แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
การฟ้องคดีเพื่อให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐรับผิดจากการกระทำละเมิดที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จะต้องเป็นกรณีที่จำเลยหรือผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือผู้ฟ้องคดี อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองกระทำละเมิดนำรถมาไถที่ดินรุกล้ำเข้ามาในเขตที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ทำให้ต้นไม้ที่ผู้ปลูกไว้ในที่ดินได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีคืนที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีพร้อมไถปรับแปลงคันนาให้เหมือนเดิม และให้ผู้ถูกฟ้องคดีไปใช้พื้นที่อื่นที่ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่าไม่ได้กระทำละเมิด ที่ดินบริเวณพิพาทเป็นที่ดินราชพัสดุ เห็นว่า แม้คดีมีประเด็นเกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่เหตุอันเป็นที่มาแห่งความเดือดร้อนเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง มิใช่กรณีพิพาทจากการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย อันจะเข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ทั้งเป็นกรณีที่คู่กรณียังโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดี และคดีมีประเด็นสำคัญที่ต้องวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองทำประโยชน์หรือเป็นที่ดินราชพัสดุ แล้วจึงจะวินิจฉัยประเด็นพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีได้ ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดและคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม