แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2538 และผู้ร้องก็ทราบว่ามีการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทในวันดังกล่าว แต่ไม่ได้มาคัดค้านเพราะป่วยเนื่องจากประสบอุบัติเหตุ หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ ผู้ร้องได้ไปตรวจสอบที่สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ประจำศาล จึงทราบว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ไปในราคาต่ำกว่าราคาที่ประเมินไว้ ดังนี้ ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งยกเลิกการบังคับคดีที่ผู้ร้องเห็นว่าไม่ถูกต้องได้ภายใน 8 วัน นับแต่วันที่ 19พฤษภาคม 2538 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ร้องทราบว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์โดยไม่ถูกต้อง แต่ปรากฏว่าผู้ร้องเพิ่งมายื่นคำร้องคัดค้านการบังคับคดีต่อศาล ขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อวันที่ 8มิถุนายน 2538 ซึ่งล่วงพ้นกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันที่ผู้ร้องทราบการฝ่าฝืนนั้นแล้ว ดังนั้น ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ.มาตรา 296 วรรคสอง
แม้ระยะเวลาตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ.มาตรา 296 วรรคสองนั้น ศาลมีอำนาจขยายให้ได้ก็ตาม แต่จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและผู้ร้องจะต้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ตามมาตรา 23 เมื่อผู้ร้องมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวอีกทั้งกรณีตามคำร้องก็ไม่ปรากฏเหตุสุดวิสัย จึงไม่อาจยื่นคำร้องเกินกำหนดระยะเวลา 8 วันได้ ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่าเชื่อตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ว่ายื่นคำร้องเกินกำหนดได้ก็เป็นข้ออ้างที่ปราศจากเหตุผลให้รับฟัง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดิน ๒ แปลงตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) เลขที่ ๑๗๙ พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยออกขายทอดตลาด เพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา โดยโจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินดังกล่าวได้ทั้งสองแปลงในราคา ๒๕,๐๐๐ บาท และ ๑๔๐,๐๐๐ บาท ตามลำดับ
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดดังกล่าวกึ่งหนึ่ง เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวแก่โจทก์ในราคาต่ำเกินไป ไม่เหมาะสมกับราคาท้องตลาดและราคาประเมินของทางราชการ ขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าว
โจทก์ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๙๖ วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลอื่นที่มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายโดยการฝ่าฝืนนั้น แล้วแต่กรณีอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงแต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่ทราบการฝ่าฝืนนั้น ขอให้ศาลมีคำสั่งยกกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวง หรือวิธีการบังคับใด ๆ โดยเฉพาะ หรือขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างใด ๆ แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่เห็นสมควร …” คดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทเมื่อวันที่ ๑๒พฤษภาคม ๒๕๓๘ และได้ความจากทางนำสืบของผู้ร้องว่า ผู้ร้องก็ทราบว่ามีการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทในวันดังกล่าว แต่ไม่ได้มาคัดค้านเพราะป่วยเนื่องจากประสบอุบัติเหตุหลังจากนั้นประมาณ ๑ สัปดาห์ ผู้ร้องได้ไปตรวจสอบที่สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ประจำศาลจังหวัดศรีษะเกษ จึงทราบว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ไปในราคาต่ำกว่าราคาที่ประเมินไว้ ดังนี้ ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งยกเลิกการบังคับคดีที่ผู้ร้องเห็นว่าไม่ถูกต้องได้ภายใน ๘ วันนับแต่วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๓๘ ซึ่งเป็นวันที่ผู้ร้องทราบว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์โดยไม่ถูกต้อง แต่ปรากฏว่าผู้ร้องเพิ่งมายื่นคำร้องคัดค้านการบังคับคดีต่อศาลขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อวันที่๘ มิถุนายน ๒๕๓๘ ซึ่งล่วงพ้นกำหนดเวลา ๘ วัน นับแต่วันที่ผู้ร้องทราบการฝ่าฝืนนั้นแล้ว ดังนั้น ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาดตามกฎหมายดังกล่าว ที่ผู้ร้องฎีกาว่า กำหนดระยะเวลา ๘ วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙๖ วรรคสองนั้น เจตนารมณ์ของกฎหมายเพียงแต่บัญญัติหลักการไว้กว้าง ๆ เท่านั้น ตามหลักปฏิบัติไม่ควรจะถือเคร่งครัด โดยเปรียบเทียบกับกำหนดระยะเวลาในการยื่นคำให้การของจำเลยซึ่งกฎหมายกำหนดเวลาไว้๑๕ วัน แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นจำเลยอาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อยื่นคำให้การเกินกำหนดได้ถ้ามีเหตุสมควร ในกรณีคดีนี้จำเลยป่วยอยู่ที่กรุงเทพมหานครและเจ้าหน้าที่สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์แนะนำผู้ร้องว่ายื่นคำร้องเกินกว่า ๘ วัน ได้ ทั้งผู้ร้องได้ยื่นคำร้องภายในระยะเวลาตามสมควรนั้น เห็นว่า แม้ระยะเวลาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น ศาลมีอำนาจขยายให้ได้แต่จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและผู้ร้องจะต้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓ เมื่อผู้ร้องมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวอีกทั้งกรณีตามคำร้องก็ไม่ปรากฏเหตุสุดวิสัย จึงไม่อาจยื่นคำร้องเกินกำหนดระยะเวลา ๘ วันได้ ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่าเชื่อตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ว่ายื่นคำร้องเกินกำหนดได้ก็เป็นข้ออ้างที่ปราศจากเหตุผลให้รับฟัง
พิพากษายืน.