แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
สำเนา
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖/๒๕๕๐
วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๐
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดลำปาง
ระหว่าง
ศาลปกครองเชียงใหม่
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดลำปางโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องคดีเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจ และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๔๙ นางทับ ทิศรีชัย โจทก์ ยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลน้ำโจ้ ที่ ๑ นายปิยะ พินิจผล ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดลำปาง เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๓๒๐/๒๕๔๙ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๔๖๕๐ เลขที่ดิน ๕๙๕ ตำบลน้ำโจ้ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง เนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่ ๒ งาน ๙๑ ตารางวา ระหว่างวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ จนถึงวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๔๘ จำเลยที่ ๑ โดยความรับผิดชอบดูแลควบคุมของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำโจ้ ดำเนินการก่อสร้างดาดลำเหมืองตามโครงการก่อสร้างดาดลำเหมืองพร้อมวางท่อ (หมู่ที่ ๓ และหมู่ที่ ๕) ตำบลน้ำโจ้ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง โดยก่อสร้างดาดลำเหมืองมีความสูงประมาณ ๑ เมตร ซึ่งสูงเกินกว่าระดับถนนและที่ดินของโจทก์มากและไม่มีสะพานข้ามลำเหมือง ขวางกั้นปิดทางเข้าออกที่ดินของโจทก์และเจ้าของที่ดินบริเวณใกล้เคียง ทำให้ได้รับความลำบากในการสัญจร ขนส่ง และเดินทางเข้าออกที่ดินเพื่อเก็บเกี่ยวขนย้ายพืชไร่ทางการเกษตร ทั้งการก่อสร้างดังกล่าวรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์เป็นเนื้อที่ประมาณ ๒๐ ตารางวา โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์เห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นไปด้วยความประมาทเลินเล่อ จำเลยทั้งสองอาจใช้ความระมัดระวังเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่ โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองดำเนินการแก้ไขปรับปรุงเปิดทางเข้าออกที่ดินของโจทก์ และให้รื้อถอนดาดลำเหมืองดังกล่าวในส่วนที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์แล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดดังกล่าวเป็นเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท แก้ไขปรับปรุงสร้างสะพานข้ามดาดลำเหมืองเปิดทางเข้าออกที่ดินของโจทก์ และดำเนินการรื้อถอนดาดลำเหมืองในส่วนที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า การดำเนินการก่อสร้างดาดลำเหมืองเป็นโครงการของจำเลยที่ ๑ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำและระบบขนส่งน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่รับผิดชอบ ก่อนที่จะก่อสร้างจำเลยทั้งสองจัดให้มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มผู้ใช้น้ำที่ดาดลำเหมืองจะพาดผ่าน และแจ้งให้เจ้าของที่ดินที่ดาดลำเหมืองผ่านทราบว่าจะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดินโดยการสละที่ดินเป็นหนังสือ ต่อมากลุ่มผู้ใช้น้ำและเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินมีหนังสือยินยอมไว้เป็นหลักฐาน โจทก์มอบหมายให้นายมงคล คำปิ๋ว ซึ่งเป็นผู้ครอบครองแทนลงลายมือชื่อในฐานะผู้ให้ความยินยอมให้ใช้ประโยชน์ที่ดิน จำเลยทั้งสองไม่ทราบว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในที่ดินดังกล่าว ต่อมาจำเลยทั้งสองดำเนินการก่อสร้างดาดลำเหมืองตามขั้นตอนและวิธีการตามกฎหมายจนแล้วเสร็จ โจทก์ไม่เคยโต้แย้งคัดค้านหรือกล่าวอ้างแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ก่อสร้างดาดลำเหมือง ต่อมาจำเลยทั้งสองจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นถึงประโยชน์ที่ได้รับ รวมถึงผลกระทบและความเดือดร้อนที่ได้รับจากโครงการ โดยจัดให้มีการประชุมและร่วมกันแสดงความคิดเห็น นายสิน ทิศรีชัย สามีโจทก์เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและให้ความยินยอมและสมัครใจให้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน และขอให้จำเลยทั้งสองแก้ไขปัญหาทางเข้าออกเนื่องจากดาดลำเหมืองสูง จำเลยทั้งสองจึงดำเนินการแก้ไขตามมติที่ประชุมวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ โดยเปิดลำเหมืองเป็นทางสำหรับประชาชนเข้าออกเพื่อขนผลิตผลการเกษตรจำนวน ๒ จุดคือ ที่บริเวณกลางเหมืองและหัวเหมืองและดำเนินการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายและความเดือดร้อนตามที่กล่าวอ้าง นอกจากนี้จำเลยทั้งสองไม่ได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์จำนวน ๒๐ ตารางวา เนื่องจากที่ดินที่ดาดลำเหมืองผ่านเป็นที่สาธารณะมีลักษณะเป็นลำเหมืองเก่า และอยู่ในความดูแลของจำเลยทั้งสอง การดำเนินการก่อสร้าง จึงไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ การก่อสร้างดาดลำเหมืองรุกล้ำที่ดินของโจทก์และโจทก์มีแนวเขตจำนวนเท่าใดยังเป็นปัญหาที่จะต้องมีการรังวัดแนวเขตอย่างเป็นทางการ และยังไม่ได้มีการรังวัดแนวเขตกันแต่อย่างใด อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ต้องว่ากล่าวกันอีกชั้นหนึ่ง จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
อนึ่ง จำเลยทั้งสองให้การโต้แย้งว่าคดีนี้เป็นข้อพิพาทที่โจทก์เป็นผู้เสียหายฟ้องหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นจำเลยขอให้รับผิดร่วมกันในการปฏิบัติหน้าที่หรือกระทำอื่นใดโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ในทางปกครองตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ไม่ใช่ศาลยุติธรรม
ศาลจังหวัดลำปางเห็นว่า องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำโจ้ จำเลยที่ ๑ เป็นราชการส่วนท้องถิ่น มีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีอำนาจหน้าที่จัดให้มีและบำรุงรักษาทางน้ำทางบก อันเป็นการจัดระบบบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนตามมาตรา ๖๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๖ การที่จำเลยทั้งสองดำเนินการตามโครงการพิพาทด้วยการสร้างดาดลำเหมืองเพื่อประโยชน์แก่การเกษตร การอุปโภค การป้องกันอุทกภัย ถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายดังกล่าวในการจัดระบบบริการสาธารณะ ดังนั้น เมื่อก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบกระเทือนสิทธิของโจทก์จึงเป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานทางปกครอง คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลปกครองเชียงใหม่เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่า โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองได้ก่อสร้างดาดลำเหมืองซึ่งสูงกว่าระดับถนนและที่ดินของโจทก์ ไม่มีสะพานข้ามลำเหมืองและขวางกั้นปิดทางเข้าออกที่ดินของโจทก์และที่ดินข้างเคียง ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย อีกทั้งการก่อสร้างดังกล่าวได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ซึ่งโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอม จำเลยทั้งสองโต้แย้งคัดค้านว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ เนื่องจากที่ดินที่ดาดลำเหมืองผ่านเป็นที่สาธารณะมีลักษณะเป็นลำเหมืองเก่า และที่ดินดังกล่าวอยู่ในความดูแลของจำเลยทั้งสอง ดังนั้น ตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยทั้งสองยังมีประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์หรือเป็นที่สาธารณะ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือให้จำเลยกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดได้ตามคำขอ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยชอบ หรือที่ดินพิพาทเป็นลำเหมืองสาธารณะที่อยู่ในความดูแลของจำเลยทั้งสอง แล้วจึงจะพิจารณาได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นละเมิดหรือไม่ จะต้องชดใช้ค่าเสียหายกันเพียงใด และต้องกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งการพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินว่าผู้ใดมีสิทธิดีกว่ากันเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ทั้งนี้ ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๑๐/๒๕๔๙ และที่ ๑๑/๒๕๔๙
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว คดีนี้โจทก์เป็นราษฎรยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลน้ำโจ้ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำโจ้ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การสรุปได้ว่า โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๔๖๕๐ เลขที่ดิน ๕๙๕ ตำบลน้ำโจ้ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสอง อันเนื่องมาจากการก่อสร้างดาดลำเหมืองเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและจัดทำระบบขนส่งน้ำเพื่อการเกษตรตามโครงการก่อสร้างดาดลำเหมือง ตำบลน้ำโจ้ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยทั้งสอง โดยจำเลยที่ ๑ ก่อสร้างดาดลำเหมืองสูงเกินกว่าระดับถนนและที่ดินของโจทก์มาก และขวางกั้นปิดทางเข้าออกที่ดินของโจทก์และเจ้าของที่ดินบริเวณใกล้เคียง ทำให้ได้รับความลำบากในการสัญจร ขนส่ง และเดินทางเข้าออกที่ดิน และการก่อสร้างดังกล่าวรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ โจทก์เห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นไปด้วยความประมาทเลินเล่อ ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย แก้ไขปรับปรุงสร้างสะพานข้ามดาดลำเหมือง เปิดทางเข้าออกที่ดินของโจทก์ และดำเนินการรื้อถอนดาดลำเหมืองในส่วนที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ ส่วนจำเลยทั้งสองให้การว่า การก่อสร้างดาดลำเหมืองได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากเจ้าของที่ดินที่ดาดลำเหมืองผ่าน นายมงคล คำปิ๋ว ซึ่งเป็นผู้ครอบครองแทนโจทก์ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ให้ความยินยอมให้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน โจทก์ไม่เคยโต้แย้งคัดค้านหรือกล่าวอ้างแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ก่อสร้างดาดลำเหมืองตั้งแต่ก่อนก่อสร้างจนกระทั่งการก่อสร้างแล้วเสร็จ และหลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จมีการประชุมร่วมกันเพื่อรับฟังความคิดเห็น สามีโจทก์ยังคงให้ความยินยอมและสมัครใจให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินและขอให้จำเลยทั้งสองแก้ไขปัญหาทางเข้าออกเนื่องจากดาดลำเหมืองสูงซึ่งจำเลยทั้งสองดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ จำเลยทั้งสองไม่ได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง เนื่องจากที่ดินที่ดาดลำเหมืองผ่านเป็นที่สาธารณะ ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นลำเหมืองสาธารณะอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญแล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป ดังนั้น จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่ความ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางทับ ทิศรีชัย โจทก์ องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำโจ้ ที่ ๑ นายปิยะ พินิจผล ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปัญญา ถนอมรอด (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายปัญญา ถนอมรอด) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??
??
??
??
๕