คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5085/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การริบทรัพย์สินเป็นการลงโทษผู้กระทำความผิดหรือจำเลยอีกสถานหนึ่งด้วยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18(5) ประกอบมาตรา 33(1) ฉะนั้น การคืนของกลางแก่เจ้าของทรัพย์ผู้สุจริตหรือผู้ที่มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดถือเป็นข้อยกเว้นอันจะต้องพิจารณาโดยเคร่งครัด เพราะเท่ากับเป็นการยกเว้นโทษดังกล่าวให้แก่จำเลยไปด้วยในตัว
จำเลยนำรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อไปใช้ขับแข่งรถในทางอันเป็น การกระทำที่ผิดกฎหมาย ย่อมเป็นการผิดข้อสัญญาเช่าซื้อ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง จำเลยจึงต้องรับผิดต่อผู้ร้องตามข้อสัญญาโดยต้องชดใช้ราคา หากผู้ร้องต้องการใช้สิทธิแห่งตนโดยสุจริตและตามความประสงค์หลักในการทำสัญญาเช่าซื้อ ผู้ร้องควรที่จะเรียกร้องเอาการชำระหนี้เรื่องราคาจากจำเลยให้ครบถ้วนตามข้อสัญญาเช่าซื้อ หาควรเรียกร้องเอารถจักรยานยนต์ของกลางอันอาจก่อให้เกิดประโยชน์แก่จำเลยด้วยไม่ หรือนับเป็นการเบี่ยงเบนไม่เรียกร้องค่าเช่าซื้อเพื่อจะช่วยเหลือจำเลยมิให้ต้องรับโทษเต็มตามคำพิพากษาที่กำหนดไว้ พฤติการณ์ของผู้ร้องเป็นการขอคืนของกลางโดยไม่สุจริต

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองและริบรถจักรยานยนต์ของกลาง ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 134, 160 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ซึ่งศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองและริบรถจักรยานยนต์ของกลาง

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ขอให้คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง

โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์ของกลางและรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2540 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางไปจากผู้ร้องในราคา 65,280 บาท ชำระเงินในวันทำสัญญา 18,000 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระ 24 งวด งวดละ 1,970 บาท หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อแก่ผู้ร้อง 11 งวด ครั้งสุดท้ายชำระในวันที่ 18 สิงหาคม 2541 ต่อมาในคืนวันที่ 21 สิงหาคม 2541 จำเลยที่ 1 ได้นำรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวไปกระทำผิดกฎหมายด้วยการใช้รถขับแข่งในทางไปตามถนนนิพัทธสงเคราะห์ 1 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานจราจร เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 พร้อมยึดรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวได้ และส่งพนักงานอัยการประจำศาลแขวงสงขลาฟ้องคดีต่อศาลในวันที่ 22 สิงหาคม 2541 ต่อมาเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2541 ศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และริบรถจักรยานยนต์ของกลาง ก่อนที่ผู้ร้องจะได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลยที่ 1 ในวันที่ 3 ตุลาคม 2541 และก่อนบอกเลิกสัญญาผู้ร้องได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อส่วนที่ยังค้างชำระ 25,610 บาท หรือนำรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวส่งคืนผู้ร้องในสภาพเรียบร้อย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ผู้ร้องขอคืนของกลางโดยสุจริตหรือไม่ ซึ่งข้อนี้โดยผลของกฎหมายถือว่าการริบทรัพย์สินเป็นการลงโทษผู้กระทำความผิดหรือจำเลยที่ 1 อีกสถานหนึ่งด้วยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18(5) ประกอบมาตรา 33(1) ฉะนั้นการคืนของกลางแก่เจ้าของทรัพย์ผู้สุจริตหรือผู้ที่มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดถือเป็นข้อยกเว้นอันจะต้องพิจารณาโดยเคร่งครัดเพราะเท่ากับเป็นการยกเว้นโทษดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ไปด้วยในตัว เรื่องนี้เดิมผู้ร้องได้มอบการครอบครองรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 โดยสัญญาเช่าซื้อเพื่อแสวงหากำไร ดังนั้น ความประสงค์หลักของผู้ร้องจึงอยู่ที่ราคาเช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 ส่วนกรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวผู้ร้องมีเจตนาจะโอนให้แก่จำเลยที่ 1 อยู่แล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาครบถ้วน ด้วยเหตุนี้ระหว่างที่สัญญาเช่าซื้อยังมีผลใช้บังคับอยู่ การที่จำเลยที่ 1 นำรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวไปใช้ขับแข่งรถในทางอันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย กรณีย่อมเป็นการประพฤติผิดสัญญาเช่าซื้อตามเอกสารหมาย ร.5 ข้อ 5 ครั้นศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อผู้ร้องแต่ฝ่ายเดียวตามสัญญาข้อ 6 โดยต้องชดใช้ราคาแห่งทรัพย์ตามสัญญาข้อ 12 ซึ่งตรงตามเจตจำนงของคู่สัญญา อีกทั้งยังทำให้การลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดหรือจำเลยที่ 1 เกิดประสิทธิผลอย่างสมบูรณ์ด้วยเหตุดังกล่าว หากผู้ร้องต้องการใช้สิทธิแห่งตนโดยสุจริตและตามความประสงค์หลักในการทำสัญญาเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ของกลาง กับจำเลยที่ 1 ผู้ร้องก็ควรที่จะเรียกร้องเอาการชำระหนี้เรื่องราคาจากจำเลยที่ 1 ให้ครบถ้วน ดังสัญญาข้อ 12 ตามที่กล่าวมาแล้วในตอนแรก หาควรที่จะเรียกร้องเอารถจักรยานยนต์ของกลางอันอาจก่อให้เกิดประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 ด้วยไม่ หรืออีกนัยหนึ่งนับเป็นการเบี่ยงเบนความมุ่งหมายในสัญญาเช่าซื้อไม่เรียกร้องเอาค่าเช่าซื้อตามที่กำหนดไว้ในสัญญาประดุจดั่งเพื่อจะช่วยเหลือจำเลยที่ 1 มิให้ต้องรับโทษเต็มตามคำพิพากษาที่กำหนดไว้ทั้ง ๆ ที่ได้ระบุไว้ในสัญญาข้อ 5 แล้วว่าไม่ให้จำเลยที่ 1 นำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด พฤติการณ์ของผู้ร้องเป็นการขอคืนของกลางโดยไม่สุจริตจึงไม่ชอบที่ผู้ร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลาง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง

Share