คำสั่งคำร้องที่ 1235/2563

แหล่งที่มา : คำร้องขออนุญาตฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์นำเข้าสินค้ายางรถยนต์จากสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประเภทพิกัด 4011.10.00 อัตราอากรขาเข้าร้อยละ 10 โจทก์ชำระอากรขาเข้าและพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยตรวจปล่อยสินค้าแล้ว ต่อมาโจทก์ยื่นขอใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าและขอคืนอากรขาเข้าที่ชำระไปแล้ว 824,678 บาท พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าโจทก์ไม่ได้ยื่นเอกสารการขอใช้สิทธิในขณะผ่านพิธีการ ซึ่งต่อมาโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่ออธิบดีกรมศุลกากร และจำเลยยกอุทธรณ์ด้วยเหตุผลว่าโจทก์ขอคืนเงินอากรโดยนำหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้ามาแสดงภายหลังได้ผ่านพิธีการและรับมอบของจากอารักขากรมศุลกากรโดยมิได้สงวนสิทธิขอคืน จึงเป็นคดีที่พิพาทเกี่ยวกับการขอคืนค่าภาษีอากร ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจาณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 (3) และมาตรา 9 ซึ่งบัญญัติให้ต้องดำเนินการในศาลภาษีอากรได้ต่อเมื่อปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคห้า ที่ใช้บังคับในขณะนั้น เมื่อปรากฏตามใบขนสินค้าขาเข้า ว่าโจทก์นำเข้าสินค้าพิพาทในวันที่ 12 กันยายน 2555 และวันที่ 24 ตุลาคม 2555 และโจทก์ได้ยื่นหนังสือเพื่อขอใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 2 ฉบับ ต่อจำเลยเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2556 จึงเป็นการใช้สิทธิขอคืนเงินอากรภายใน 2 ปี นับแต่วันนำเข้าตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนดแล้ว และกรณีเป็นการเรียกร้องขอคืนเงินอากรเพราะต้องการใช้สิทธิตามข้อผูกพันตามความตกลงทางการค้าสินค้าของอาเซียน ไม่ใช่กรณีคำเรียกร้องขอคืนอากรเพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิด คุณภาพ ปริมาณ น้ำหนัก หรือราคาแห่งของใด ๆ หรือเกี่ยวกับอัตราอากรตามมาตรา 10 วรรคห้าตอนท้าย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินอากรได้
ประกาศกระทรวงการคลังและประกาศกรมศุลกากรที่ออกโดยอาศัยอำนาจของมาตรา 14 แห่ง พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ได้กำหนดเงื่อนไขสำคัญสำหรับผู้นำของเข้าที่ประสงค์จะใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร 1) ให้ผู้นำของเข้าแสดงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า บัญชีราคาสินค้าที่มีข้อความรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าหรือเอกสารทางการค้าอื่นที่มีข้อความรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยพิจารณาเอกสารว่าเป็นไปตามข้อผูกพันตามความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement : ATIGA) และข้อผูกพันตามพิธีสารว่าด้วยการนำพิกัดศุลกากรฮาร์โมไนซ์อาเซียนหรือไม่ หรือ 2) หากผู้นำของเข้าไม่สามารถแสดงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าก่อนการนำของออกจากอารักขาศุลกากรได้ ผู้นำของเข้าต้องแจ้งความจำนงเพื่อการขอใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรโดยบันทึกข้อมูลการสงวนสิทธิการขอคืนอากรก่อนการนำของออกจากอารักขาของศุลกากร ซึ่งหากผู้นำของเข้าไม่ปฏิบัติตามให้ครบหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าว ผู้นำของเข้าก็ต้องชำระอากรในอัตราปกติและไม่ได้รับสิทธิพิเศษตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 เมื่อข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งปรากฏว่าโจทก์ชำระอากรขาเข้าและได้รับมอบของไปจากอารักขาของศุลกากรแล้ว และโจทก์มิได้แสดงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) ก่อนการนำของออกจากอารักขาศุลกากร หรือแจ้งความจำนงเพื่อการขอใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรโดยบันทึกข้อมูลการสงวนสิทธิการขอคืนอากรซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีก่อนนำของออกจากอารักขาของศุลกากร และอย่างไรก็ตาม โจทก์ก็ไม่ได้นำสืบว่าบัญชีราคาสินค้าหรือเอกสารทางการค้าอื่นจัดทำโดยผู้ส่งออกรับอนุญาตและมีข้อความรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลของภาคีสมาชิกอาเซียนที่เข้าร่วมในโครงการนำร่องสำหรับการดำเนินการระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของภูมิภาค ตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับของที่มีถิ่นกำเนิดจากอาเซียน ลงวันที่ 6 มกราคม 2555 แต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินอากรพร้อมดอกเบี้ยคืนจากการนำเข้าสินค้าพิพาท

ย่อยาว

โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาพร้อมฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์นำเข้าสินค้ายางรถยนต์จากสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประเภทพิกัด 4011.10.00 อัตราอากรขาเข้าร้อยละ 10 โจทก์ชำระอากรขาเข้าและพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยตรวจปล่อยสินค้าแล้ว ต่อมาโจทก์ยื่นขอใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าและขอคืนอากรขาเข้าที่ชำระไปแล้ว 824,678 บาท พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าโจทก์ไม่ได้ยื่นเอกสารการขอใช้สิทธิในขณะผ่านพิธีการ ซึ่งต่อมาโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่ออธิบดีกรมศุลกากร และจำเลยยกอุทธรณ์ด้วยเหตุผลว่าโจทก์ขอคืนเงินอากรโดยนำหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้ามาแสดงภายหลังได้ผ่านพิธีการและรับมอบของจากอารักขากรมศุลกากรโดยมิได้สงวนสิทธิขอคืน จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการขอคืนค่าภาษีอากร ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจาณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 (3) และมาตรา 9 ซึ่งบัญญัติให้ต้องดำเนินการในศาลภาษีอากรได้ต่อเมื่อปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคห้า ที่ใช้บังคับในขณะนั้น บัญญัติเพียงว่า “สิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากรเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงเป็นอันสิ้นไปเมื่อครบกำหนดสองปีนับจากวันที่นำของเข้าหรือส่งของออก แล้วแต่กรณี แต่คำเรียกร้องขอคืนอากรเพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิด คุณภาพ ปริมาณ น้ำหนัก หรือราคาแห่งของใด ๆ หรือเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของใด ๆ นั้น มิให้รับพิจารณาหลังจากที่ได้เสียอากรและของนั้น ๆ ได้ส่งมอบหรือส่งออกไปแล้ว เว้นแต่ในกรณีที่ได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งมอบหรือส่งออกว่าจะยื่นคำเรียกร้องดังกล่าว หรือในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่พึงต้องรู้ก่อนส่งมอบหรือส่งออกว่าอากรที่ชำระไว้นั้นเกินจำนวนที่พึงต้องเสียสำหรับของที่ส่งมอบหรือส่งออก” เมื่อปรากฏตามใบขนสินค้าขาเข้า แผ่นที่ 119 และ 163 ว่าโจทก์นำเข้าสินค้าพิพาทในวันที่ 12 กันยายน 2555 และวันที่ 24 ตุลาคม 2555 และโจทก์ได้ยื่นหนังสือเพื่อขอใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 2 ฉบับ ต่อจำเลยเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2556 จึงเป็นการใช้สิทธิขอคืนเงินอากรภายใน 2 ปี นับแต่วันนำเข้าตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนดแล้ว และกรณีเป็นการเรียกร้องขอคืนเงินอากรเพราะต้องการใช้สิทธิตามข้อผูกพันตามความตกลงทางการค้าสินค้าของอาเซียน ไม่ใช่กรณีคำเรียกร้องขอคืนอากรเพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิด คุณภาพ ปริมาณ น้ำหนัก หรือราคาแห่งของใด ๆ หรือเกี่ยวกับอัตราอากรตามมาตรา 10 วรรคห้าตอนท้าย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินอากรได้
ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินอากรพร้อมดอกเบี้ยคืนหรือไม่ เห็นว่า ประกาศกระทรวงการคลังและประกาศกรมศุลกากรที่ออกโดยอาศัยอำนาจของมาตรา 14 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ได้กำหนดเงื่อนไขสำคัญสำหรับผู้นำของเข้าที่ประสงค์จะใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร 1) ให้ผู้นำของเข้าแสดงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า บัญชีราคาสินค้าที่มีข้อความรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าหรือเอกสารทางการค้าอื่นที่มีข้อความรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยพิจารณาเอกสารว่าเป็นไปตามข้อผูกพันตามความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement : ATIGA) และข้อผูกพันตามพิธีสารว่าด้วยการนำพิกัดศุลกากรฮาร์โมไนซ์อาเซียนหรือไม่ หรือ 2) หากผู้นำของเข้าไม่สามารถแสดงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าก่อนการนำของออกจากอารักขาศุลกากรได้ ผู้นำของเข้าต้องแจ้งความจำนงเพื่อการขอใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรโดยบันทึกข้อมูลการสงวนสิทธิการขอคืนอากรก่อนการนำของออกจากอารักขาของศุลกากร ซึ่งหากผู้นำของเข้าไม่ปฏิบัติตามให้ครบหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าว ผู้นำของเข้าก็ต้องชำระอากรในอัตราปกติและไม่ได้รับสิทธิพิเศษตามมาตรา 14 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 เมื่อข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งปรากฏว่าโจทก์ชำระอากรขาเข้าและได้รับมอบของไปจากอารักขาของศุลกากรแล้ว และโจทก์มิได้แสดงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) ก่อนการนำของออกจากอารักขาศุลกากร หรือแจ้งความจำนงเพื่อการขอใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรโดยบันทึกข้อมูลการสงวนสิทธิการขอคืนอากรซึ่งเป็นงื่อนไขสำคัญในการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีก่อนนำของออกจากอารักขาของศุลกากร และอย่างไรก็ตาม โจทก์ก็ไม่ได้นำสืบว่าบัญชีราคาสินค้าหรือเอกสารทางการค้าอื่นจัดทำโดยผู้ส่งออกรับอนุญาตและมีข้อความรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลของภาคีสมาชิกอาเซียนที่เข้าร่วมในโครงการนำร่องสำหรับการดำเนินการระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของภูมิภาค ตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับของที่มีถิ่นกำเนิดจากอาเซียน ลงวันที่ 6 มกราคม 2555 แต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินอากรพร้อมดอกเบี้ยคืนจากการนำเข้าสินค้าพิพาท ด้วยเหตุผลดังกล่าว แม้โจทก์จะมีอำนาจฟ้อง แต่เมื่อฎีกาของโจทก์ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงผลคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ฎีกาของโจทก์จึงไม่เป็นปัญหาที่เกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน และไม่เป็นกรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญซึ่งยังไม่มีแนวคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกามาก่อนดังที่โจทก์อ้าง อันไม่เป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง (1) (3) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 26
จึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ฎีกา ให้ยกคำร้อง และไม่รับฎีกาของโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

Share