แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ที่จะเป็นคู่ความได้นั้นจะต้องเป็นบุคคลตามที่กล่าวไว้ในป.วิ.พ.มาตรา 1 (11) และคำว่าบุคคลนั้นได้แก่บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลตามป.พ.พ. สำหรับนิติบุคคลนั้นได้บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 65 แล้วว่าจะมีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจแห่ง ป.พ.พ.หรือกฎหมายอื่น
โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่า ด่านศุลกากรจังหวัด ส.โจทก์ที่ 2เป็นหน่วยงานของกรมศุลกากรโจทก์ที่ 1 และไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายกำหนดให้โจทก์ที่ 2 เป็นนิติบุคคล ดังนี้ โจทก์ที่ 2 จึงเป็นเพียงส่วนราชการของโจทก์ที่ 1 ไม่ใช่บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล โจทก์ที่ 2 จึงเข้าเป็นคู่ความฟ้องคดีนี้ไม่ได้ โจทก์ที่ 2ไม่มีอำนาจฟ้อง
สัญญาประกันฉบับพิพาท ข้อ 1 มีข้อความว่า จำเลยที่ 1 สัญญารับประกันภัยรถยนต์ ตามบัญชีรายชื่อท้ายสัญญานี้ และสัญญาว่าจะส่งรถยนต์ให้ตามกำหนดนัดของโจทก์ และในระหว่างประกันนี้ข้าพเจ้าหรือผู้ต้องหาจะปฏิบัติตามนัดหรือหนังสือเรียกของพนักงานของโจทก์ที่ 1 มิฉะนั้นข้าพเจ้ายอมรับผิดชอบใช้เงินเป็นจำนวน 280,000 บาท ข้อความตามสัญญาดังกล่าว เป็นการตกลงจะชำระเงิน280,000 บาท ให้โจทก์ที่ 1 หากจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถยนต์ให้โจทก์ที่ 1 ดังนี้เงินจำนวน 280,000 บาท ตามข้อสัญญาจึงเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ.มาตรา 379และเมื่อศาลเห็นว่าเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 383