แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
การขอให้บังคับคู่ความปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ อยู่ในเขตอำนาจของศาลใดนั้น บทบัญญัติมาตรา ๙ และมาตรา ๔๕ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติให้เขตอำนาจศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการนั้น อาจมีได้หลายศาลและอาจเป็นข้อพิพาทที่อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองก็ได้ หากมีปัญหาโต้แย้งกันว่าคดีควรอยู่ในอำนาจของศาลใดและมีการเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการต้องพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของการจัดตั้งระบบศาลคู่ เพื่อให้ประชาชนได้รับการพิจารณาพิพากษาคดีจากศาลที่มีความเชี่ยวชาญในคดีพิพาทนั้นๆ
ข้อเท็จจริงคดีนี้ เมื่อบริษัท ล. ผู้ร้อง ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง ขอให้บังคับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้คัดค้าน ซึ่งเป็นคู่สัญญากับผู้ร้องตามสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉินโรงพยาบาลหัวหิน ให้ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่สืบเนื่องมาจากสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉินโรงพยาบาลหัวหิน จึงต้องพิจารณาว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เมื่อสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉินโรงพยาบาลหัวหินระหว่างผู้คัดค้านและกิจการร่วมค้า อ. มีสาระสำคัญเป็นการที่ผู้คัดค้านว่าจ้างให้กิจการร่วมค้า อ. ซึ่งมีผู้ร้องเป็นบริษัทหนึ่งของกิจการร่วมค้าดังกล่าว ให้ก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉินโรงพยาบาลหัวหินซึ่งเป็นโรงพยาบาลของรัฐ และเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐตามภารกิจของผู้คัดค้านด้านการส่งเสริมและรักษาสุขภาพให้แก่ประชาชน มีลักษณะเป็นสัญญาที่จัดให้มีสิ่งจำเป็นในการจัดทำบริการสาธารณะ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น คำร้องของผู้ร้องคดีนี้ที่ขอให้บังคับคู่สัญญาปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการอันสืบเนื่องมาจากสัญญาทางปกครอง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏตามคำชี้แจงของผู้ร้องว่าในระหว่างดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการ ศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลยุติธรรมได้ออกหมายเรียกบุคคลให้มาเป็นพยานแก่อนุญาโตตุลาการ ซึ่งถือเป็นศาลที่มีการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขตศาล ตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ แต่เมื่อในขณะที่มีการเริ่มวิธีพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการ ศาลปกครองซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองเปิดทำการแล้ว จึงต้องพิจารณาเขตอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และเจตนารมณ์ของการจัดตั้งศาลในระบบศาลคู่เป็นสำคัญยิ่งกว่าเขตอำนาจศาลที่ได้มีการออกหมายเรียกบุคคลให้มาเป็นพยานแก่อนุญาโตตุลาการ ประกอบกับผู้คัดค้านมอบอำนาจให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวต่อศาลปกครองเพชรบุรี การขอบังคับให้คู่สัญญาปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการคดีนี้จึงอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองเช่นเดียวกับการขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเพื่อให้การตรวจสอบกระบวนพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการเกี่ยวกับสัญญาฉบับเดียวกันนี้ อยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลเดียวกัน