แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานรับของโจร มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 จำคุก 1 ปี ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานลักทรัพย์ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 จำคุก 1 ปี คดีต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2517 มาตรา 6 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่เก็บเงินและได้ออกจากงานไปแล้วก่อนเกิดเหตุ ได้ไปเรียกเก็บเงินค่าหนังสือพิมพ์จากลูกค้าของผู้เสียหายโดยจำเลยที่ 1 กรอกข้อความในใบเสร็จรับเงิน และลงชื่อเป็นผู้รับเงิน ลูกค้าของผู้เสียหายหลงเชื่อจึงมอบเงินให้ไป เป็นการกระทำที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ลูกค้าและผู้เสียหาย เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ์ เพราะใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานแห่งการระงับซึ่งสิทธิ์ และเมื่อจำเลยที่ 1 ใช้เอกสารสิทธิ์ปลอมดังกล่าวโดยมอบให้แก่ลูกค้าของผู้เสียหาย จึงเป็นความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิ์ปลอมด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๑๘ เวลากลางวันได้มีคนร้ายลักสมุดบัญชีรายชื่อลูกค้า ๒ เล่ม ราคา ๑๐ บาท กระดาษใบสั่งโฆษณา ๑ แผ่น ราคา ๕๐ สตางค์ รวมราคา ๑๐.๕๐ บาท ของนายรุ่งโรจน์ขณะอยู่ในความครอบครองของนางมณีไป ต่อมาวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๑๘ เวลากลางวัน เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสองได้พร้อมด้วยสมุดบัญชีรายชื่อลูกค้า ๑ เล่ม ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งที่ถูกลักไปและสมุดใบเสร็จรับเงิน ๒ เล่ม ใบเสร็จรับเงิน ๑ ฉบับเป็นของกลาง ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์ดังกล่าวไป หรือมิฉะนั้นระหว่างวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๑๘ เวลากลางวันถึงวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๑๘ เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้งสองร่วมกันรับเอาสมุดบัญชีรายชื่อลูกค้าที่ถูกลักไปไว้ในครอบครองโดยรู้อยู่ว่าเป็นของร้ายที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์และเมื่อระหว่างวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๑๘ ถึงวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๑๘ วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยร่วมกันทำปลอมขึ้นทั้งฉบับ ซึ่งใบเสร็จรับเงินอันเป็นเอกสารสิทธิ์ที่นายรุ่งโรจน์ผู้เสียหายออกให้แก่นางสาวพวงสร้อยและผู้มีชื่อลูกค้าของผู้เสียหายเป็นค่าหนังสือพิทักษ์ประชาซึ่งผู้เสียหายเป็นเจ้าของผู้ดำเนินการ ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าเป็นใบเสร็จรับเงินของผู้เสียหาย และลงลายมือชื่อในฐานะผู้รับเงินในช่องผู้รับเงินในใบเสร็จรับเงินของผู้เสียหาย และลงลายมือชื่อในฐานะผู้รับเงินในช่องผู้รับเงินในใบเสร็จรับเงินดังกล่าวโดยไม่มีอำนาจ และจำเลยร่วมกันนำใบเสร็จรับเงินที่จำเลยร่วมกันปลอมขึ้นไปเรียกเก็บเงินจากนางสาวพวงสร้อยและผู้มีชื่อหลายราย และได้นำใบเสร็จรับเงินดังกล่าวออกใช้ให้แก่นางสาวพวงสร้อยและผู้มีชื่อ นางสาวพวงสร้อยและผู้มีชื่อหลงเชื่อว่าเป็นใบเสร็จที่แท้จริงของผู้เสียหาย จึงชำระเงินจำนวนตามใบเสร็จให้จำเลยไป การที่จำเลยปลอมขึ้นและนำใบเสร็จปลอมดังกล่าวออกใช้น่าจะเกิดความเสียหายแก่นายรุ่งโรจน์ นางสาวพวงสร้อย ผู้มีชื่อและประชาชน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๘, ๓๓๕, ๓๕๗, ๘๓ ริบของกลาง และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาใบสั่งโฆษณาจำนวน ๕๐ สตางค์ แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ในความผิดฐานลักทรัพย์ พยานโจทก์ไม่พอฟังลงโทษจำเลยได้ จำเลยที่ ๑ ครอบครองสมุดบัญชีรายชื่อลูกค้าของผู้เสียหายไว้โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์เป็นความผิดฐานรับของโจร ส่วนจำเลยที่ ๒ พยานไม่พอฟังว่าได้ร่วมรู้เห็นกับจำเลยที่ ๑ รับของโจรด้วย และการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ์และใช้เอกสารสิทธิ์ปลอม พิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๗ ลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๑ ปี ข้อหาอื่นให้ยกและให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒ ให้จำเลยที่ ๑ คืนหรือใช้ราคาใบสั่งโฆษณาจำนวน ๕๐ สตางค์แก่ผู้เสียหาย และคืนสมุดบัญชีรายชื่อลูกค้าให้แก่ผู้เสียหาย ของกลางอื่นริบ
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ฐานปลอมเอกสารสิทธิ์และใช้เอกสารสิทธิ์ปลอม
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ ๑ ไม่อาจเป็นความผิดฐานรับของโจร แต่ฟังได้ว่าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๔ แม้ปัญหาข้อนี้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีอำนาจแก้บทลงโทษจำเลยที่ ๑ ตามความผิดที่ถูกต้องได้ ในเมื่ออัตราโทษไม่สูงกว่า และศาลอุทธรณ์มิได้เพิ่มเติมโทษจำเลย และการกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ์และใช้เอกสารสิทธิ์ปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๕ และ ๒๖๘ พิพากษาแก้ว่าจำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๔ จำคุก ๑ ปี และผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๕, ๒๖๘, ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๖๘ วรรคสอง จำคุก ๒ ปี รวมจำคุกจำเลยที่ ๑ สามปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อหาฐานลักทรัพย์ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกา เมื่อศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๑ กระทำผิดฐานรับของโจร มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๗ จำคุก ๑ ปี ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๑ กระทำผิดฐานลักทรัพย์มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๔ จำคุก ๑ ปี คดีต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๑๗ มาตรา ๖ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนข้อหาฐานปลอมเอกสารสิทธิ์และใช้เอกสารสิทธิ์ปลอมนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ ๑ ไม่มีหน้าที่เก็บเงินและได้ออกจากงานไปแล้ว และหลังออกจากงาน จำเลยที่ ๑ ได้ไปที่บ้านผู้เสียหายลักเอาสมุดบัญชีรายชื่อลูกค้าที่รับหนังสือพิมพ์ไป ๒ เล่ม แล้วซื้อสมุดใบเสร็จรับเงินมาเอง นำมากรอกข้อความในใบเสร็จรับเงิน และลงชื่อเป็นผู้รับเงินออกให้แก่ลูกค้าของผู้เสียหาย รวมทั้งนางสาวพวงสร้อยเพื่อเก็บเงินค่าสมาชิกหนังสือพิทักษ์ประชา และจำเลยที่ ๑ ได้เรียกเก็บเงินจากนางสาวพวงสร้อยด้วย นางสาวพวงสร้อยหลงเชื่อจึงมอบเงินให้ไป ทั้งนี้โดยจำเลยที่ ๑ ไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้โดยชอบ เป็นการกระทำที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นางสาวพวงสร้อยและผู้เสียหาย เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ์ เพราะใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานแห่งการระงับซึ่งสิทธิ์ และเมื่อจำเลยที่ ๑ ใช้เอกสารสิทธิ์ปลอมดังกล่าวโดยมอบให้แก่นางสาวพวงสร้อยไว้ จึงเป็นความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิ์ปลอมด้วย ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน.