แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรแสดงว่าโจทก์ประสงค์ขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาใดข้อหาหนึ่งเพียงข้อหาเดียวเพราะความผิดฐานลักทรัพย์กับความผิดฐานรับของโจรเป็นความผิดคนละฐานกันจะลงโทษจำเลยในทั้งสองฐานความผิดดังกล่าวย่อมไม่ได้ คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ว่า ข้าพเจ้าขอให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดจริงตามฟ้องย่อมไม่ชัดเจนพอที่จะชี้ขาดว่าจำเลยได้กระทำผิดฐานใด จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องสืบพยานให้ได้ความถึงการกระทำผิดของจำเลย เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานจึงลงโทษจำเลยไม่ได้
โจทก์ได้ลงชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา หากโจทก์เห็นว่าคำให้การของจำเลยที่ศาลจดไว้ไม่ชัดแจ้ง โจทก์ก็ชอบที่จะคัดค้านหรือแถลงขอสืบพยานต่อไป เพราะเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องสืบพยานให้ได้ความถึงการกระทำผิดของจำเลย คดีจึงไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาสอบถามคำให้การของจำเลยใหม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕, ๓๕๗
จำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดจริงตามฟ้องโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๗ จำคุก ๔ ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก ๒ ปี ยกฟ้องฐานลักทรัพย์
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบา
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร แสดงว่าโจทก์ประสงค์ขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาใดข้อหาหนึ่งเพียงข้อหาเดียว เพราะความผิดฐานลักทรัพย์กับความผิดฐานรับของโจรเป็นความผิดคนละฐานกัน จะลงโทษจำเลยในทั้งสองฐานความผิดดังกล่าวย่อมไม่ได้ คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ว่า ‘ข้าพเจ้าขอให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดจริงตามฟ้อง’ ย่อมไม่ชัดเจนพอที่จะชี้ขาดว่าจำเลยได้กระทำผิดฐานใด จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องสืบพยานให้ได้ความถึงการกระทำผิดของจำเลย เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานจึงลงโทษจำเลยไม่ได้ ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๘๑๙/๒๕๑๓ ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดชลบุรี โจทก์ นายสังเวียน แซ่อึ้ง กับพวกจำเลย และคำพิพากษาฎีกาที่ ๗๑๑/๒๕๒๘ ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดน่าน โจทก์ นายเมธี มงคล จำเลย ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นจดคำให้การของจำเลยลงในแบบพิมพ์ว่าจำเลยรับสารภาพตามฟ้องแต่หลงลืมไปจึงจดคำให้การจำเลยไม่ชัดแจ้ง ศาลสูงมีอำนาจสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๐๘ (๒) ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ได้ลงชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา หากโจทก์เห็นว่าคำให้การของจำเลยที่ศาลจดไว้ไม่ชัดแจ้ง โจทก์ก็ชอบที่จะคัดค้านหรือแถลงขอสืบพยานต่อไปเพราะเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องสืบพยานให้ได้ความถึงการกระทำผิดของจำเลย คดีจึงไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาสอบถามคำให้การของจำเลยใหม่
พิพากษายืน.