แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนังสือมอบอำนาจมีข้อความระบุว่าบริษัทโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านเป็นบริษัทของรัฐบาลสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน อ.ผู้ลงนามในหนังสือมอบอำนาจได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ตั้งแต่พ.ศ.2528กระทรวงการต่างประเทศของประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านได้รับรองหนังสือมอบอำนาจไว้และได้มีการรับรองโดยสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านด้วยจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นประการอื่นแม้หนังสือมอบอำนาจจะได้ทำในเมืองต่างประเทศและไม่ได้ให้กงสุลสยามเป็นพยานก็ตามแต่กรณีไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าหนังสือมอบอำนาจนั้นไม่ใช่หนังสือมอบอำนาจอันแท้จริงการยื่นหนังสือมอบอำนาจนั้นจึงไม่ต้องปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา47วรรคสามแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแม้ว่าตามหนังสือราชกิจจานุเบกษาของประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประกาศว่าอ.เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์นั้นลงวันที่6มิถุนายน2535ภายหลังที่บุคคลดังกล่าวได้ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจก็ตามแต่หนังสือราชกิจจานุเบกษาดังกล่าวอ้างถึงการประชุมของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่15ธันวาคม2534ซึ่งแต่งตั้งกรรมการบริษัทโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งต่อไปเป็นเวลา3ปีอ.ก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับแต่งตั้งมิได้หมายความว่าก่อนหน้านี้อ.มิได้เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์เพราะกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านก็ได้ตรวจลงตรารับรองลายมือชื่อกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ที่ลงไว้ท้ายหนังสือมอบอำนาจว่าเป็นลายมือชื่อของอ. ก็ตาม คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงมูลกรณีที่ได้มีการทำสัญญาดังกล่าวระหว่างโจทก์กับจำเลยมาด้วยว่าจำเลยเป็นหนี้ค่าเสียหายที่เรือของโจทก์ต้องเสียเวลาจอดรอจึงได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความขึ้นโดยโจทก์ยอมให้จำเลยผ่อนชำระหนี้เป็นงวดๆภายในระยะเวลาที่กำหนดจำเลยชำระหนี้ให้โจทก์เพียง2งวดแล้วผิดนัดไม่ชำระอีกจึงขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ดังกล่าวทั้งได้มีการแนบสำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับดังกล่าวมาท้ายคำฟ้องด้วยการที่สัญญาดังกล่าวกระทำกันในต่างประเทศจึงต้องใช้กฎหมายประเทศใดบังคับหรือไม่อย่างไรหาใช่ข้อที่โจทก์จำเป็นจะต้องบรรยายมาในคำฟ้องด้วยไม่เพราะหากจำต้องใช้กฎหมายต่างประเทศปรับแก่คดีก็เป็นข้อเท็จจริงที่อาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณาฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา172วรรคสองแล้วหาเคลือบคลุมไม่ จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจดทะเบียนในประเทศไทยมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานครแม้สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยจะทำขึ้นในต่างประเทศและจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวโจทก์ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดที่จดทะเบียนในต่างประเทศย่อมมีอำนาจฟ้องที่ศาลแพ่งอันเป็นศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา4(1) จำเลยได้ขายข้าวสารให้แก่บรรษัทการค้าของรัฐบาลสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านในราคาเอฟ.โอ.บี. โดยผู้ซื้อเป็นผู้หาเรือมาบรรทุกข้าวสารจากกรุงเทพมหานครบรรษัทผู้ซื้อข้าวสารจากจำเลยได้ให้โจทก์นำเรือมาบรรทุกข้าวสารแต่จำเลยส่งข้าวสารลงเรือล่าช้าจึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าที่เรือต้องเสียเวลาจอดรอแก่โจทก์โจทก์กับจำเลยจึงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันดังนั้นสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวมีคู่สัญญาเพียง2ฝ่ายคือโจทก์และจำเลยมิได้มีเงื่อนไขว่าจำเลยจะชำระหนี้ตามสัญญาให้ก็ต่อเมื่อบรรษัทการค้าของรัฐบาลสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านสั่งซื้อข้าวสารต่อไปจากจำเลยแล้วหักราคาซื้อขายชำระแก่โจทก์แต่อย่างใดสำหรับข้อความในสัญญาที่ว่าสัญญานี้ให้สมบูรณ์จนถึงวันที่30กันยายน2533นั้นเมื่อพิเคราะห์ประกอบถึงข้อความในสัญญาและพฤติการณ์ที่คู่กรณีปฏิบัติต่อกันโดยฝ่ายจำเลยได้มีการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญานั้นแล้ว2ครั้งมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าเพราะทางฝ่ายโจทก์ให้โอกาสจำเลยขยายเวลาเพื่อชำระหนี้รายนี้แก่โจทก์ได้จนถึงวันดังกล่าวจำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินที่ยังค้างชำระตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน โจทก์มอบอำนาจให้นางเพทาย จงวิลาส ฟ้องและดำเนินคดีแทน ส่วนจำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์เพื่อระงับข้อพิพาท เนื่องจากจำเลยว่าจ้างโจทก์บรรทุกข้าวสารจากกรุงเทพมหานครไปยังต่างประเทศโดยเรือเดินทะเล3 ลำ ซึ่งจำเลยต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าเสียเวลาจอดเรือรอโดยจำเลยยอมชำระหนี้ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นเงิน 1,208,750ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่โจทก์ โดยมีวิธีการชำระเงินดังนี้ (1)จำเลยยอมให้บรรษัทการค้าของรัฐบาลสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านจ่ายเงินที่หักไว้จากเล็ตเตอร์ออฟเครดิตให้แก่โจทก์ สาขาลอนดอนจำนวน 400,000 ดอลลาร์สหรัฐ (2) ส่วนที่เหลืออีกจำนวน808,750 ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยตกลงจะชำระให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2532 จำนวน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2533 จำนวน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2533 จำนวน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ และภายในวันที่ 30 กันยายน 2533 จำนวน 208,750 ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จำเลยได้ชำระเงินแก่โจทก์ 2 ครั้งเท่านั้น ครั้งแรกบรรษัทการค้าของรัฐบาลสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านชำระเงินที่หักไว้จากเล็ตเตอร์ออฟเครดิตแก่โจทก์จำนวน400,000 ดอลลาร์สหรัฐ ครั้งที่ 2 จำเลยชำระให้แก่โจทก์อีกจำนวน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนั้นจำเลยไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์อีกเลย คงค้างอยู่จำนวน 608,750 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดแต่ละครั้งถึงวันฟ้องรวมเป็นเงินจำนวน 104,086 ดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องทั้งสิ้น 712,836 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ18,662,046.08 บาท ทั้งนี้ตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของธนาคารพาณิชย์ในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 26.18 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 712,836ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 18,662,046.08 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 608,750 ดอลลาร์สหรัฐนับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โดยโจทก์มิได้แนบหลักฐานที่แสดงว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลและมิได้บรรยายให้เห็นว่าผู้ลงชื่อมอบอำนาจให้นางเพทาย จงวิลาส ฟ้องและดำเนินคดีแทนเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์หรือไม่ และหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องทำขึ้นในต่างประเทศโดยมิได้ให้กงสุลสยามเป็นพยานนายเอ็ม.เอช.ดัจจมาร์ มิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเนื่องจากโจทก์มิได้อ้างสัญญาที่จำเลยว่าจ้างให้โจทก์บรรทุกข้าวสาร มิได้บรรยายว่าโจทก์เกี่ยวพันกับเรือทั้ง 3 ลำ อย่างไร และไม่บรรยายฟ้องกล่าวอ้างถึงกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะนำมาใช้ในการพิจารณาคดีนี้เนื่องจากสัญญาประนีประนอมยอมความตามฟ้องทำขึ้นที่ประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน จำเลยไม่เคยว่าจ้างโจทก์บรรทุกข้าวสารจากกรุงเทพมหานครไปยังต่างประเทศบรรษัทการค้าของรัฐบาลสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน (ชื่อย่อจี.ที.ซี.เตหะราน) เป็นผู้ทำสัญญาซื้อข้าวสารกับจำเลยโดยเป็นการซื้อขายแบบ เอฟ.โอ.บี. ซึ่งผู้ซื้อจะเป็นผู้ว่าจ้างมารับบรรทุกข้าวสารด้วยค่าใช้จ่ายทั้งหมดของผู้ซื้อเองจำเลยซึ่งเป็นผู้ขายมิได้เกี่ยวข้องกับการว่าจ้างเรือหรือเช่าเรือดังกล่าวหากมีค่าเรือเสียเวลาจอดรอเกิดขึ้น โจทก์ก็จะต้องไปเรียกร้องหรือเช่าหรือดังกล่าวหากมีค่าเรือเสียเวลาจอดรอเกิดขึ้น โจทก์ก็จะต้องไปเรียกร้องเอาจากบรรษัทดังกล่าว บรรษัทดังกล่าวก็จะไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยตามความสัมพันธ์ในฐานะผู้ซื้อกับผู้ขายอีกทอดหนึ่ง สัญญาประนีประนอมยอมความตามฟ้องทำขึ้น 3 ฝ่าย ระหว่างโจทก์กับจำเลยและบรรษัทดังกล่าวโดยจุดประสงค์แท้จริงแล้วบรรษัทดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ชำระเงินค่าเสียเวลาเรือจอดรอสำหรับเรือทั้ง 3 ลำ ตามฟ้องให้แก่โจทก์เองโดยตรง แต่มีข้อแม้ว่าต้องอยู่ในระหว่างเวลาที่บรรษัทดังกล่าวมีสัญญาซื้อข้าวสารจากจำเลยเท่านั้น ถ้าบรรษัทดังกล่าวไม่ซื้อข้าวสารจากจำเลยอีก ก็จะไม่มีการหักเงินชดใช้แก่โจทก์ตามข้อตกลง และเป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปฟ้องร้องเอาแก่บรรษัทดังกล่าวเอง หลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว บรรษัทดังกล่าวได้ซื้อข้าวสารจากจำเลยเพียงครั้งเดียว และบรรษัทดังกล่าวก็ได้หักเงินค่าซื้อขายทางเล็ตเตอร์ออฟเครดิตชำระให้โจทก์แล้ว หลังจากนั้นบรรษัทดังกล่าวก็มิได้เปิดเล็ตเตอร์ออฟเครดิตสั่งซื้อข้าวสารจากจำเลยอีก และสัญญาดังกล่าวนี้ก็มีผลถึงวันที่ 30 กันยายน 2533เท่านั้น จึงหมดสภาพบังคับต่อกันแล้ว จำเลยเป็นอันหลุดพ้นจากข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวนอกจากนั้นจำเลยยังมีข้อตกลงกับบรรษัทดังกล่าวและโจทก์ด้วยว่า หากเกิดการฟ้องร้องกัน จะต้องฟ้องร้องต่อศาลที่กรุงเตหะรานและให้ใช้กฎหมายของประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านซึ่งห้ามเรียกดอกเบี้ยบังคับแก่คดีโจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี ตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านคดีจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 712,836ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน608,750 ดอลลาร์สหรัฐ นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยคิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครในวันที่ 31 สิงหาคม 2537อันเป็นวันที่พิพากษา ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนนี้ไม่มี ก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่าก่อนวันพิพากษา ทั้งนี้ต้นเงินคิดถึงวันฟ้องไม่เกิน 18,662,046.08 บาท
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์เป็นบริษัทตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านจำเลยจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จำเลยได้ขายข้าวสารให้แก่บรรษัทการค้าของรัฐบาลสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านในราคาเอฟ.โอ.บี โดยผู้ซื้อเป็นผู้หาเรือมาบรรทุกข้าวสารจากกรุงเทพมหานครไปประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านบรรษัทผู้ซื้อข้าวสารจากจำเลยได้ให้โจทก์นำเรือมาบรรทุกข้าวสารไปจากกรุงเทพมหานคร จำเลยส่งข้าวสารลงเรือล่าช้าและมีหนี้ที่จะต้องชำระค่าที่เรือต้องเสียเวลาจอดรอแก่โจทก์ โจทก์กับจำเลยจึงได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเพื่อระงับข้อพิพาทในหนี้ค่าที่เรือต้องเสียเวลาจอดรอดังกล่าว ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3จำเลยได้ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้แก่โจทก์2 ครั้ง และผิดนัดไม่ชำระ คงค้างชำระต้นเงินและดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 712,836 ดอลลาร์สหรัฐ
มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลและได้มอบอำนาจให้นางเพทาย จงวิลาส ฟ้องคดีนี้โดยชอบหรือไม่โจทก์นำสืบในประเด็นนี้โดยมีนายมูตาฟาร์ เฮ็มมาติ ซึ่งเป็นพนักงานและทนายความของโจทก์มีถิ่นพำนักในกรุงเตหะราน ประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน มาเบิกความประกอบเอกสารคือข้อบังคับของบริษัทโจทก์เอกสารหมาย จ.22 และหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมายจ.1 ได้ความว่า บริษัทโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน เป็นบริษัทของรัฐบาลสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน นายเอ็ม.เอช.ดัจมาร์ผู้ลงนามในหนังสือมอบอำนาจได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ตั้งแต่ พ.ศ. 2528 กระทรวงการต่างประเทศของประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านได้รับรองเอกสารหนังสือมอบอำนาจฉบับนี้ไว้ด้วย และได้มีการรับรองโดยสถานเอกอัครราชฑูตไทย ประจำประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านด้วย ส่วนจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นประการอื่น แม้หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 จะได้ทำในเมืองต่างประเทศและไม่ได้ให้กงศุลสยามเป็นพยานดังฎีกาของจำเลย แต่กรณีไม่มีเหตุดันควรสงสัยว่าหนังสือมอบอำนาจนั้นจะไม่ใช่หนังสือมอบอำนาจอันแท้จริงการยื่นหนังสือมอบอำนาจนั้นจึงไม่ต้องปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 47 วรรคสามแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลและได้มอบอำนาจให้นางเพทาย จงวิลาส ฟ้องคดีนี้โดยชอบแล้ว ที่จำเลยโต้แย้งในฎีกาว่า ตามหนังสือราชกิจจานุเบกษาของประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน เอกสารหมาย จ.20ซึ่งประกาศว่า นายเอ็ม.เอช.ดัจมาร์ เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์นั้น ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2535 ภายหลังที่บุคคลดังกล่าวได้ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 นั้น เห็นว่าหนังสือราชกิจจานุเบกษาดังกล่าวอ้างถึงการประชุมของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2534 ซึ่งแต่งตั้งกรรมการบริษัทโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งต่อไปเป็นเวลา 3 ปี นายเอ็ม.เอช.ดัจมาร์ก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับแต่งตั้ง ซึ่งมิได้หมายความว่าก่อนหน้านั้นเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ เพราะกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านก็ได้ตรวจลงตรารับรองลายมือชื่อกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ที่ลงไว้ท้ายหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 ว่าเป็นลายมือชื่อของนายเอ็ม.เอช.ดัจมาร์
มีปัญหาต่อไปว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าสัญญาประนีประนอมยอมความท้ายฟ้องทำขึ้นที่ประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ซึ่งต้องใช้กฎหมายภายในของประเทศดังกล่าวบังคับในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญหรือผลแห่งสัญญานั้น โจทก์จึงต้องบรรยายถึงสาระหรือบทบัญญัติกฎหมายของประเทศนั้นมาในคำฟ้องด้วย เมื่อโจทก์มิได้กล่าวอ้างมาในคำฟ้อง จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงมูลกรณีที่ได้มีการทำสัญญาดังกล่าวระหว่างโจทก์กับจำเลยมาด้วยว่า จำเลยเป็นหนี้ค่าเสียหายที่เรือของโจทก์ต้องเสียเวลาจอดรอจำนวน 3 ลำ เป็นเงิน1,208,750 ดอลลาร์สหรัฐ จึงได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความขึ้นโดยโจทก์ยอมให้จำเลยผ่อนชำระหนี้เป็นงวด ๆ ภายในระยะเวลาที่กำหนดจำเลยชำระหนี้ให้โจทก์เพียง 2 งวด แล้วผิดนัดไม่ชำระอีกจึงขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ดังกล่าว ทั้งได้มีการแนบสำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับดังกล่าวมาท้ายคำฟ้องอีกด้วยการที่สัญญาดังกล่าวกระทำกันในต่างประเทศ จะต้องใช้กฎหมายประเทศใดบังคับหรือไม่อย่างไร หาใช่ข้อที่โจทก์จำเป็นจะต้องบรรยายมาในคำฟ้องด้วยไม่ เพราะหากจำต้องใช้กฎหมายต่างประเทศปรับแก่คดี ก็เป็นข้อเท็จจริงที่อาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์ฟ้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172วรรคสองแล้ว หาเคลือบคลุมไม่
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ศาลแพ่งหรือไม่ เห็นว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจดทะเบียนในประเทศไทย มีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานครแม้สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยจะทำขึ้นในต่างประเทศ และจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดที่จดทะเบียนในต่างประเทศย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ศาลแพ่งอันเป็นศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1)
ปัญหาข้อสุดท้ายที่ต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยจะต้องรับผิดใช้เงินให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยจะชำระเงินให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็ต่อเมื่อบรรษัทการค้าของรัฐบาลสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านสั่งซื้อข้าวสารต่อไปจากจำเลยแล้วหักราคาซื้อขายชำระแก่โจทก์ เมื่อไม่มีการสั่งซื้อข้าวสารและพ้นกำหนดวันที่ 30 กันยายน 2533แล้ว สัญญานั้นก็สิ้นผลบังคับ โจทก์ต้องไปเรียกร้องเอาค่าเสียเวลาเรือจอดรอจากบรรษัทการค้าของรัฐบาลสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านที่ซื้อข้าวสารจากจำเลยนั้น เห็นว่า ในสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.3 หาได้มีข้อความกำหนดเป็นเงื่อนไขไว้ดังที่จำเลยอ้างไม่ หากมีเงื่อนไขข้อตกลงดังกล่าวระหว่างโจทก์กับจำเลยและบรรษัทการค้าของรัฐบาลสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านจริงคู่กรณีก็ต้องระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ ทั้งข้อความในสัญญาได้กล่าวไว้ชัดว่า สัญญาดังกล่าวทำขึ้นระหว่างบริษัทโจทก์และบริษัทจำเลย ตามที่บริษัทโจทก์มีสิทธิเรียกร้องต่อบริษัทจำเลยสำหรับค่าเสียเวลาเรือ 3 ลำ ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการบรรทุกข้าวสารลงเรือในประเทศไทย และโดยที่บริษัทจำเลยมีความประสงค์จะชำระหนี้และระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวข้างต้นคู่กรณีทั้งสองฝ่ายจึงตกลงกันกำหนดการที่จำเลยต้องชำระเงินจำนวน 1,208,750 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นข้อ ๆ ดังที่ปรากฏในสัญญาเห็นได้ว่าสัญญาดังกล่าวมีคู่สัญญาเพียง 2 ฝ่าย คือโจทก์และจำเลยและมิได้มีเงื่อนไขว่าจำเลยจะชำระหนี้ตามสัญญาให้ก็ต่อเมื่อบรรษัทการค้าของรัฐบาลสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านสั่งซื้อข้าวสารจากจำเลยแต่อย่างใด สำหรับข้อความในสัญญาที่ว่าสัญญานี้ให้สมบูรณ์จนถึงวันที่ 31 กันยายน 2533 (ที่ถูกเป็นวันที่ 30กันยายน 2533) นั้นนายมูตาฟาร์ เฮ้มมาติ พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้ร่างและลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้เบิกความว่าเหตุที่สัญญาระบุไว้เช่นนั้น หมายความว่า ทางฝ่ายโจทก์ให้โอกาสจำเลยขยายเวลาเพื่อชำระหนี้รายนี้แก่โจทก์ได้จนถึงวันดังกล่าวซึ่งเมื่อพิเคราะห์ประกอบถึงข้อความในสัญญาและพฤติการณ์ที่คู่กรณีปฏิบัติต่อกันโดยฝ่ายจำเลยได้มีการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญานั้นแล้ว 2 ครั้ง เชื่อว่าเป็นดังที่นายมูตาฟาร์เอ็มมาติ เบิกความข้างต้น ดังนั้น จำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินที่ยังค้างชำระตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
พิพากษายืน