คำวินิจฉัยที่ 3/2550

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓/๒๕๕๐

วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองพิษณุโลก
ระหว่าง
ศาลจังหวัดนครสวรรค์

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองพิษณุโลกโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องคดีเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๔๗ ศาลปกครองพิษณุโลกได้รับคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ ๖/๒๕๔๗ ระหว่าง นายสุรชัย สิงห์เถื่อน ที่ ๑ นางพันธ์ คงคาอินทร์ ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี เจ้าพนักงานที่ดิน หัวหน้าส่วนแยกไพศาลี (นายอำเภอไพศาลี เดิม) ผู้ถูกฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีทั้งสองฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๒๗๐ และเลขที่ ๒๗๕ ตำบลสำโรงชัย อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ โดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี จนได้สิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๖๗ เมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๖ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำขอจดทะเบียนการได้ที่ดินทั้งสองแปลงมาโดยการครอบครองดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดี เพื่อให้ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินใน น.ส. ๓ ก. ทั้งสองแปลงดังกล่าวจากผู้มีชื่อเดิมเป็นชื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสอง และให้ผู้ถูกฟ้องคดีออกใบแทน น.ส. ๓ ก. ทั้งสองฉบับให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองด้วย แต่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่มี น.ส. ๓ ก. ฉบับเจ้าของที่ดินมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเป็นการได้สิทธิในที่ดินมาโดยการครอบครองและไม่ทราบว่า น.ส. ๓ ก. ทั้งสองฉบับดังกล่าวอยู่ที่ใด สูญหาย หรือถูกทำลายไปแล้วผู้ถูกฟ้องคดีพิจารณาคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสองแล้วเห็นว่า การจดทะเบียนการได้ที่ดินมาโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๖๗ เป็นการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามความในมาตรา ๗๒ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งผู้ขอจดทะเบียนจะต้องนำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินฉบับเจ้าของที่ดินมาขอจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่มี น.ส. ๓ ก. ฉบับเจ้าของที่ดินมาแสดง ก็เป็นหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองที่จะต้องขวนขวายนำเอกสารดังกล่าวมาดำเนินการขอจดทะเบียนให้ได้ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี จึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวว่า คำขอจดทะเบียนของผู้ฟ้องคดีทั้งสองมิใช่การขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ตามความในมาตรา ๗๒ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีของผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเพียงการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้มีสิทธิในที่ดินจากชื่อเดิมเป็นชื่อของผู้ฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๖๗ เท่านั้น ไม่มีการทำนิติกรรมหรือสัญญาใด ๆ และไม่มีคู่กรณี จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของมาตรา ๗๒ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินที่จะต้องนำ น.ส. ๓ ก. ฉบับเจ้าของที่ดินมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสองมีสิทธิครอบครองจริง พนักงานเจ้าหน้าที่ก็สามารถจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อเดิมเป็นชื่อของผู้ฟ้องคดีได้ และเมื่อจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อใน น.ส. ๓ ก. แล้ว ก็สามารถออกใบแทน น.ส. ๓ ก. ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี ขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าคำสั่งไม่รับจดทะเบียนของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ผู้ถูกฟ้องคดีตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองมีสิทธิครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงตามมาตรา ๑๓๖๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่ หากผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้สิทธิครอบครองจริง ให้ผู้ถูกฟ้องคดีรับจดทะเบียนการได้ที่ดินมาโดยการครอบครองให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองตามระเบียบต่อไป
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า เมื่อได้รับคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าวใน น.ส. ๓ ก. ทั้งสองฉบับจากผู้มีชื่อเดิมเป็นชื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสอง และขอให้ออกใบแทน น.ส. ๓ ก. ทั้งสองฉบับให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองด้วย โดยผู้ฟ้องคดีทั้งสองมิได้นำ น.ส. ๓ ก. ฉบับเจ้าของที่ดินมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ อ้างว่าได้สูญหาย ผู้ถูกฟ้องคดีมีหนังสือหารือกรมที่ดิน ซึ่งกรมที่ดินแจ้งผลการพิจารณาว่า การขอจดทะเบียนการได้ที่ดินมาโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๖๗ เป็นกรณีอย่างเดียวกันกับที่กรมที่ดินได้วางแนวทางปฏิบัติไว้ตามหนังสือกรมที่ดินที่ มท ๐๕๑๖.๒/ว๑๒๖๗๓ ลงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๖ ว่า ผู้ครอบครองย่อมไม่อาจมีคำขอฝ่ายเดียวเพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าตนได้ที่ดินมาโดยการครอบครอง ดังนั้น ในการจดทะเบียนการได้ที่ดินมาโดยการครอบครองจึงไม่จำเป็นต้องมีคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลมาประกอบแต่อย่างใด เพียงแต่ปรากฏว่า ผู้ขอได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวอยู่จริง พนักงานเจ้าหน้าที่ก็สามารถดำเนินการจดทะเบียนให้ได้ แต่การจดทะเบียนการได้ที่ดินมาโดยการครอบครองดังกล่าว เป็นการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามความในมาตรา ๗๒ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ผู้ขอจดทะเบียนจะต้องนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ฉบับเจ้าของที่ดินมาขอจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และการจดทะเบียนในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวต้องอยู่ในบังคับของมาตรา ๗๕ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยต้องจดทะเบียนในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้งฉบับสำนักงานที่ดินและฉบับเจ้าของที่ดินให้ถูกต้องตรงกัน หากไม่ได้หนังสือรับรองการทำประโยชน์นั้นมา ก็เป็นหน้าที่ของผู้ขอที่จะต้องขวนขวายนำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินนั้นมาดำเนินการขอจดทะเบียนให้ได้ ส่วนกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนไม่สามารถนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์มาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ แต่เป็นเรื่องที่ศาลได้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาอันถึงที่สุดเกี่ยวกับหนังสือรับรองการทำประโยชน์นั้น ๆ หรือเป็นกรณีที่ผู้ใดมีสิทธิจดทะเบียนตามคำพิพากษาของศาลและข้อเท็จจริงปรากฏตามคำพิพากษาว่าศาลได้พิเคราะห์และวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีแล้วรับฟังได้ว่าโจทก์หรือจำเลยซึ่งเป็นผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่ก็สามารถออกใบแทนเพื่อดำเนินการจดทะเบียนการได้มาโดยการครอบครองให้ได้ ตามนัยกฎกระทรวงฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ข้อ ๑๒ ประกอบข้อ ๑๗ (๓) จึงมีหนังสือแจ้งผู้ฟ้องคดีทั้งสองว่า ไม่อาจดำเนินการรับจดทะเบียนการได้ที่ดินมาโดยการครอบครองและออกใบแทน น.ส. ๓ ก. ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองตามที่ขอได้ อันเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ ก็เป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากผู้ฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำขอขัดกับแนวปฏิบัติของกรมที่ดิน ผู้ฟ้องคดีทั้งสองคัดค้านคำให้การว่า ไม่สามารถนำ น.ส. ๓ ก. มาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการยื่นคำขอจดทะเบียนการได้ที่ดินมาโดยการครอบครองได้ เนื่องจากเอกสารสูญหายไป ไม่ใช่กรณีที่เอกสารมีอยู่กับผู้อื่นที่จะขวนขวายหามาได้ จึงเป็นกรณีที่จะต้องดำเนินการออกใบแทนตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ข้อ ๑๒ วรรคสอง ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองและให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองไปขวนขวายหา น.ส. ๓ ก. ฉบับเจ้าของที่ดินมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีให้การเพิ่มเติมว่า การออกใบแทน น.ส. ๓ ก. ทั้งสองฉบับที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่าสูญหายนั้น เนื่องจากมาตรา ๖๓ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ข้อ ๑๗ (๑) กำหนดให้เจ้าของที่ดินยื่นคำขอและปฏิญาณตนต่อเจ้าพนักงานที่ดิน แต่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองมิใช่เจ้าของที่ดิน ผู้มีชื่อใน น.ส. ๓ ก. ทั้งสองแปลง ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่สามารถดำเนินการออกใบแทน น.ส. ๓ ก. ทั้งสองฉบับให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ตามมาตรา ๖๓ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินและกฎกระทรวงดังกล่าวได้
ศาลปกครองพิษณุโลกพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องจากคำสั่งของฝ่ายปกครองที่ไม่จดทะเบียนสิทธิการได้ที่ดินมาโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๖๗ และไม่ออกใบแทน น.ส. ๓ ก. ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองตามคำร้องขอ แต่เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีที่ใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิเป็นสำคัญ และในการออกโฉนดหรือหนังสือเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอื่นใดของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดรวมทั้งปฏิบัติตามกฎหรือระเบียบของผู้ถูกฟ้องคดี เพื่อให้ผู้มีสิทธิในที่ดินที่แท้จริงได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายและได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๓ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่จดทะเบียนการได้ที่ดินมาโดยการครอบครอง รวมทั้งไม่ออกใบแทน น.ส. ๓ ก. ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองและสั่งให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองนำ น.ส. ๓ ก. ฉบับเจ้าของที่ดินมาแสดง อีกทั้งยืนยันด้วยว่าเจ้าของที่ดินที่เป็นเจ้าของ น.ส. ๓ ก. เท่านั้นที่มีสิทธิขอออกใบแทน จึงมีผลเท่ากับผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองโดยอาศัยหลักฐานจากข้อสันนิษฐานตามกฎหมายดังกล่าว แต่การจะพิจารณาว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินที่แท้จริงหรือไม่ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงตามที่เป็นจริง และสามารถนำสืบข้อเท็จจริงเพื่อแสดงสิทธิในที่ดินต่างจากที่ปรากฏหลักฐานทางทะเบียนได้ ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะออกหนังสือแสดงสิทธิหรือใบแทนให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้หรือไม่ จำเป็นต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีทั้งสองตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ จึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไปได้ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลจังหวัดนครสวรรค์พิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นแห่งคดีมิใช่กรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งสิทธิครอบครองที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองโดยตรง แต่เป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินการ ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองที่ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนให้โดยอาศัยข้อเท็จจริงว่ามีระเบียบ ข้อบังคับ หรือแนวปฏิบัติตามกฎกระทรวงหรือประมวลกฎหมายที่ดิน ดังนั้น สภาพแห่งคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงเป็นกรณีที่มุ่งหมายให้การวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อปฏิเสธของผู้ถูกฟ้องคดีที่อ้างแนวปฏิบัติ ตามกฎกระทรวงประกอบประมวลกฎหมายที่ดินยิ่งกว่า เพราะผู้ถูกฟ้องคดีมิได้โต้แย้งสิทธิเกี่ยวกับการครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นต้นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน หรือครอบครองที่ดินมาไม่ถึง ๑ ปี หรือครอบครองที่ดินแทนเจ้าของเดิม ฉะนั้นเมื่อมีการจัดตั้งศาลปกครองอำนาจหน้าที่ของศาลยุติธรรมจึงถูกจำกัดขอบเขตในการวินิจฉัยข้อพิพาททางปกครอง และหลักการกระทำฝ่ายปกครองต้องชอบด้วยกฎหมายเสมอ จึงจำต้องใช้ตรวจสอบในคดีนี้ว่าแนวทางปฏิบัติของกรมที่ดินที่ มท ๐๕๑๖.๒/ว. ๑๒๖๗๓ ลงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๖ อันเป็นมูลเหตุสำคัญที่ผู้ถูกฟ้องคดีใช้วินิจฉัยเพื่อออกนิติกรรมทางปกครองหรือคำสั่งทางปกครองนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพียงใด ดังนั้น ข้อพิพาทคดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมแต่เป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองพิพาทกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับกฎ ตามบทนิยาม ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและเพิ่มเติมคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๒๗๐ และเลขที่ ๒๗๕ ตำบลสำโรงชัย อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ จนได้สิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๖๗ ต่อมาผู้ฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำขอจดทะเบียนการได้ที่ดินทั้งสองแปลงมาโดยการครอบครองต่อผู้ถูกฟ้องคดี เพื่อให้ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินใน น.ส. ๓ ก. ทั้งสองแปลงดังกล่าวจากผู้มีชื่อเดิมเป็นชื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสอง และให้ผู้ถูกฟ้องคดีออกใบแทน น.ส. ๓ ก. ทั้งสองฉบับให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองด้วย โดยไม่มี น.ส. ๓ ก. ฉบับเจ้าของที่ดินมาแสดง เพราะได้สิทธิในที่ดินมาโดยการครอบครองและไม่ทราบว่า น.ส. ๓ ก. ทั้งสองฉบับดังกล่าวอยู่ที่ใด สูญหาย หรือถูกทำลาย แต่ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนให้เพราะเห็นว่า การจดทะเบียนการได้ที่ดินมาโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๖๗ เป็นการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามความในมาตรา ๗๒ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ผู้ขอจดทะเบียนจะต้องนำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินฉบับเจ้าของที่ดินมาขอจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี ขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าคำสั่งไม่รับจดทะเบียนของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ผู้ถูกฟ้องคดีตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสองมีสิทธิครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงตามมาตรา ๑๓๖๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่ หากผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้สิทธิครอบครองจริง ให้ผู้ถูกฟ้องคดีรับจดทะเบียนการได้ที่ดินมาโดยการครอบครองให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองตามระเบียบต่อไป ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า การไม่รับ จดทะเบียนให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามคำร้องขอนั้น ถือตามแนวปฏิบัติของกรมที่ดินที่ว่าการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามความในมาตรา ๗๒ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ผู้ขอจดทะเบียนจะต้องนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ฉบับเจ้าของที่ดินมาขอจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และการจดทะเบียนในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวต้องอยู่ในบังคับของมาตรา ๗๕ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยต้องจดทะเบียนในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้งฉบับสำนักงานที่ดินและฉบับเจ้าของที่ดินให้ถูกต้องตรงกัน หากไม่ได้หนังสือรับรองการทำประโยชน์นั้นมา ก็เป็นหน้าที่ของผู้ขอที่จะต้องขวนขวายนำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินนั้นมาดำเนินการขอจดทะเบียนให้ได้ ส่วนกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนไม่สามารถนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์มาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ แต่เป็นกรณีที่ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาอันถึงที่สุดเกี่ยวกับหนังสือรับรองการทำประโยชน์นั้น ๆ หรือเป็นกรณีที่ผู้ใดมีสิทธิจดทะเบียนตามคำพิพากษาของศาลและข้อเท็จจริงปรากฏตามคำพิพากษาว่าศาลได้พิเคราะห์และวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีแล้วรับฟังได้ว่าโจทก์หรือจำเลยซึ่งเป็นผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่ก็สามารถออกใบแทนเพื่อดำเนินการจดทะเบียนการได้มาโดยการครอบครองให้ได้ ตามนัยกฎกระทรวงฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ข้อ ๑๒ ประกอบข้อ ๑๗ (๓) คำสั่งไม่รับจดทะเบียนการได้มาซึ่งที่ดินโดยการครอบครองและไม่ออกใบแทน น.ส. ๓ ก. ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงชอบด้วยกฎหมาย จากข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การดังกล่าวหากผู้ฟ้องคดีขวนขวายจนได้ น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๗๐ และ ๒๗๕ ตำบลสำโรงชัย อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ ฉบับที่อยู่กับเอกชนผู้มีชื่อเป็นเจ้าของ (ซึ่งไม่ใช่ชื่อของผู้ฟ้องคดี) มาแสดงได้ ผู้ถูกฟ้องคดีก็ยังอาจไม่จดทะเบียนให้ด้วยเหตุที่มีเพียงผู้ฟ้องคดีเพียงฝ่ายเดียวมากล่าวอ้างว่าครอบครองจนได้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๖๗ เพราะไม่มีพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริงใดที่ยืนยันว่าผู้มีชื่อในทะเบียนละเลยจนพ้นเวลาฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครอง สละหรือมีเจตนาส่งมอบหรือโอนสิทธิให้แก่ผู้ฟ้องคดี ตามคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีตามหนังสือที่ นว ๑๐๑๙.๑/๘๕๑ ลงวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๔๗ หน้า ๓ ข้อ ๕.๑ ที่กล่าวว่า การได้มาโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๖๗ นั้น ผู้ครอบครองย่อมไม่อาจมีคำขอฝ่ายเดียวเพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าตนได้มาโดยการครอบครองได้ ซึ่งเป็นการกล่าวตามข้อเท็จจริงที่ศาลเคยมีคำพิพากษา เช่นตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๖๗๙/๒๕๔๐ และ ๑๐๒๑/๒๕๓๘ เมื่อมีคำวินิจฉัยของศาลว่าไม่อาจยื่นคำขอฝ่ายเดียวในกรณีดังกล่าวได้ และกรมที่ดินก็พิจารณาออกแนวปฏิบัติไปในทำนองให้ต้องนำหนังสือแสดงสิทธิฉบับที่อยู่ที่เจ้าของที่ดินมาแสดง อาจทำให้ประชาชนไม่ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิที่เป็นจริง แต่อย่างไรก็ตาม ตามแนวปฏิบัติของกรมที่ดินดังกล่าวก็เปิดโอกาสไว้ว่าหากมีคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดมาแสดงแล้วพนักงานเจ้าหน้าที่ก็สามารถออกใบแทนให้ได้ แนวปฏิบัติดังกล่าวน่าจะสอดคล้องกับบทสันนิษฐานในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๓ ที่ว่าถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง การที่กฎหมายกำหนดบทสันนิษฐานดังกล่าวด้วยเหตุที่มีการสร้างระบบการออกเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินไว้อย่างเป็นระบบในประมวลกฎหมายที่ดินหรือบทบัญญัติที่ใช้บังคับก่อนหน้านี้ ซึ่งการออกเอกสารที่เกี่ยวกับสิทธิในที่ดินตามกฎหมายนั้นเป็นการออกเพื่อรับรองสิทธิในที่ดินตามสิทธิที่แท้จริงตามความเป็นจริงตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๕๖ เอกสารที่แสดงสิทธิเป็นเพียงเครื่องมืออันหนึ่งสำหรับแสดงความเป็นผู้มีสิทธิ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิ และบทสันนิษฐานดังกล่าวนี้นำมาใช้กับกรณีสิทธิครอบครองด้วย ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๕๖๕/๒๕๓๘ การที่ผู้ถูกฟ้องคดียืนยันว่าเจ้าของที่ดินที่มีชื่อระบุในโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เท่านั้นที่มีสิทธิขอออกใบแทน โดยอ้างหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ.๒๕๓๗) ฯ ข้อที่ ๑๒ วรรคสอง ประกอบข้อที่ ๑๗(๑) ประกอบแนวปฏิบัติตามหนังสือกรมที่ดินที่ มท ๐๕๑๖.๒/ ว ๑๒๖๗๓ ลงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๖ นั้น มีความหมายอยู่ในตัวว่าผู้ไม่มีชื่อในเอกสารแสดงสิทธิย่อมไม่มีสิทธิมาดำเนินการในฐานะที่เป็นสิทธิของตน ยิ่งเป็นกรณีไม่มีการทำนิติกรรมใด ๆ ระหว่างผู้มีชื่อในเอกสารแสดงสิทธิกับผู้ฟ้องคดี โดยเฉพาะกรณีแย่งการครอบครองย่อมเป็นการยากที่ผู้ฟ้องคดีจะสามารถนำเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินจากผู้มีชื่อในทะเบียนมาได้ดังที่แนวปฏิบัติของกรมที่ดินให้ผู้ฟ้องคดีมีหน้าที่ต้องขวนขวาย การที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ดำเนินการทางทะเบียนให้แก่ผู้ฟ้องคดี และยังยืนยันในคำให้การเพิ่มเติม (ตามหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดี ที่ นว ๑๐๑๙๑.๑/๑๘๕๖ ลงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๗ ) ว่าผู้ฟ้องคดีไม่ใช่เจ้าของที่ดินผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ทั้งยืนยันด้วยว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นไปเพื่อคุ้มครองสิทธิของเจ้าของที่ดิน ตามคำให้การเพิ่มเติมดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า คำว่า “เจ้าของที่ดิน” ตามความหมายของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวย่อมไม่หมายความถึงผู้ฟ้องคดี ซึ่งมีผลเท่ากับผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดีโดยอาศัยหลักจากข้อสันนิษฐานดังกล่าว แต่การจะพิจารณาว่าจะต้องออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่ผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ต้องพิจารณาให้ได้ความจริงก่อนว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินที่แท้จริงหรือไม่ ซึ่งต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงตามที่เป็นจริง และสามารถนำสืบข้อเท็จจริงเพื่อแสดงสิทธิในที่ดินต่างจากที่ปรากฏในหลักฐานทางทะเบียนได้ ซึ่งหากพิสูจน์ได้ข้อสันนิษฐานนั้นก็เป็นอันตกไป การที่กฎหมายให้อำนาจสอบสวนแก่เจ้าพนักงานในกรณีที่มีผู้มาขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมก็เพื่อให้ได้ความจริงว่าผู้นั้นเป็นเจ้าของที่แท้จริงหรือไม่ แต่ไม่ว่าผลสรุปจากการสอบสวนของฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในฝ่ายปกครองจะเป็นประการใด ผู้ที่ไม่เห็นด้วยอาจฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจในการปกป้องสิทธิในที่ดินซึ่งได้แก่ศาลยุติธรรมได้ และคำพิพากษาของศาล จะเป็นที่สุดทำให้ข้อเท็จจริงต้องยุติไปตามนั้น มีผลให้ฝ่ายปกครองต้องเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไปตามคำพิพากษา เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิครอบครองที่ดินที่มีเอกสารแสดงสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีออกใบแทนและเปลี่ยนชื่อผู้มีสิทธิเป็นชื่อของผู้ฟ้องคดีแต่ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิเสธ แม้ตามคำฟ้องจะมีลักษณะของข้อเท็จจริงที่ระบุทำให้ดูเสมือนว่าสืบเนื่องจากการที่ฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนให้ตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง และไม่ปรากฏ ข้อโต้แย้งอย่างชัดแจ้งจากฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีว่า ผู้ฟ้องคดีไม่เคยเข้าครอบครอง หรือครอบครองไม่ครบ ๑ ปี หรือเป็นการครอบครองแทน เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีตามที่ปรากฏในคำขอท้ายฟ้อง ข้อแรกว่า ให้ศาลมีคำสั่งว่าคำสั่งไม่รับจดทะเบียนของนายอำเภอไพศาลี (ผู้ถูกฟ้องคดี) ไม่ชอบด้วยกฎหมายและตามคำขอท้ายฟ้องข้อ ๒ ขอให้มีคำสั่งให้นายอำเภอไพศาลีตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าผู้ฟ้องคดีได้สิทธิครอบครองในที่ดินตามมาตรา ๑๓๖๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จริงหรือไม่ หากครอบครองจริงให้นายอำเภอไพศาลีจดทะเบียนการครอบครองตามระเบียบต่อไป ตามคำขอของผู้ฟ้องคดีในข้อ ๒ จะเห็นได้ชัดเจนว่าผู้ฟ้องคดีมีวัตถุประสงค์มุ่งให้ฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีรับรองความเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินและออกเอกสารแสดงสิทธิให้แก่ผู้ฟ้องคดีและดังที่ได้กล่าวแล้วว่าคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่มีผลให้การรับรองสิทธิในที่ดินยุติเป็นที่สุด การที่ผู้ถูกฟ้องคดียอมรับและยืนยันความเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองโดยยึดถือตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เดิมซึ่งเป็นเอกสารที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบมาก่อนแล้วนั้นย่อมเท่ากับปฏิเสธความมีสิทธิของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดี ระหว่าง นายสุรชัย สิงห์เถื่อน ที่ ๑ นางพันธ์ คงคาอินทร์ ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี เจ้าพนักงานที่ดินหัวหน้าส่วนแยกไพศาลี (นายอำเภอไพศาลี เดิม) ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปัญญา ถนอมรอด (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายปัญญา ถนอมรอด) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

คมศิลล์ คัด/ทาน
??

??

??

??

Share