แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕/๒๕๕๐
วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๐
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดบึงกาฬ
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดบึงกาฬโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๘ นายอาภรณ์ โทณะวณิก โจทก์ ยื่นฟ้อง นางประเพ็ญ พิทูลทอง ที่ ๑ นายพงษ์เทพ พิทูลทอง ที่ ๒ นางกลีบเพชร อาแพงพันธ์ (พิทูลทอง) ที่ ๓ นายบุญเลิศ ชีพนุรัตน์ ที่ ๔ นางพรทิพย์ ชีพนุรัตน์ ที่ ๕ นางหฤทัย พิทูลทอง ที่ ๖ นายถาวร เหล่าชัย ที่ ๗ นายมนูญ จิตรธรรม ที่ ๘ นายบรรเฑิง หอมวุฒิวงศ์ ที่ ๙ นายไพศาล สุทธิแสวง ที่ ๑๐ นายประสงค์ศักดิ์ บุญเดช ที่ ๑๑ นายอนันต์ แจ้งกลีบ ที่ ๑๒ นายเขื่อน พรมพุฒ ที่ ๑๓ กรมที่ดิน ที่ ๑๔ จำเลย ต่อศาลจังหวัดบึงกาฬ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๕๐๙/๒๕๔๘ ความว่า คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๗๕ ถึงเลขที่ ๑๓๔ ตำบลบ้านต้อง อำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย รวม ๖๐ แปลง จากจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายมีคำสั่งจังหวัดหนองคาย ที่ ๕๒๐/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๔๓ ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว เนื่องจากที่ดินดังกล่าวเจ้าของที่ดินเดิมมิได้ครอบครองทำประโยชน์มาก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินมีผลใช้บังคับ และไม่ได้แจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ หรือแจ้งความประสงค์จะได้สิทธิในที่ดิน (ส.ค. ๒ ) ตามมาตรา ๒๗ ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และ น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวออกภายหลังวันที่พระราชกฤษฎีกาประกาศให้ที่ดินบริเวณดังกล่าวอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีผลใช้บังคับ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไม่เห็นด้วยกับอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์เสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อเพิกถอนคำสั่ง ต่อมามีการโอนคดีไปยังศาลปกครองกลางโดยมีโจทก์เป็นผู้ฟ้องคดี หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว ที่ ๑ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี เนื้อหาแห่งคำฟ้องอ้างว่าที่ดินที่ถูกเพิกถอนดังกล่าวเป็นของโจทก์ การเพิกถอนไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาล ศาลปกครองกลางและศาลจังหวัดบึงกาฬเห็นพ้องต้องตรงกันว่า เป็นคดีที่จะต้องวินิจฉัยสิทธิครอบครองของโจทก์เสียก่อนที่จะวินิจฉัยประเด็นกระบวนการเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ศาลปกครองกลางจึงโอนคดีมาพิจารณาพิพากษาที่ศาลจังหวัดบึงกาฬเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๑๔/๒๕๔๘ ระหว่าง นายอาภรณ์ โทณะวนิก โจทก์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว ที่ ๑ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ที่ ๒ จำเลย ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องอ้างว่าประสงค์ที่จะฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๑ กับพวก เนื่องจากได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วนำมาเสนอขายแก่โจทก์ จึงขอถอนฟ้อง ศาลอนุญาตและจำหน่ายคดีจากสารบบความ
ต่อมาโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๔ เป็นคดีนี้ว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ซึ่งเป็นผู้ขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ที่ถูกเพิกถอนรวม ๖๐ แปลง กับจำเลยที่ ๗ ถึงที่ ๑๓ ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในการออก น.ส. ๓ ก. ดังกล่าว และจำเลยที่ ๑๔ ซึ่งมีฐานะเป็นกรมมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับที่ดินทั่วราชอาณาจักร รวมทั้งการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ยื่นคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เฉพาะรายที่ดิน ๖๐ แปลงดังกล่าว โดยไม่มีหลักฐานแจ้งการครอบครอง (ส.ค. ๑) ไม่มีการแจ้งการครอบครองที่ดิน ตามมาตรา ๒๗ ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จำเลยที่ ๗ ถึงที่ ๑๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินและตัวแทนของจำเลยที่ ๑๔ โดยทุจริตร่วมกันออก น.ส. ๓ ก. ให้แก่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ หลังจากนั้นจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ นำที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวหลอกลวงขายให้แก่โจทก์ ทั้งนี้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๐ และนายสุวัฒน์ อมรสุนทร ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินยืนยันกับโจทก์ว่า น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวเป็นเอกสารสิทธิที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้โจทก์หลงเชื่อจึงซื้อที่ดินดังกล่าว ต่อมาสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ความว่า การออก น.ส. ๓ ก. ดังกล่าว ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และชี้มูลความผิดว่าจำเลยที่ ๗ ถึงที่ ๑๒ มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนให้เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๐ กระทำโดยจงใจ ส่วนจำเลยที่ ๑๑ ถึงที่ ๑๓ กระทำโดยประมาท และจำเลยที่ ๑๔ ในฐานะตัวการของจำเลยที่ ๗ ถึงที่ ๑๓ ต้องร่วมกับตัวแทนรับผิดต่อโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสิบสี่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์เสียค่าซื้อที่ดิน ๑๓,๗๙๓,๖๒๗.๒๗ บาท ค่าขาดประโยชน์จากการที่ราคาที่ดินสูงขึ้นตามเวลาเป็นเงิน ๔๕,๑๖๑,๐๖๒ บาท ค่าขาดประโยชน์จากการไม่ได้ใช้ที่ดิน ๖๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นค่าเสียหาย ๑๑๘,๙๕๔,๖๘๙.๒๗ บาท ขอให้จำเลยทั้งสิบสี่ร่วมกันชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิมและครอบครองโดยสงบเปิดเผยต่อเนื่อง ที่ดินไม่ได้เป็นที่สาธารณประโยชน์หรือที่หวงห้ามแต่เป็นที่ดินมือเปล่าที่ยังไม่มีการออกเอกสารสิทธิ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ขอออก น.ส. ๓ ก. แล้วมีการออกเอกสารสิทธิดังกล่าวตามขั้นตอนตามกฎหมาย โดยไม่มีการโต้แย้งหรือคัดค้าน จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ เป็นเจ้าของจึงมีสิทธิขายที่ดินได้ คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๗ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๘ และที่ ๙ ให้การว่า จำเลยที่ ๘ และที่ ๙ ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบและกฎหมาย โดยไม่ได้ประมาทเลินเล่อหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑๐ ให้การว่า โจทก์สมคบกับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ในการออกหนังสือรับรอง การทำประโยชน์พิพาท จำเลยที่ ๑๐ ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑๑ ที่ ๑๒ และที่ ๑๔ ให้การว่า ทางราชการให้ตรวจสอบการออก น.ส. ๓ ก. พิพาทแล้ว ปรากฏว่าที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่มีการแจ้งการครอบครองหรือแจ้งความประสงค์ในการครอบครองที่ดินมาก่อน และไม่มีการรังวัดสอบสวนสิทธิหรือประกาศให้คัดค้าน จึงเป็นการออกโดยมิชอบ ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายมีคำสั่งเพิกถอน น.ส. ๓ ก. ดังกล่าว ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๑๓ เป็นพยานในการร่วมรังวัดตรวจแนวเขตที่สาธารณประโยชน์แทนนายอำเภอในฐานะผู้ปกครองท้องที่ ไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดิน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑๑ ที่ ๑๒ และที่ ๑๔ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า จำเลยที่ ๗ ถึงที่ ๑๓ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และจำเลยที่ ๑๔ เป็นหน่วยงานทางปกครอง ซึ่งโจทก์อ้างว่าได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๗ ถึงที่ ๑๔ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
โจทก์ยื่นคำชี้แจงคัดค้านว่า มูลแห่งคดีเกิดขึ้นก่อนประกาศใช้พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ และคดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าผู้ใดมีสิทธิในที่ดินพิพาท คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ศาลจังหวัดบึงกาฬพิจารณาแล้วเห็นว่า มูลความแห่งคดีนี้เกิดจากการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาท จำนวน ๖๐ แปลง เพราะที่ดินอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและกระบวนการในการออกไม่ถูกต้อง ถึงแม้ข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้มีการเปลี่ยนแปลงจากคดีเดิม ซึ่งอ้างว่าที่ดินเป็นของโจทก์และการเพิกถอนดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย มาเป็นว่าโจทก์ยอมรับการเพิกถอนดังกล่าว แต่ได้รับความเสียหายจาก การกระทำของจำเลยทั้งสิบสี่ กล่าวคือ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ร่วมกับจำเลยที่ ๗ ถึงที่ ๑๓ ออก น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แล้วจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ หลอกลวงขายที่ดินดังกล่าว คำฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๗ ถึงที่ ๑๔ มีลักษณะของการฟ้องคดีละเมิดของเจ้าหน้าที่ แต่อย่างไรก็ตามจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ให้การต่อสู้ในทำนองว่า ที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ที่ถูกเพิกถอนนั้น เป็นที่ดินที่มีการครอบครองโดยชอบและการออก น.ส. ๓ ก. ได้ดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบแล้ว ไม่ได้กระทำละเมิด การวินิจฉัยความรับผิดของจำเลยที่ ๗ ถึงที่ ๑๔ มีส่วนเกี่ยวพันกับข้อเท็จจริงในการวินิจฉัยความรับผิดของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ด้วย โดยเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยสิทธิครอบครองที่ดินอันเป็นพื้นฐานในการออก น.ส. ๓ ก. ซึ่งจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ให้การโต้แย้งข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์และขัดกับคำให้การของจำเลยที่ ๑๑ ที่ ๑๒ และที่ ๑๔ นอกจากนี้คดีก่อนกับคดีนี้มีข้อเท็จจริงเดียวกัน โดยคดีก่อนศาลจังหวัดบึงกาฬกับศาลปกครองกลางมีความเห็นตรงกันว่าคดีจะต้องวินิจฉัยกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองเสียก่อน คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม แล้วศาลปกครองกลางได้โอนคดีมาพิจารณาพิพากษาที่ศาลจังหวัดบึงกาฬเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๑๔/๒๕๔๘ สำหรับคดีนี้ ถึงแม้ข้อที่โจทก์อ้างให้ฝ่ายจำเลยรับผิดและคำขอท้ายฟ้องจะแตกต่างจากคดีก่อน แต่เมื่อพิเคราะห์คำคู่ความทุกฝ่ายแล้ว คดีจะต้องวินิจฉัยเรื่องสิทธิครอบครองในที่ดินเสียก่อน จึงจะพิจารณาปัญหาอื่นเช่นเดียวกับคดีก่อน ดังนั้นคดีสำหรับจำเลยที่ ๗ ถึงที่ ๑๔ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ถึงแม้คดีหมายเลขดำที่ ๒๑๔/๒๕๔๘ ของศาลจังหวัดบึงกาฬ จะมีข้อเท็จจริงเดียวกันกับคดีนี้ แต่ข้อพิพาทในคดีทั้งสองก็นับว่าแตกต่างกัน โดยข้อพิพาทในคดีหมายเลขดำที่ ๒๑๔/๒๕๔๘ นั้นเป็นกรณีของการฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ซึ่งเทียบได้กับคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่คดีนี้คู่กรณีพิพาทกันในเรื่องละเมิด โดยจะเป็นคดีละเมิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองนั้น เห็นว่าเหตุละเมิดในคดีนี้เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นสำคัญ ซึ่งนับได้ว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง (คำสั่งออก น.ส. ๓ ก.) อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น คดีสำหรับจำเลยที่ ๗ ถึงที่ ๑๔ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ยื่นคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินที่จำเลยทั้งหกอ้างว่าได้ครอบครอง จำเลยที่ ๗ ถึงที่ ๑๓ เป็นเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินและเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๑๔ ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริตร่วมกันออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๗๕ ถึงเลขที่ ๑๓๔ ตำบลบ้านต้อง อำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย อันเป็นการออกเฉพาะรายจำนวน ๖๐ แปลง ให้แก่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ตามคำขอ โดยไม่มีหลักฐานแจ้งการครอบครอง (ส.ค. ๑) ไม่มีการแจ้งการครอบครองที่ดินตามมาตรา ๒๗ ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม แล้วจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ นำที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวมาหลอกลวงขายให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๐ ยืนยันกับโจทก์ว่า น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวเป็นเอกสารสิทธิที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้โจทก์หลงเชื่อและซื้อที่ดินดังกล่าวไป ต่อมามีการเพิกถอน น.ส. ๓ ก. ดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสิบสี่เป็นละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยทั้งสิบสี่ร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิมและครอบครองโดยสงบเปิดเผยต่อเนื่อง ที่ดินไม่ได้เป็นที่สาธารณประโยชน์หรือที่หวงห้าม แต่เป็นที่ดินมือเปล่าที่ยังไม่มีการออกเอกสารสิทธิ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ขอออก น.ส. ๓ ก. แล้วมีการออกเอกสารสิทธิดังกล่าวตามขั้นตอนตามกฎหมาย โดยไม่มีการโต้แย้งหรือคัดค้าน จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ จึงมีสิทธิขายที่ดินได้ คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ ๘ และที่ ๙ ให้การว่า จำเลยที่ ๘ และที่ ๙ ได้ปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมาย ไม่ได้ประมาทเลินเล่อ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ ๑๐ ให้การว่า โจทก์สมคบกับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์พิพาท จำเลยที่ ๑๐ ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ ๑๑ ที่ ๑๒ และที่ ๑๔ ให้การว่า ทางราชการให้ตรวจสอบการออก น.ส. ๓ ก. พิพาทแล้ว ปรากฏว่าที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่มีการแจ้งการครอบครองหรือแจ้งความประสงค์ในการครอบครองที่ดินมาก่อน และไม่มีการรังวัดสอบสวนสิทธิหรือประกาศให้คัดค้าน จึงเป็นการออกโดยมิชอบ ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายมีคำสั่งเพิกถอน น.ส. ๓ ก. ดังกล่าว ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง และจำเลยที่ ๑๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๑๓ เป็นพยานในการร่วมรังวัดตรวจแนวเขตที่สาธารณประโยชน์แทนนายอำเภอในฐานะผู้ปกครองท้องที่ ไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดิน เห็นว่า คดีนี้เอกชนเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ซึ่งเป็นเอกชน จำเลยที่ ๗ ถึงที่ ๑๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และจำเลยที่ ๑๔ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองว่า ร่วมกันกระทำละเมิด เรียกค่าเสียหาย โดยคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ไม่มีการโต้แย้งและเป็นที่ยุติว่าอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๗ ถึงที่ ๑๔ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง เมื่อโจทก์มีความประสงค์ที่จะฟ้องให้เอกชน เจ้าหน้าที่ของรัฐ และหน่วยงานทางปกครองร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ การพิจารณาพิพากษาคดีนี้จึงต้องพิจารณาประเด็นข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งหมดตามลำดับ ดังนั้น แม้โจทก์จะมิได้กล่าวอ้างว่าโจทก์มีสิทธิในที่ดินที่ถูกเพิกถอน น.ส. ๓ ก. ทั้ง ๖๐ แปลง ซึ่งสอดคล้องกับที่ จำเลยที่ ๗ ถึงที่ ๑๔ ให้การทำนองเดียวกันว่า การเพิกถอน น.ส. ๓ ก. ทั้ง ๖๐ แปลงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ยังคงให้การว่าได้ซื้อที่ดินดังกล่าวจากเจ้าของเดิมและครอบครองโดยสงบเปิดเผยต่อเนื่อง ที่ดินดังกล่าวไม่ได้เป็นที่สาธารณประโยชน์หรือที่หวงห้าม แต่เป็นที่ดินมือเปล่าที่ยังไม่มีการออกเอกสารสิทธิ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ขอออก น.ส. ๓ ก. แล้วมีการออกเอกสารสิทธิดังกล่าวตามขั้นตอนตามกฎหมาย โดยไม่มีการโต้แย้งหรือคัดค้าน จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ จึงเป็นเจ้าของและมีสิทธิขายที่ดินดังกล่าวได้ แสดงว่าจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ยังโต้แย้งอยู่ว่าจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ มีสิทธิครอบครองที่ดินที่ถูกเพิกถอน น.ส. ๓ ก. ก่อนที่จะขายให้แก่โจทก์ ดังนั้น คดีนี้ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ มีสิทธิครอบครองที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ทั้ง ๖๐ แปลง ก่อนที่จะขายให้แก่โจทก์ตามที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ อ้างหรือไม่ แล้วจึงพิจารณาได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งหมดเป็นละเมิดหรือไม่ จะต้องชดใช้ค่าเสียหายเพียงใด จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ทั้งมูลความแห่งคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๗ ถึงที่ ๑๔ ก็เป็นมูลความแห่งคดีเดียวกันกับคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม กรณีจึงชอบที่จะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลเดียวกัน เพื่อให้คำพิพากษาเป็นไปในแนวเดียวกัน ดังนั้น คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๗ ถึงที่ ๑๔ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมเช่นกัน
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายอาภรณ์ โทณะวณิก โจทก์ นางประเพ็ญ พิทูลทอง ที่ ๑ นายพงษ์เทพ พิทูลทอง ที่ ๒ นางกลีบเพชร อาแพงพันธ์ (พิทูลทอง) ที่ ๓ นายบุญเลิศ ชีพนุรัตน์ ที่ ๔ นางพรทิพย์ ชีพนุรัตน์ ที่ ๕ นางหฤทัย พิทูลทอง ที่ ๖ นายถาวร เหล่าชัย ที่ ๗ นายมนูญ จิตรธรรม ที่ ๘ นายบรรเฑิง หอมวุฒิวงศ์ ที่ ๙ นายไพศาล สุทธิแสวง ที่ ๑๐ นายประสงค์ศักดิ์ บุญเดช ที่ ๑๑ นายอนันต์ แจ้งกลีบ ที่ ๑๒ นายเขื่อน พรมพุฒ ที่ ๑๓ กรมที่ดิน ที่ ๑๔ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปัญญา ถนอมรอด (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายปัญญา ถนอมรอด) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
คมศิลล์ คัด/ทาน
??
??
??
??
๒