คำวินิจฉัยที่ 179/2561

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อนอก ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ ๒ นายอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินมีโฉนด แต่ถูกผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นคำขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงที่สาธารณประโยชน์ประจำหมู่บ้าน ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ รวมที่ดินของผู้ฟ้องคดีอยู่ด้วย เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้แทนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ นำรังวัดที่ดิน ผู้ฟ้องคดียื่นคัดค้านการรังวัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีไปใช้สิทธิทางศาล ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ตรวจสอบการรังวัด เพิกถอนการรังวัด และเพิกถอนคำขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เห็นว่า แม้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่การกระทำที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีได้แก่การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ รังวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินพิพาทตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งผู้ฟ้องคดีอ้างว่าเป็นที่ดินที่ตนมีกรรมสิทธิ์ เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๓ ในฐานะผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็น สาธารณสมบัติของแผ่นดิน อ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของตน จึงขอให้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง แต่ผู้ฟ้องคดีคัดค้านการรังวัดว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินสาธารณประโยชน์ หากแต่เป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เมื่อมีการคัดค้านการรังวัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีไปใช้สิทธิทางศาลเพื่อพิสูจน์สิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ดังนี้ เมื่อการดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๓ ที่ขอให้มีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงไม่ใช่การใช้อำนาจตามกฎหมายแต่เป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลคุ้มครองที่สาธารณะ และการรังวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ยังไม่มีคำสั่งทางปกครอง กรณีจึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใด และมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่นตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่การที่ผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๓ ต่างก็กล่าวอ้างถึงความมีสิทธิในที่ดินพิพาท กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share