฐานะเจ้าของพื้นที่ยินยอมให้จำเลยที่ ๑ จุดไฟเผาขยะโดยไม่ห้ามปรามหรือทักท้วง ทั้งยังไม่กระทำการใดๆ เพื่อเป็นการป้องกันสาธารณภัยที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่อันเป็นหน้าที่โดยตรงของจำเลยที่ ๒ การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ลมพัดขยะที่ติดไฟไปตกในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ทำให้เกิดไฟลุกไหม้สวนยางพาราของโจทก์เป็นระยะเวลายาวนาน โจทก์ทั้งสองได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบ แต่จำเลยทั้งสองซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการป้องกันสาธารณภัยไม่อาจกระทำการใดเพื่อเป็นการบรรเทาแก้ไขภัยที่เกิดขึ้นได้ จำเลยทั้งสองให้การว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม เนื่องจากโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีโดยอ้างว่าจำเลยที่ ๑ ละเว้นไม่ป้องกันภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน และอ้างว่าจำเลยที่ ๒ ยินยอมให้จำเลยที่ ๑ จุดไฟเผากองขยะโดยไม่ห้ามปรามหรือทักท้วง เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเนื่องมาจากการละเลยต่อหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ศาลจังหวัดไชยาจึงมีคำสั่งให้รอการพิจารณาไว้ชั่วคราวและจัดทำความเห็นส่งให้ศาลปกครองโดยศาลจังหวัดไชยาเห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเพียงปฏิบัติการทางปกครอง คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดไชยา เห็นว่า เมื่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง กำหนดว่า หากคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่งก็จะต้องยื่นคำร้องก่อนวันสืบพยานของศาลยุติธรรม แต่การโต้แย้งเขตอำนาจศาลของจำเลยทั้งสองในกรณีนี้เป็นการโต้แย้งไว้ในคำให้การโดยไม่ได้จัดทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลเป็นการเฉพาะจึงเป็นการโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้งการทำความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นกรณีที่ศาลจัดทำความเห็นของตนเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลตามข้อโต้แย้งที่เริ่มกระบวนการโดยการทำเป็นคำร้องตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง ในกรณีที่ศาลเห็นเองเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลนั้น ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ให้อนุโลมตามมาตรา ๑๐ ซึ่งชอบที่จะเป็นกรณีที่ศาลเห็นเองว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลอื่น ดังนั้น เมื่อปรากฏว่า จำเลยมิได้กระทำตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด ทั้งกรณีที่ศาลเห็นเองว่าอยู่ในอำนาจของศาลตนเองก็ไม่ใช่กรณีที่ถือได้ว่ามีปัญหาขัดแย้งกันเกี่ยวกับเขตอำนาจศาล กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งและวรรคสาม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า กรณีระหว่างศาลจังหวัดไชยาและศาลปกครองนครศรีธรรมราชที่เกี่ยวข้องกับโจทก์และจำเลยในคดีนี้ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งและวรรคสาม อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๗ วรรคสอง ประกอบข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๙ (๒) เห็นควรให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบความ
(ลงชื่อ) ปัญญา ถนอมรอด (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายปัญญา ถนอมรอด) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??
??
??
??
๖