คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8791/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันกักขังผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 ไว้ที่บ้านเกิดเหตุเพื่อให้ติดต่อญาติของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 เรียกเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาทำงานในประเทศไทยเพิ่ม แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองกับพวกมีเจตนาจะแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายจากผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 โดยไม่ปรากฏพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองว่ามีเจตนาที่จะช่วยเหลือผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 ให้พ้นจากการจับกุมและไม่อาจถือได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันนำผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 เข้ามาในราชอาณาจักร การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 ซึ่งเป็นคนต่างด้าวพ้นจากการจับกุมตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 309, 310, 313 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 63, 64 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 6, 9, 10, 52 ริบตะขอเหล็กปลายแหลมและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยที่ 1 รับสารภาพในข้อหาเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 2 รับสารภาพในข้อหาให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อคนต่างด้าวพ้นการจับกุม ข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง, 310 วรรคหนึ่ง, 313 (3) วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 63 วรรคหนึ่ง, 64 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (1), 9 วรรคหนึ่ง วรรคสอง, 10 วรรคหนึ่ง, 52 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ จำคุกคนละ 3 ปี ฐานร่วมกันนำคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นการจับกุม จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นโดยมีอาวุธ ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังบุคคลใดเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ และฐานค้ามนุษย์โดยร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังบุคคลใดเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 การที่จำเลยทั้งสองหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 เพื่อเรียกเงินแต่ละคน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษ จำคุกกระทงละ 15 ปี รวม 10 กระทง เป็นจำคุกคนละ 150 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพฐานร่วมกันให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นการจับกุม ภายหลังสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี จึงไม่ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ริบตะขอเหล็กปลายแหลมและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (1), 9 วรรคหนึ่ง วรรคสอง, 10 วรรคหนึ่ง, 52 วรรคสอง จำคุกคนละ 6 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุกในความผิดฐานอื่นตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดแล้ว จึงให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองมีกำหนดคนละ 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2557 ร้อยตำรวจเอกศุภโชค กับพวก ไปตรวจค้นบ้านเกิดเหตุ พบผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 13 และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคนต่างด้าวอยู่ในบ้านเกิดเหตุ และยึดตะขอเหล็กปลายแหลมกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง เป็นของกลาง สำหรับความผิดฐานเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตของจำเลยที่ 1 นั้น ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากตามคำขอท้ายฟ้องไม่ได้อ้างมาตรา 11, 62 และ 81 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ คดีสำหรับความผิดดังกล่าวของจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 11 ถึงที่ 13 เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบหรือไม่ เห็นว่า ชั้นพิจารณา โจทก์มิได้นำผู้เสียหายที่ 11 ถึงที่ 13 มาเบิกความต่อศาล และแม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองจัดให้ผู้เสียหายที่ 11 ถึงที่ 13 อยู่อาศัยและไม่ให้ผู้เสียหายดังกล่าวออกจากบ้านเกิดเหตุไปไหนก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่า จำเลยทั้งสองกับพวกหน่วงเหนี่ยวกักขังหรือใช้กำลังประทุษร้ายให้ผู้เสียหายที่ 11 ถึงที่ 13 ติดต่อญาติเพื่อเรียกเงินเพิ่ม แม้โจทก์จะมีผู้เสียหายที่ 2 ถึงที่ 9 มาเบิกความ แต่ได้ความจากผู้เสียหายที่ 2 ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า จำเลยที่ 1 กับผู้หญิงอีก 3 คน ไม่ได้ถูกขัง แต่บุคคลดังกล่าวก็ไม่ได้ออกไปไหน และผู้เสียหายที่ 3 ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่าผู้เสียหายที่ 3 ทราบจากจำเลยที่ 1 ว่าผู้หญิง 3 คนที่มาด้วย คือภริยาจำเลยที่ 1 น้องภริยา และเพื่อนน้องภริยา ซึ่งเจือสมกับที่จำเลยที่ 1 เบิกความ ดังนั้น เหตุที่ผู้หญิง 3 คน มิได้ออกจากบ้านเกิดเหตุนั้นอาจเป็นเพราะว่าจำเลยที่ 1 จะต้องควบคุมตัวผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 ไม่ให้หลบหนีก็ได้ คดีจึงยังไม่พอรับฟังว่าจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 11 ถึงที่ 13 เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อมาว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานร่วมกันให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 ซึ่งเป็นคนต่างด้าวพ้นจากการจับกุมตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันกักขังผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 ไว้ในบ้านเกิดเหตุเพื่อให้ติดต่อญาติเรียกเงินเพิ่มเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองกับพวกมีเจตนาจะแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายจากผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 โดยไม่ปรากฏพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองที่มีมาตั้งแต่แรกว่า จำเลยทั้งสองมีเจตนาที่ช่วยเหลือผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 ให้พ้นจากการจับกุมอันเป็นความผิดฐานให้พักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 พ้นจากการจับกุม และไม่อาจถือว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันนำผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 เข้ามาในราชอาณาจักรตามที่โจทก์ฎีกาด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน

Share