แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ญ. กับโจทก์ร่วมกันฝากเงินไว้แก่ธนาคารกรุงเทพกรรมสิทธิ์ในตัวเงินฝากย่อมตกเป็นของธนาคารกรุงเทพไปแล้วธนาคารผู้รับฝากคงมีหน้าที่เพียงต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้นการที่ญ. นำสมุดเงินฝากประจำมอบไว้แก่ธนาคารกรุงไทย จำเลยจึงมิใช่การจำนำเงินฝากและแม้ในสัญญาระหว่างญ. กับจำเลยจะมีข้อความว่า”จำนำสิทธิที่จะถอนเงินจากบัญชีเงินฝากนี้ไว้กับธนาคารกรุงไทย (เจ้าหนี้)เพื่อเป็นประกันหนี้ของหจก.ส. (ลูกหนี้)ต่อธนาคารนี้เป็นจำนวนเงิน1,000,000บาทบัญชีเงินฝากประจำ3เดือนจำนวนเงินในบัญชี1,0000,000บาท”ก็ตามลักษณะดังกล่าวก็หาใช่เป็นการจำนำสิทธิซึ่งมีตราสารดังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา750บัญญัติไว้ไม่เพราะสมุดเงินฝากเป็นเพียงเอกสารหลักฐานแสดงถึงการรับฝากและถอนเงินที่ผู้รับฝากให้ผู้ฝากยึดถือไว้เพื่อความสะดวกในการฝากและถอนเงินในบัญชีเงินฝากประจำของผู้ฝากและแสดงถึงการเป็นลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ระหว่างผู้ฝากกับธนาคารผู้รับฝากเท่านั้นจึงเป็นเอกสารธรรมดาที่ทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานแห่งสิทธิทั่วไปมิใช่สิทธิซึ่งมีตราสารที่ใช้แทนสิทธิหรือทรัพย์ซึ่งเป็นเอกสารที่ทำขึ้นตามแบบพิธีในกฎหมายและโอนกันได้ด้วยวิธีของตราสารแม้สัญญาดังกล่าวจะไม่ใช่สัญญาจำนำแต่การที่ญ. ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมในสมุดเงินฝากคนหนึ่งมอบสมุดเงินฝากให้จำเลยไว้ตามสัญญาเมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1357ให้สันนิษฐานว่าเจ้าของร่วมมีส่วนเท่ากันกรณีจึงผูกพันและบังคับกันได้ในส่วนของญ. เพราะมิใช่สัญญาที่ขัดต่อกฎหมายจำเลยจึงมีสิทธิโดยชอบตามสัญญาที่จะยึดถือสมุดเงินฝากไว้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมอีกคนหนึ่งจะขอให้จำเลยส่งมอบสมุดเงินฝากให้โจทก์ไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และนางสาวญาณี ศรีทองคำ มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในจำนวนเงินที่ฝากไว้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาฉะเชิงเทรา ต่อมานางสาวญาณีได้ลักลอบนำสมุดเงินฝากไปจำนำสิทธิการถอนเงินฝากจากบัญชีไว้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัดสาขาสะพานใหม่ ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของจำเลยเพื่อค้ำประกันหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดสุวิภาการโยธา ที่มีต่อจำเลยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ สัญญาจำนำสิทธิการถอนเงินฝากจึงตกเป็นโมฆะขอให้พิพากษาว่าสัญญาจำนำสิทธิการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำ3 เดือน บัญชีเลขที่ 283-228229-3 สมุดเงินฝากประจำ 3 เดือนของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาฉะเชิงเทรา จำนวนเงิน 1,000,000 บาทตกเป็นโมฆะหรือให้เพิกถอนการจำนำสิทธิที่จะถอนเงินฝากจากสมุดเงินฝากประจำดังกล่าว กับให้จำเลยส่งมอบสมุดเงินฝากประจำดังกล่าวคืนแก่โจทก์ หากไม่ส่งคืนให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับนางสาวญาณีเรื่องการเบิกจ่ายเงินไม่ได้แจ้งให้จำเลยซึ่งรับจำนำโดยสุจริตทราบจึงไม่ผูกพันจำเลย นางสาวญาณีจะลักสมุดเงินฝากไปจากโจทก์จริงหรือไม่ ไม่ทราบ จำเลยได้แจ้งการจำนำสิทธิการถอนเงินฝากแก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาฉะเชิงเทรา แล้ว โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิบอกล้างสัญญาจำนำภายใน 1 ปี สัญญาจำนำสิทธิการถอนเงินฝากยังคงสมบูรณ์ในส่วนที่นางสาวญาณีมีสิทธิในเงินฝากจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดสุวิภาการโยธาผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยจึงมีสิทธิยึดหน่วงสมุดเงินฝากที่นางสาวญาณีจำนำไว้ และนำเงินในบัญชีหักชำระหนี้ให้แก่จำเลยได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยส่งมอบสมุดเงินฝากประจำ3 เดือน บัญชีเลขที่ 283-228229-3 ของธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาฉะเชิงเทรา แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ส่งมอบให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายว่า การจำนำสิทธิที่จะถอนเงินในบัญชีเงินฝากตามฟ้องระหว่างนางสาวญาณี ศรีทองคำกับจำเลยชอบหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า วันที่12 ตุลาคม 2532 โจทก์และนางสาวญาณีได้นำเงินจำนวน 1,000,000 บาทไปฝากประจำไว้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาฉะเชิงเทราบัญชีเลขที่ 283-228229-3 โดยมีเงื่อนไขว่า การสั่งจ่ายเงินและปิดบัญชีโจทก์และนางสาวญาณีจะต้องลงชื่อร่วมกันตามเอกสารหมาย จ.1 และธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาฉะเชิงเทราได้ออกสมุดคู่ฝากไว้ให้ตามเอกสารหมาย ล.11 ต่อมาวันที่15 กุมภาพันธ์ 2534 นางสาวญาณีได้นำสมุดเงินฝากตามเอกสารหมาย ล.11ดังกล่าวไปจำนำสิทธิการถอนเงินฝากจากบัญชีไว้แก่ธนาคารกรุงไทยจำกัด สาขาสะพานใหม่ ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของจำเลยเพื่อค้ำประกันหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดสุวิภาการโยธาที่มีต่อจำเลยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.10 หรือ ล.12 ดังนี้เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 747 การจำจำผู้จำนำจะต้องส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจำนำเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้คดีนี้แม้นางสาวญาณีส่งมอบสมุดเงินฝากตามเอกสารหมาย ล.11 ให้แก่จำเลยไปแล้วก็ตามแต่เมื่อนางสาวญาณีกับโจทก์ได้ร่วมกันฝากเงินตามจำนวนในสมุดเงินฝากดังกล่าวไว้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาฉะเชิงเทรากรรมสิทธิ์ในตัวเงินฝากย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาฉะเชิงเทรา ไปแล้ว ธนาคารผู้รับฝากคงมีหน้าที่เพียงต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น การที่นางสาวญาณีนำสมุดเงินฝากประจำดังกล่าวมอบให้ไว้แก่จำเลยจึงมิใช่การจำนำเงินฝากและแม้ตามเอกสารหมาย จ.10 หรือ ล.12 จะมีข้อความว่า “จำนำสิทธิที่จะถอนเงินจากบัญชีเงินฝากนี้ไว้กับธนาคารกรุงไทย จำกัด(เจ้าหนี้) เพื่อเป็นประกันหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดสุวิภาการโยธา(ลูกหนี้) ซึ่งเป็นลูกหนี้อยู่ในขณะนี้ หรือเป็นลูกหนี้ในเวลาใดเวลาหนึ่งต่อไปภายหน้าต่อธนาคารนี้เป็นจำนวนเงิน 1,000,000 บาท(หนึ่งล้านบาทถ้วน) บัญชีเงินฝากประจำก 3 เดือน เลขที่ 283-228229-3ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาฉะเชิงเทรา จำนวนเงินในบัญชี1,000,000 (หนึ่งล้านบาทถ้วน)” ลักษณะดังกล่าวก็หาใช่เป็นการจำนำสิทธิซึ่งมีตราสารดังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 750 บัญญัติไว้ไม่ เพราะสมุดเงินฝากดังกล่าวเป็นเพียงเอกสารหลักฐานแสดงถึงการรับฝากและถอนเงินที่ผู้รับฝากให้ผู้ฝากยึดถือไว้เพื่อความสะดวกในการฝากและถอนเงินในบัญชีฝากประจำของผู้ฝากและแสดงถึงการเป็นลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ระหว่างผู้ฝากกับธนาคารผู้รับฝากเท่านั้น จึงเป็นเอกสารธรรมดาที่ทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานแห่งสิทธิทั่วไป มิใช่สิทธิซึ่งมีตราสารที่ใช้แทนสิทธิหรือทรัพย์ซึ่งเป็นเอกสารที่ทำขึ้นตามแบบพิธีในกฎหมายและโอนกันได้ด้วยวิธีของตราสาร แม้เอกสารหมาย จ.10 หรือ ล.12 จะไม่ใช่สัญญาจำนำดังที่วินิจฉัยมาแล้ว แต่การที่นางสาวญาณีซึ่งเป็นผู้ฝากเงินตามสมุดเงินฝากที่พิพาทร่วมกับโจทก์ได้ทำสัญญาตามเอกสารหมาย จ.10 หรือ ล.12 ไว้กับจำเลยและมอบสมุดเงินฝากให้จำเลยไว้ตามสัญญา ในเมื่อนางสาวญาณีเป็นเจ้าของร่วมในสมุดเงินฝากคนหนึ่งซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1357ให้สันนิษฐานว่าเจ้าของร่วมมีส่วนเท่ากัน กรณีจึงผูกพันและบังคับกันได้ในส่วนของนางสาวญาณี เพราะมิใช่สัญญาที่ขัดต่อกฎหมายจำเลยจึงมีสิทธิโดยชอบตามสัญญาที่จะยึดถือสมุดเงินฝากไว้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมอีกคนหนึ่งจะขอให้จำเลยส่งมอบสมุดเงินฝากให้โจทก์ไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยส่งมอบสมุดเงินฝากแก่โจทก์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น