คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6245/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 คำสั่งอนุญาตหรือไม่ อนุญาตให้ผู้ใด ก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคาร เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งตามบทบัญญัติมาตรา 4 บัญญัติว่า ในพระราชบัญญัตินี้เจ้าพนักงานท้องถิ่น หมายความว่า (1)นายกเทศมนตรี สำหรับในเขตเทศบาล ดังนั้น นายกเทศมนตรีเมืองนนทบุรีจึงเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่น ส่วนเทศบาลเมืองนนทบุรี จำเลยมิได้เป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่น และที่นายกเทศมนตรีเมืองนนทบุรีสั่งให้โจทก์รื้อถอนอาคารก็สั่งในฐานะเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งแยกต่างหากจากการสั่งในฐานะเป็นผู้กระทำแทนจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคล คำสั่งดังกล่าวจึงมิใช่คำสั่งของจำเลย เมื่อจำเลยมิได้โต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยแล้ว ศาลฎีกาก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ว่าสมควรเรียกนายกเทศมนตรีเมืองนนทบุรีเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) หรือไม่อีกต่อไป เพราะไม่เป็นประโยชน์แก่คดีของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ดำเนินการแก้ไขอาคารพาณิชย์เลขที่ 35/34-36 ของโจทก์ ภายใน 45 วัน โดยอ้างว่ามีสภาพหรือมีการใช้ที่อาจเป็นภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สินหรือไม่อาจปลอดภัยจากอัคคีภัยหรือก่อให้เกิดเหตุรำคาญหรือกระทบกระเทือนต่อสภาพแวดล้อม และต่อมวันที่6 กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยมีคำสั่งที่ นบ.5206/416 ให้โจทก์รื้อถอนอาคารดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2538คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำสั่งยกอุทธรณ์ของโจทก์โดยมิได้แจ้งเหตุผล คำสั่งของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะอาคารของโจทก์ทั้งสามคูหามิได้มีสภาพอันอาจเป็นภยันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินหรือไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัย หรือก่อให้เกิดเหตุรำคาญกระทบกระเทือนต่อการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งที่นบ.5206/416 ของจำเลยฉบับลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2538
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้กระทำการใดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ คำสั่งให้แก้ไขและให้รื้อถอนอาคารของโจทก์เป็นคำสั่งของนายกเทศมนตรีเมืองนนทบุรีซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นและกระทำในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 ไม่ใช่คำสั่งของจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยและคำสั่งของนายกเทศมนตรีเมืองนนทบุรีที่ให้โจทก์ดำเนินการแก้ไขอาคารและคำสั่งให้รื้อถอนอาคารเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2538นายกเทศมนตรีเมืองนนทบุรีซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งที่ นบ.5206/416 ให้โจทก์รื้อถอนอาคารเลขที่ 35/34-36หมู่ที่ 9 ถนนงามวงศ์วาน ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรีจังหวัดนนทบุรี ทั้งหมดภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งโจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีเป็นประธานผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์แล้วมีมติว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นชอบแล้วให้ยกอุทธรณ์
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ในปัญหาดังกล่าว โจทก์ฎีกาว่า ที่นายกเทศมนตรีเมืองนนทบุรีสั่งให้โจทก์รื้อถอนอาคารดังกล่าวได้สั่งในฐานะผู้กระทำแทนจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลด้วยจำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นนั้นเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 คำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ผู้ใด ก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งตามบทบัญญัติมาตรา 4 บัญญัติว่า ในพระราชบัญญัตินี้เจ้าพนักงานท้องถิ่น หมายความว่า (1) นายกเทศมนตรี สำหรับในเขตเทศบาล ดังนั้น นายกเทศมนตรีเมืองนนทบุรีจึงเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่น ส่วนจำเลยมิได้เป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นและที่นายกเทศมนตรีเมืองนนทบุรีสั่งให้โจทก์รื้อถอนอาคารก็สั่งในฐานะเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งแยกต่างหากจากการสั่งในฐานะเป็นผู้กระทำแทนจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคล คำสั่งดังกล่าวจึงมิใช่คำสั่งของจำเลย จำเลยมิได้โต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์แต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย และเมื่อฟังว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยแล้วก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ว่าสมควรเรียกนายกเทศมนตรีเมืองนนทบุรีเข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) หรือไม่อีกต่อไป เพราะไม่เป็นประโยชน์แก่คดีของโจทก์
พิพากษายืน

Share