คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2971/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้ามรดกมิได้ทำพินัยกรรมไว้ มรดกของเจ้ามรดกจึงตกได้แก่ทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1620 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1629 เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกและศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลย่อมมีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายในอันที่จะรวบรวมทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปันแก่ทายาทต่อไป ทั้งไม่ปรากฎว่าโจทก์เป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดพิพาทมาก่อนแต่อย่างใด เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองต่างเป็นทายาท การฟ้องคดีของโจทก์จึงเป็นเรื่องขอแบ่งมรดกของเจ้ามรดกโดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอกเช่นนี้ จึงไม่อาจนำพระราชบัญญัติมาตรา 1300 มาใช้กับกรณีตามฟ้องของโจทก์คดีนี้ได้ เจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกคือที่ดินโฉนดพิพาทและที่ดินโฉนดเลขที่2027 เพียง 2 แปลง โดยไม่มีทรัพย์มรดกอื่นใด จำเลยที่ 1ได้จัดการโอนที่ดินโฉนดพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2527 โดยทายาทอื่นบางคนก็ทราบและจำเลยที่ 1 จัดการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 2027เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2530 นำเงินมาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ามรดกและแบ่งเงินที่เหลือให้ทายาทบางคนโดยการขายที่ดินนี้ทายาททุกคนซึ่งรวมทั้งโจทก์ด้วยก็ให้ความยินยอม ดังนี้ถือได้ว่าการครอบครองที่ดินโฉนดพิพาทของจำเลยที่ 2นับแต่ได้รับโอนต่อมาเป็นการครอบครองเพื่อตนมิใช่การครอบครองแทนทายาทอื่น ทั้งมีการแบ่งปันมรดกให้แก่ทายาทและการจัดการมรดกสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2530 ซึ่งถือว่าเป็นวันเริ่มนับอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในการฟ้องขอแบ่งมรดก จำเลยที่ 3 ในฐานะทายาทและเป็นผู้รับโอนที่ดินโฉนดพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 ในเวลาต่อมา จึงอยู่ในฐานะผู้สืบสิทธิจากจำเลยที่ 2 อีกฐานะหนึ่งด้วยย่อมยกอายุความหนึ่งปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754,1755ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2536เป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี ไม่ว่าจะนับแต่วันที่ถือว่าจำเลยที่ 2 ครอบครองเพื่อตนหรือวันที่จัดการมรดกสิ้นสุดลงดังนี้คดีของโจทก์จึงเป็นอันขาดอายุความตามบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้นและแม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะมิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ แต่มูลความแห่งคดีมิอาจแบ่งแยกได้เมื่อจำเลยที่ 3 ยกอายุความขึ้นต่อสู้ ถือว่าจำเลยที่ 1และที่ 2 ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้เช่นกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรของนายจิบ ฤทธิสาร กับจำเลยที่ 1 โจทก์เป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 2102ตำบลบ้านนา (โพลาว) อำเภอมหาราช (นครใหญ่) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา(กรุงเก่า) จำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นน้องร่วมบิดามารดากับโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายจิบ วันที่ 10 มกราคม 2527จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกสมคบกับจำเลยที่ 2 โอนที่ดินแปลงดังกล่าวทั้งแปลงให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่แบ่งให้แก่โจทก์และทายาทอื่น วันที่ 15 กันยายน 2535 จำเลยที่ 2 สมคบกับจำเลยที่ 3โอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวแก่จำเลยที่ 3 เพื่อมิให้โจทก์และทายาทอื่นขอแบ่งมรดกที่ดินแปลงดังกล่าวโดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็รู้อยู่แล้วว่าจะเป็นทางให้โจทก์และทายาทอื่นเสียเปรียบ ขอให้บังคับจำเลยที่ 3แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 2102 ดังกล่าวให้แก่โจทก์ เนื้อที่ 1 ไร่25 ตารางวา หากจำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 3 หากจำเลยที่ 3 ไม่สามารถแบ่งที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ได้ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า นายจีบมีที่ดิน 2 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 2102 และโฉนดเลขที่ 2027 โดยโฉนดเลขที่ 2102ติดภาระหนี้สินที่มีต่อสหกรณ์การเกษตรมหาราช จำกัด โจทก์และทายาทอื่นไม่ยอมไถ่ถอนอ้างว่าไม่มีเงิน โจทก์และทายาทอื่นไม่ได้คัดค้านจำเลยที่ 1 จึงโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ไถ่ถอนเอง ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 2027 นั้น จำเลยที่ 1ได้ขายและแบ่งปันเงินที่ขายได้แก่บรรดาทายาทแล้ว จำเลยที่ 2 มีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะขายที่ดินแปลงดังกล่าวได้ เพราะเป็นของจำเลยที่ 2โดยถูกต้องตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 จดทะเบียนรับซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 2102 ไว้จากจำเลยที่ 2 ในราคา 500,000 บาท โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต ขณะที่จดทะเบียนซื้อขาย ที่ดินแปลงดังกล่าวพ้นจากการเป็นทรัพย์มรดกของนายจิบแล้ว ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ฟ้องเกินระยะเวลา 1 ปี หลังจากจำเลยที่ 1 จัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 เพื่อขอแบ่งมรดกหรือเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 3 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 แบ่งที่ดินโฉนดที่ 2102สารบาญเล่มที่ 22 หน้าที่ 2 ที่ดินระวาง 2 น1ฎ เลข 43 ตำบลโพลาวอำเภอนครใหญ่ แขวงเมืองกรุงเก่า แก่โจทก์ 2 ส่วนใน 21 ส่วน หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย หากไม่สามารถแบ่งที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ก็ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมชำระเงิน 43,619.04 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่านายจิบเจ้ามรดกกับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เจ้ามรดกมีทายาทคือคู่สมรสและบุตรผู้สืบสันดานที่ยังมีชีวิตอยู่รวม 7 คน ได้แก่จำเลยที่ 1โจทก์ จำเลยที่ 3 นายก้านทอง ฤทธิสาร นายแป้งร่ำ ฤทธิสารนายแสวง ฤทธิสาร และจำเลยที่ 2 เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2526 โดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ขณะถึงแก่ความตายเจ้ามรดกมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินมีโฉนด 2 แปลงเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 2027 เนื้อที่ 10 ไร่ 1 งาน 31 ตารางวาและโฉนดพิพาทเลขที่ 2102 เนื้อที่ 7 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวาตามสำเนาภาพถ่ายโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.4 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกเมื่อวันที่16 ธันวาคม 2526 ตามสำเนาคำสั่งเอกสารหมาย จ.3 ต่อมาวันที่10 มกราคม 2527 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2027 ให้แก่ตนเองและโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกในวันเดียวกันครั้นวันที่ 2 มีนาคม 2530จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 2027 ให้แก่ผู้อื่น ตามสำเนาภาพถ่ายโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.3 โดยนำเงินมาทอดกฐินทำบุญให้แก่เจ้ามรดก และต่อมาวันที่ 15 กันยายน 2535 จำเลยที่ 2 จึงโอนขายที่ดินโฉนดพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งที่ดินทั้ง 2 แปลงเป็นมรดกของเจ้ามรดก
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดกหรือฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300และขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดพิพาทกับฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้เจ้ามรดกมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ดังนั้นมรดกของเจ้ามรดกจึงตกได้แก่ทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1620 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1629เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกและศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกแล้วตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2526 ตามสำเนาคำสั่งศาลเอกสารหมาย จ.3 จำเลยที่ 1 ในฐานเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลย่อมมีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายในอันที่จะรวบรวมทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปันแก่ทายาทต่อไป ทั้งไม่ปรากฎว่าโจทก์เป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดพิพาทมาก่อนแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสามต่างเป็นทายาท การฟ้องคดีของโจทก์จึงเป็นเรื่องขอแบ่งมรดกของเจ้ามรดกโดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอกเช่นนี้ จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 มาใช้กับกรณีตามฟ้องของโจทก์คดีนี้ได้ เมื่อปรากฎว่าเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกคือที่ดินโฉนดพิพาทและที่ดินโฉนดเลขที่ 2027 เพียง 2 แปลง โดยไม่มีทรัพย์มรดกอื่นใด จำเลยที่ 1 ได้จัดการโอนที่ดินโฉนดพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2527 โดยทายาทอื่นบางคนก็ทราบและจำเลยที่ 1 จัดการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 2027เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2530 นำเงินมาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ามรดกแบ่งเงินที่เหลือให้ทายาทบางคนโดยการขายที่ดินนี้ทายาททุกคนซึ่งรวมทั้งโจทก์ด้วยก็ให้ความยินยอม ดังนี้ ถือได้ว่าการครอบครองที่ดินโฉนดพิพาทของจำเลยที่ 2 นับแต่ได้รับโอนต่อมาเป็นการครอบครองเพื่อตนมิใช่การครอบครองแทนทายาทอื่น ทั้งมีการแบ่งปันมรดกให้แก่ทายาทและการจัดการมรดกสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2530 ซึ่งถือว่าเป็นวันเริ่มนับอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในการฟ้องขอแบ่งมรดก จำเลยที่ 3 ในฐานะทายาทและเป็นผู้รับโอนที่ดินโฉนดพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 ในเวลาต่อมา จึงอยู่ในฐานะผู้สืบสิทธิจากจำเลยที่ 2 อีกฐานะหนึ่งด้วยย่อมยกอายุความหนึ่งปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754, 1755 ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2536 เป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปีไม่ว่าจะนับแต่วันที่ถือว่าจำเลยที่ 2 ครอบครองเพื่อตนหรือวันที่จัดการมรดกสิ้นสุดลง คดีของโจทก์จึงเป็นอันขาดอายุความตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะมิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ แต่มูลความแห่งคดีมิอาจแบ่งแยกได้เมื่อจำเลยที่ 3ยกอายุความขึ้นต่อสู้ ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้เช่นกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59(1)
พิพากษายืน

Share